มูลค่าของเงินเหรียญสหรัฐ (1)

ค่าของเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นเรื่องที่มีการถามถึงบ่อยครั้ง โดยจะคาดหวังว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจะมีคำตอบให้ แต่ในความเป็นจริงนั้น
ไม่มีใครสามารถทำนายได้ถูกต้องว่า ค่าของเงินและอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นเท่าใด กล่าวคืออาจเดาถูกในบางครั้ง แต่จะไม่มีใครสามารถทำนายได้ถูกต้องทุกครั้งไป
อย่างไรก็ดี การประเมินค่าของเงินหรือแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาวนั้น สามารถทำได้ เช่น ในช่วง 2557-2562 ที่อัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง
ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่า เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐ
เนื่องจากเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลก ดังนั้น การประเมินแนวโน้มของค่าเงินเหรียญสหรัฐในระยะยาวจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
โดยเฉพาะการที่จะต้องประเมินพร้อมกันไปด้วยว่านโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งผลเช่นใดต่อค่าเงินเหรียญสหรัฐ
การประเมินค่าเงินเหรียญสหรัฐนั้น จะต้องเริ่มต้นโดยกำหนดว่าจะเปรียบเทียบเงินสหรัฐกับเงินสกุลใด คำตอบของผมคือ ควรจะเปรียบเทียบกับทองคำ ซึ่งได้รับความเชื่อถือมาเป็นเวลานับพันปี
ทองคำมีประโยชน์ในเชิงของการใช้เป็นเครื่องประดับและเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าบางชนิด แต่ที่สำคัญคือ มีปริมาณที่จำกัดจะเพิ่มขึ้นกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้อีกได้ไม่มาก
ซึ่งเป็นการประกันว่า “มีวินัยทางการเงิน” กล่าวคือการมีปริมาณที่จำกัด น่าจะทำให้ราคาปรับลดลงได้ไม่มาก
กล่าวคือ ผมจะขอประเมินค่าเงินเหรียญสหรัฐโดยประเมินจากราคาของทองคำ เมื่อคิดเป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐ
ซึ่งหากใช้มาตรฐานนี้ก็จะต้องยอมรับว่าเงินเหรียญสหรัฐนั้นเสื่อมค่าลงอย่างมาก เช่น ราคาของทองคำในปี 2468 (100 ปีที่แล้ว) เท่ากับ 20.67 เหรียญ เทียบกับวันที่ 27 มี.ค.2568 ที่ผ่านมาซึ่งราคาทองคำเท่ากับ 3,086 เหรียญ
กล่าวคือในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา การถือทองคำเอาไว้จะให้ผลตอบแทน 5.13% ต่อปี เทียบกับการลงทุนในหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี
เพราะในกรณีของหุ้นนั้น ผลตอบแทนเกิดจากการเป็นเจ้าของบริษัทที่ทำธุรกิจและมีกำไรตอบแทน ซึ่งแตกต่างจากทองคำที่เป็นเพียงวัตถุที่มีค่า แต่ไม่สามารถสร้างกำไรจากผลประกอบการได้
แต่ที่น่าสนใจคือ การคำนวณมูลค่าของทองคำ เมื่อตัดเงินเฟ้อออกไปแล้ว กล่าวคือการนำเอากำลังซื้อของเงินเหรียญสหรัฐในปี 2568 มาคำนวณราคาทองคำตั้งแต่ปี 2458 (ภาพประกอบ)
จะเห็นได้ว่าเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐปัจจุบันนั้น เท่ากับ 614 เหรียญต่อ 1 ออนซ์ แต่ในปี 2458 นั้น ทองคำ-ซื้อขายกันที่ราคา 20.67 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ออนซ์ เป็นต้น
การเอาข้อมูลข้างต้นมานำเสนอนั้น เป็นประโยชน์ในเชิงของการทำให้เห็นว่า ราคาทองคำนั้นผันผวนมากหรือหากมองอีกด้านหนึ่งคือ ราคา (ค่า) เงินเหรียญสหรัฐนั้นผันผวนอย่างมาก
จะเห็นได้ว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 (2457-2461 และ 2482-2488) นั้น เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าในช่วงที่มีสงคราม และต่อมา เมื่สงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จบลง เช่น จากเดือนมิ.ย.2488 ราคาทองคำก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งปี 2513 ซึ่งช่วงดังกล่าว (2488-2513) ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐเป็นเจ้าโลกอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในเชิงของการเป็นมหาอำนาจด้านการเงิน ด้านเศรษฐกิจ และด้านการทหาร ทำให้ทุกๆ ประเทศมีความต้องการใช้เงินและเก็บเงินเหรียญสหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
ทั้งๆ ที่ในช่วงดังกล่าวสหรัฐพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเป็นจำนวนมาก และในที่สุดก็เริ่มที่จะควบคุมเงินเฟ้อภายในประเทศไม่ได้
แต่ต่อมา ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐก็เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น ทั้งนี้ ขอตอกย้ำว่าเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐพิมพ์เงินเหรียญสหรัฐออกมามากเกินความต้องการเงินอย่างมาก
เห็นได้จากการที่เงินเฟ้อที่สหรัฐนั้นปรับตัวขึ้นสูงสุดในปี 2523 ที่ 13.5% แต่หลังจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐก็สามารถปราบเงินเฟ้อได้ โดยการปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นถึง 20%
ซึ่งต่อมาได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงอย่างมากในช่วง 2523-2527
หลังจากที่สหรัฐรักษาวินัยทางเงินและปราบเงินเฟ้อได้อีกครั้ง เงินดอลลาร์ก็ได้แข็งค่าขึ้น กล่าวคือราคาทองคำลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจาก 2,780 เหรียญในเดือน ม.ค.2523 มาเหลือเพียง 475 เหรียญในเดือน ก.พ.2544
กล่าวคือ เมื่อสหรัฐมีวินัยทางการเงินและสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำได้ ก็ทำให้การถือทองคำไม่ได้เป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดแต่อย่างไร.