รูปแบบธุรกิจกับความสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม
การดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่จะประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ส่วน ได้แก่ โครงสร้างการจัดรูปแบบขององค์กรธุรกิจ กับ กระบวนการบริหารจัดการของธุรกิจ
ทั้งนี้ เนื่องจากความสัมพันธ์ของโครงสร้างและกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจ จะมีส่วนสำคัญต่อการปรับตัวขององค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกของธุรกิจ
ในมุมมองเชิงกว้าง โครงสร้างและกระบวนการบริหารจัดการของธุรกิจ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจที่มีโครงสร้างและการบริหารจัดการแบบ “เครื่องจักรกล” และ ธุรกิจที่มีโครงสร้างและการบริหารจัดการแบบ “สิ่งมีชีวิต”
สะท้อนให้เห็นภาพที่แตกต่างกันของธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้ตัวเองต้อง “สูญพันธุ์” ไป เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
กับธุรกิจที่มีแบบแผนและวิธีการทำงานที่แน่นอนรัดกุม สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยไม่สนใจว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็จะสามารถฝ่าฟันและเอาชนะความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอกไปได้ ในลักษณะของ “เครื่องจักรทรงพลัง”
ธุรกิจทั้ง 2 ประเภท ต่างสามารถปรับตัวเองเข้าสู่การเป็นธุรกิจนวัตกรรม หรือ องค์กรนวัตกรรม ได้ หากผู้บริการสูงสุดและผู้บริหารระดับสูง มีความเข้าใจถึงธรรมชาติและความสัมพันธ์ของโครงสร้างและกระบวนการทำงาน ภายในของธุรกิจหรือองค์กรของตนเอง
ลองสังเกตจากสถานการณ์ตัวอย่าง ต่อไปนี้
โครงสร้างและการบริหารแบบ “โครงการ”
ส่งมอบผลิตภัณฑ์ในลักษณะเป็นงานชิ้นเดียว เสร็จแล้วเสร็จเลย อาจมีการพ่วงบริการหลังการขายตามมา เช่น งานก่อสร้าง งานเขียนโปรแกรมเฉพาะ โดยธุรกิจประเภทนี้ มักจะมีวิธีการทำงานที่เป็นรูปแบบมาตรฐานตายตัว แต่สามารถปรับเปลี่ยนไปเฉพาะกับปัญหา “หน้างาน” ตามความสามารถเฉพาะตัวของผู้อยู่หน้างาน การสร้างสรรค์นวัตกรรมในธุรกิจประเภทนี้ ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างทีมงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้ชำนาญการในแต่ละด้าน
โครงสร้างและการบริหารแบบ “รวมศูนย์” ที่มีแบบแผนการทำงานเป็นมาตรฐาน
จุดแข็งของรูปแบบนี้คือ การดำเนินธุรกิจจะมีความเสถียรสูง พนักงานมีความแม่นยำในการทำงานที่ทำอยู่เป็นประจำ นวัตกรรมในธุรกิจจะสร้างขึ้นได้จากการใช้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาช่วยในการศึกษาและให้คำแนะนำในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม
โครงสร้างและการบริหารแบบ “รวมศูนย์” แต่มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง
การกระจายอำนาจในลักษณะนี้ ก็คือ การให้อำนาจและความเป็นอิสระแก่หน่วยงานหรือฝ่ายต่างๆ ในการตัดสินใจดำเนินงาน แก้ไข หรือ ปรับปรุงวิธีการทำงานในหน่วยงานของตนเอง โดยไม่ฝ่าฝืนนโยบายหลักที่มอบหนายมาจากส่วนกลาง องค์กรหรือธุรกิจที่อยู่ในโครงสร้างแบบนี้ จะต้องสร้างหน่วยงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมภายใต้ส่วนกลาง แล้วถ่ายทอดต่อให้กับหน่วยงาน ความสามารถเฉพาะตัวในหน่วยงาน จะทำให้สามารถผลักดันผลงานนวัตกรรมออกสู่ภายนอกหรือออกสู่ตลาดได้สำเร็จ
โครงสร้างและการบริหารแบบ “อิสระ”
เป็นลักษณะของธุรกิจหรือองค์กรขนาดเล็ก ในรูปแบบสตาร์ทอัพ การดำเนินงานภายใจมีความยืดหยุ่นสูง แต่มักจะขึ้นกับการตัดสินใจของผู้บริหารสูงสุดเพียงคนเดียว ทำให้เกิดความคล่องตัวต่อการปรับเปลี่ยน เกิดความก้าวหน้าในผลงานได้รวดเร็วและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่มีจุดอ่อนคือ โครงสร้างแบบนี้มักจะใช้ได้ในเวลาระยะใดระยะหนึ่ง ส่วนใหญ่ในช่วงเริ่มต้นสร้างธุรกิจใหม่ เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จเติบโตขึ้นในระดับหนึ่ง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างและการบริหาร ธุรกิจก็จะไม่ยั่งยืน ความมุ่งมั่นและการทุ่มเทพลังในการทำงานของบุคลากร ก็จะลดลง
จะเห็นได้ว่า ในการพัฒนาองค์กรหรือธุรกิจไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม ผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนดูว่า โครงสร้างและการบริหารของบริษัทอยู่ในรูปแบบใด บุคลากรที่ทำงานมีพฤติกรรม ทัศนคติ และความมุ่งมั่นในการทำงาน ในระดับใด
ทั้งรูปแบบโครงสร้าง และกระบวนวิธีในการดำเนินงาน จะมีผลต่อศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือผลักดันให้องค์กรหรือธุรกิจ เปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรม” ได้ประสบความสำเร็จ