การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับบทบาทที่เปลี่ยนไปของกรรมการตรวจสอบ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับบทบาทที่เปลี่ยนไปของกรรมการตรวจสอบ

ความคาดหวังในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่มีมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องหาแนวทางรายงานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท ที่มีหน้าที่กำกับให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และคุณภาพของข้อมูล

ประเด็นที่สำคัญ คือการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเทศไทย กำหนดให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแบบ 56-1 One Report ซึ่งมุ่งให้บริษัทจดทะเบียนรายงานตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม และส่งเสริมให้มีการสอบทานข้อมูลดังกล่าวโดยผู้สอบทานภายนอก ในระดับสากล มีการปรับใช้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบของ Task Force on Climate Related Disclosure (TCFD) ในหลายประเทศ

คณะกรรมการตรวจสอบจึงมีบทบาทสำคัญการกำกับดูแลบริหารความเสี่ยงและการตรวจสอบภายใน กระบวนการจัดทำรายงาน และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่อาจยังไม่มีความพร้อมดังกล่าว

 

จากงานศึกษาของดีลอยท์ในปี 2564 เพื่อสำรวจความพร้อมของคณะกรรมการตรวจสอบทั่วโลกในบทบาทด้านการตรวจสอบ ควบคุม และบริหารจัดการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสำรวจคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทจำกัด 353 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก พบว่ากรรมการตรวจสอบส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมมากพอ และมองว่าบริษัทไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตอันใกล้

ในมุมมองต่อบริษัท 42% เห็นว่าบริษัทออกมาตรการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศล่าช้า และไม่มีประสิทธิภาพ โดย 65% เห็นว่าบริษัทไม่มีกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน และไม่กำหนดให้ผู้บริหารมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการเพื่อรับมือปัญหาสภาพอากาศ

ในด้านความสามารถของคณะกรรมการตรวจสอบ ถึง 50% ยอมรับว่าตนเองไม่มีข้อมูลเพียงพอ ขาดความเข้าใจและยังไม่มีศักยภาพในการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดด้านการเปิดเผยข้อมูลอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน (46%) และมาตรฐานการรายงานที่มีหลากหลายไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (60%) และ 58% เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแทบไม่เคยเป็นประเด็นหารือในวาระการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบ

ในด้านการเปิดเผยข้อมูล กรรมการตรวจสอบกว่าครึ่งเห็นว่า คณะกรรมการบริษัทส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาคณะผู้บริหารของบริษัทหรือผู้เชี่ยวชาญภายนอก เพื่อประเมินผลกระทบและความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศ นอกจากนี้ 70% เห็นว่าบริษัทยังไม่มีกระบวนการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพราะเข้าใจว่าความเสี่ยงในประเด็นนี้ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท

ข้อสังเกตนี้ ทำให้คณะกรรมการตรวจสอบจำเป็นต้องปรับบทบาทหน้าที่ใน 4 มิติหลัก ดังนี้

  1. ด้านการรายงานและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท (corporate reporting) ต้องเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย กระบวนการ และแนวทางการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนขององค์กร รวมถึงแนวทางการวัดผลและการเปิดเผยข้อมูล โดยต้องเข้าใจพันธกิจ หรือเป้าหมายขององค์กร และต้องพิจารณาข้อมูลอื่นที่นอกจากข้อมูลทางการเงิน คณะกรรมการจะมีหน้าที่ทบทวนระบบการจัดเก็บข้อมูลให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
  1. ด้านการควบคุมความเสี่ยง และการควบคุมภายใน (risk and internal control) ติดตามว่าบริษัทสามารถระบุประเด็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risks) และความเสี่ยงเปลี่ยนผ่าน (transition risks) เพื่อระบุความเสี่ยง การบริหาร และการควบคุมภายในเพื่อติดตามผลความคืบหน้าของเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ โดยมีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงและโอกาสในระดับกลยุทธ์ขององค์กร
  1. การควบคุม ตรวจสอบ และให้ความเชื่อมั่นข้อมูลภายในองค์กร (internal assurance) โดยติดตามดูแลให้หน่วยงานที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล มีความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการรวบรวมข้อมูลและผลกระทบอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะความเข้าใจกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจหลักของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร และข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะมีคุณภาพ เชื่อถือได้ และถูกต้อง นอกจากนี้ต้องพัฒนาความสามารถการสอบทานข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับสายงานตรวจสอบภายในของบริษัทอย่างต่อเนื่อง
  1. การให้ความเชื่อมั่นจากภายนอก (external assurance) โดยอาจพิจารณาให้หน่วยงานภายนอกสอบทานเพื่อให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลในกลุ่มผู้ใช้ข้อมูล ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร และนักลงทุน นอกจากนี้การให้ความเชื่อมั่นจากภายนอกจะทำให้องค์กรมีโอกาสทบทวนระบบการเก็บข้อมูลเพื่อควบคุมคุณภาพของข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น และสามารถใช้ข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ การวางแผน และการวางกลยุทธ์ขององค์กรด้านความยั่งยืนในอนาคต

สิ่งสำคัญ คือการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงและโอกาสที่มาพร้อมกัน โดยผนวกเข้ากับการบริหารและการกำกับดูแลธุรกิจแบบดั้งเดิม  คณะกรรมการตรวจสอบอาจต้องเพิ่มประเด็นดังกล่าววาระการประชุมในและมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเข้าใจกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบริษัท และมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่บริษัทเลือกมาปรับใช้