‘ก๊าซเรือนกระจก’ จาก ‘การท่องเที่ยว’ เพิ่มต่อเนื่อง สหรัฐปล่อยมลพิษมากสุด
การปล่อยคาร์บอนจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ล้มเหลวในการทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
KEY
POINTS
- ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี
- การเดินทางทางอากาศและการใช้ยานพาหนะส่วนตัว รวมถึงรถเช่า เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยคาร์บอนจากการท่องเที่ยว
- 60% การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นผลจากการเดินทางภายในประเทศของคนใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ จีน และอินเดีย
ในปีนี้ “การท่องเที่ยว” ทั่วโลกกลับมาคึกคักอีกครั้ง จนหลายที่เกิด “ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง” (Overtourism) และหลายเมืองออกมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยว เช่น เวนิสเริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 5 ยูโร สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ พร้อมจำกัดจำนวนกรุ๊ปทัวร์ ส่วนกรุงโรมกำลังพิจารณาเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 2 ยูโรสำหรับการชมน้ำพุเทรวี และนิวซีแลนด์ขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ภาคการท่องเที่ยวก็ยังคงปล่อยคาร์บอนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications พบว่าระหว่างปี 2009-2020 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 เริ่มระบาด ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี มากกว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วไปถึงสองเท่า
ปี 2019 การท่องเที่ยวทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5.2 กิกะตัน เทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ 1,130 ล้านคันบนท้องถนนเป็นเวลาหนึ่งปี คิดเป็นเกือบ 9% ของปริมาณทั้งหมดที่ปล่อยมาทั้งโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2009 ถึง 40% จาก 3.7 กิกะตัน (7.3% ของการปล่อยมลพิษทั่วโลก) และอาจเพิ่มขึ้นสองเท่าทุก 20 ปี ซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะออกสำรวจโลกที่เพิ่มมากขึ้น
แม้ว่าการปล่อยมลพิษจากการท่องเที่ยวทั่วโลกจะลดลงอย่างมากในปี 2020-2021 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดอย่างรวดเร็ว
การเดินทางทางอากาศและการใช้ยานพาหนะส่วนตัว รวมถึงรถเช่า เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยคาร์บอนจากการท่องเที่ยว โดยอุตสาหกรรมการบินคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด การบิน (21%) การใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเบนซินและดีเซล (17%) และสาธารณูปโภค เช่น แหล่งจ่ายไฟฟ้า (16%)
ในช่วงทศวรรษที่ทำการศึกษา ความต้องการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 3.8% ต่อปี สวนทางกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่หลายแห่งสามารถลดการปล่อยมลพิษได้ แต่ “ความเข้มข้นคาร์บอน” (Carbon Intensity) ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปริมาณการปล่อยคาร์บอนต่อรายได้หนึ่งล้านดอลลาร์ ของปี 2019 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกถึง 30% และสูงกว่าภาคบริการโดยรวมถึง 4 เท่า
ดร.ยา-เยน ซัน นักวิจัยนำในการศึกษานี้กล่าวว่า แม้นานาชาติจะพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยวก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายต่าง ๆ การริเริ่ม และการลงทุนมากมาย แต่ก็ยังไม่เห็นถึงสัญญาณการชะลอตัวของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว
“เราคาดว่าการปล่อยมลพิษจะเพิ่มขึ้นปีละ 3-4% ซึ่งไม่สอดคล้องกับความตกลงปารีส ที่กำหนดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ต้องลดการปล่อยมลพิษลงมากกว่า 10% ต่อปี”
ความล้มเหลวในการลดก๊าซเรือนกระจกนี้ ดูเหมือนจะมีสาเหตุมาจากการล็อบบี้ของสายการบิน เพราะสายการบินมักหลีกเลี่ยงแผนการบินมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยหันมาใช้เชื้อเพลิงทดแทนในปริมาณเล็กน้อย
นอกจากนี้ เวลาที่ผู้คนออกมาท่องเที่ยว ส่วนใหญ่มักปล่อยมลพิษมากกว่าการอยู่ที่บ้าน และปล่อยมลพิษจากหลายแห่ง ทำกิจกรรมหลายอย่าง กินอาหารนอกบ้าน ช้อปปิ้ง หรือใช้ชีวิตหรูหรา ยิ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ ติดตามการปล่อยคาร์บอนของนักท่องเที่ยวได้ยากลำบาก จนไม่รู้ว่าจะคำนวณอย่างไร
ดร.ซัน ยังพบอีกว่าการท่องเที่ยวและการปล่อยมลพิษไม่ได้กระจายอย่างเท่าเทียมกัน 75% ของการปล่อยมลพิษจากการท่องเที่ยวทั่วโลกเกิดขึ้นในกลุ่ม 20 ประเทศเท่านั้น ส่วนที่เหลือ 25% มาจาก 155 ประเทศ ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ประเทศร่ำรวยจะมีการปล่อยมลพิษต่อหัวจากการที่ประชากรไปท่องเที่ยวในต่างแดนมากกว่าประเทศยากจน
นอกจากนี้ 60% การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นผลจากการเดินทางภายในประเทศของคนใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ จีน และอินเดีย เฉพาะแค่ในปี 2019 ทั้งสามประเทศก็มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยมลพิษจากการท่องเที่ยวทั่วโลกถึง 39%
สหรัฐเป็นประเทศที่มีพลเมืองเดินทางออกนอกประเทศมากที่สุด มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการท่องเที่ยวสูงสุดในปี 2019 ซึ่งอยู่ที่เกือบ 1 กิกะตัน โดยคิดเป็น 19% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการท่องเที่ยวทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราต่อปีที่ 3.2% เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วประชากร 1 คน จะปล่อยคาร์บอน 3 ตัน
นักวิจัยเสนอว่า ไม่เพียงแค่ต้องเข้มงวดกับกฎระเบียบด้านการบินเท่านั้น แต่รัฐบาลยังต้องปรับปรุงการคำนวณปริมาณการปล่อยมลพิษที่นักท่องเที่ยวปล่อยออกมาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกำหนดขีดจำกัดปริมาณการปล่อยมลพิษของนักท่องเที่ยว
หลายประเทศที่ต้องพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ แต่ผู้กำหนดนโยบายสามารถช่วยเหลือด้วยวิธีอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยดร.ซัน แนะนำว่าควรลดเที่ยวบินระยะไกล ควบคู่ไปกับมาตรการที่กำหนดเป้าหมาย เช่น ภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ งบประมาณคาร์บอน และภาระผูกพันด้านเชื้อเพลิงทางเลือก และเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวปล่อยมลพิษน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ที่มา: ABC, Forbes, Phys, The Conversation, The Economist