เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง: กางแผนที่ความเสี่ยง
เข้าสู่เดือนที่ 6 ของปี ความเสี่ยงตลาดการเงินเริ่มชัดเจนขึ้น ทั้งจากวิกฤติตลาดคริปโต ตลาด Nasdaq เข้าสู่ภาวะหมี
ขณะที่ตลาดหุ้นหลัก ๆ ตกต่ำต่อเนื่อง ซึ่งความปั่นป่วนในตลาดการเงินบ่งชี้ว่า นักลงทุนมองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย (Recession) กำลังมีมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น เราจึงพิจารณาสภาวะและคาดการณ์เศรษฐกิจของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ดังนี้
1. เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1 เริ่มหดตัวจากเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ส่วนตัวเลขดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจากสถาบันวิจัยด้านอุปทาน (ISM PMI) เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงอย่างรวดเร็ว
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกต่ำที่สุดระดับเดียวกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อ 1 ปีข้างหน้าขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องส่งสัญญาณตึงตัวนโยบายการเงิน
แต่การตึงตัวนโยบายการเงิน ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น โดยปัจจุบันสภาพคล่องสหรัฐตึงตัวระดับเดียวกับช่วงก่อนวิกฤต Covid-19 แล้ว เห็นได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน 30 ปี อยู่ที่ 5.4% จากจุดต่ำสุดที่ 2.7% ในช่วงปี 2021 โดยต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นทำให้เป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น
โดยจากแบบจำลองของเรา พบว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยจนสุดที่ประมาณ 2.75-3.00% ในต้นปีหน้า ก่อนที่จะเกิดความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงินโลกจนในที่สุด Fed จะต้องยุติการขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดลง แต่เศรษฐกิจก็จะยังชะลอต่อไปจนเกิดวิกฤตในไตรมาส 2 ปี 2024
2. เศรษฐกิจยุโรป ล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ทั้งจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการยุโรป หรือแม้แต่ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 1 ที่เริ่มชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
ในปัจจุบัน สภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนดูเหมือนจะไม่คืบหน้า หลังจากรัสเซียสามารถยึดได้แค่ภาคตะวันออกกับใต้ของยูเครน ขณะที่ยูเครนยังคงครองเมืองทางซีกตะวันตกกับตอนกลางได้ อย่างไรก็ตาม ภาพจากด้านเศรษฐกิจภายในของรัสเซียไม่ตกต่ำอย่างที่หลายฝ่ายคิด โดยยอดการใช้จ่ายของชาวรัสเซียในย่านชุมชน เช่น ร้านกาแฟ ผับ และภัตตาคารกลับมาดีขึ้น ขณะที่ค่าเงินกลับมาต่ำกว่า 80 รูเบิลต่อดอลลาร์ อันเป็นช่วงก่อนการบุกยึดยูเครนอีกครั้ง ส่วนดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งหมดบ่งชี้ว่าการคว่ำบาตรไม่ได้ผล เนื่องจากรัสเซียยังสามารถส่งออกสินค้าให้กับพันธมิตร เช่น จีน อินเดีย และตะวันออกกลางได้ ขณะที่ยุโรปยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ยุโรป ภาพทั้งหมดบ่งชี้ว่า ความเสี่ยงสงครามมีแนวโน้มลากยาวมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดีปูตินส่งสัญญาณว่ารัสเซียจะยังพร้อมต่อสู้เพื่อครอบครองยูเครนที่มองว่าเป็นดินแดนเดียวกับรัสเซีย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงวิกฤตอาหารและพลังงานโลกในอนาคต
3. เศรษฐกิจจีน แม้ตัวเลขในไตรมาสที่หนึ่งจะออกมาดีเกินคาด แต่ภาพเศรษฐกิจรายเดือนหดตัวรุนแรงขึ้น ทั้งจากยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว ขณะที่่การลงทุนสินทรัพย์ถาวรชะลอตัว เนื่องจากการ Lockdown จากมาตรการ Covid Zero ของรัฐบาล ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจหยุดชะงัก ส่งผลเสียทั้งต่อการขนส่งสินค้าและการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ เรามองว่าภาครัฐจะยังไม่ยกเลิกนโยบายนี้ก่อนพิธีรับตำแหน่งสมัยที่สามของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในเดือน พ.ย. ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ยังคงอยู่
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนเริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยธนาคารกลาง (PBOC) ได้ปรับลดอัตราการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง และออก 23 มาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องรวมถึงได้ลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยจาก 4.6% เป็น 4.4% ขณะที่รัฐบาลกลับลำกลับมาสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี นอกจากนั้น ล่าสุด รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้ เริ่มเปิดเมืองให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาทำกิจกรรมเศรษฐกิจอีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังชะลอลง แต่ภาครัฐก็พร้อมจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไม่ตกต่ำรุนแรง
4. เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ที่ปัจจุบันเริ่มเผชิญกับ 3 วิกฤตแล้ว อันได้แก่ พลังงาน อาหาร และการเงิน โดยสำนักวิจัย Bloomberg Economics ได้จัดอันดับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจ 19 ประเทศ โดยวัดจากการพึ่งพาตัวเองด้านอาหาร และพลังงาน รวมถึงเสี่ยงต่อเงินทุนไหลออก ทั้งจากหนี้เงินตราต่างประเทศค่อนข้างมาก หรือจะจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง โดยพบว่า 10 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้แก่ ตุรกี อียิปต์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ เกาหลีใต้ ไทย ชิลี จีน และเปรู ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย อินเดีย และอินโดนิเซีย อยู่ที่อันดับ 11, 12 และ 18 ตามลำดับ
5. เศรษฐกิจไทย แม้ว่าตัวเลข GDP ไตรมาสที่่ 1 ดีเกินคาด แต่หากพิจารณาองค์ประกอบภายใน โดยเฉพาะจากภาคการผลิตแล้ว พบว่าน่ากังวล โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะสินค้าผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลักที่หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ผลจากปัญหาอุปทานการผลิต (Supply chain disruption) โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่เป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนชิป ขณะที่สาขาการก่อสร้างหดตัวรุนแรงขึ้นเป็นไตรมาสที่ 3 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะเหล็ก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนล่าสุดเริ่มชะลอลงแล้ว ทั้งการบริโภคที่ชะลอจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น การลงทุนที่ชะลอทั้งการลงทุนด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องมือเครื่องจักร ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มหดตัว จากปัญหา Supply Chain และความต้องการในตลาดโลกเริ่มชะลอลง ขณะที่สภาพัฒน์ฯ ปรับประมาณการเศรษฐกิจลงจากประเด็นการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกจากทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ สงครามยูเครน และปัญหาภาคการเงินไทยเป็นหลัก
ด้วยภาพพัฒนาการเศรษฐกิจที่แย่ลง เราจึงปรับสมมุติฐานเศรษฐกิจใน 6 ประเด็น ได้แก่ (1) สงครามยูเครนที่ยืดเยื้อ (2) ราคาน้ำมันดิบที่จะปรับเพิ่มขึ้น (3) ราคาดีเซลในประเทศที่ปรับขึ้น (4) ค่าแรงขั้นต่ำที่อาจปรับขึ้น 10-20% (5) การส่งออกที่อาจปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่มีความเสี่ยงด้านลบ (6) นักท่องเที่ยวที่เสี่ยงต่ำกว่าเป้าที่ 8 ล้านคน และ (7) ค่าเงินบาทที่อาจอ่อนกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งภาพเหล่านั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ประมาณ 2.9-3.4% ในปีนี้ จากที่เคยคาดไว้ที่ 3.6% ขณะที่เงินเฟ้อมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 3-5%
ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีรอบด้าน นักลงทุนทั้งหลาย โปรดระวัง