อ่านอนาคต
การอ่านเป็นกลไกสำคัญในการสร้างภูมิปัญญาของมนุษย์
ในสัตว์ตระกูลลิงไร้หางที่มีสติปัญญาใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดเช่น ชิมแปนซี กอริล่า และอุรังอุตังนั้น มีดีเอ็นเอคล้ายคลึงกับเราถึง 98.7%, 98.4% และ 97% ตามลำดับ แต่ความแตกต่างที่มีไม่ถึง 3% นั้นกลับทำให้เรามีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ากว่าลิงทุกประเภทอย่างเทียบกันไม่ติด
หัวใจสำคัญของความเฉลียวฉลาดของโฮโมซาเปียนหรือมนุษย์ที่ครองโลกอยู่ในปัจจุบันคือ การจดบันทึกและส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เราเพิ่มพูนองค์ความรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ด้วยภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างสมเอาไว้นับพันปีทำให้เราวางแผนไปในอนาคตเพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้
เพราะความผิดพลาดและความล้มเหลวที่บรรพบุรุษเคยประสบมาก่อนล้วนถูกบันทึกไว้ทำให้คนรุ่นหลังไม่จำเป็นต้องผิดพลาดซ้ำรอยเดิม และยังสร้างหนทางใหม่ๆ สะสมเป็นความรู้เพิ่มเติมได้อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก่อให้เกิดเป็นความรู้มากมายหลายแขนง ช่วยให้เราพัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคมพัฒนาประเทศได้มาจนถึงทุกวันนี้
ความรู้ของมนุษยชาติจึงเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นการค้นพบโครงสร้างของดีเอ็นเอ เมื่อปี 1953 โดยเจมส์ ดี. วัตสัน และฟรานซิส คริก หลังจากนั้นในปี 1996 เราก็สามารถโคลนแกะดอลลี่โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นับเป็นเวลาไม่ถึง 50 ปีหลังจากที่เรารู้จักโครงสร้างดีเอ็นเอเท่านั้น
การอ่าน การจดบันทึก การถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึกนึกคิด ฯลฯ จึงเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการสร้างภูมิปัญญาของมนุษย์ การอ่านจึงไม่ทำให้เรารู้สึกเดียวดายแม้ต้องอยู่ลำพังเพียงคนเดียว เพราะหนังสือคือเพื่อนสนิทที่สร้างจินตนาการให้เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกได้อย่างมีความสุข
คำพังเพยจีนโบราณก็เปรียบเทียบเอาไว้ว่า 1 วันที่ไม่ได้อ่านหนังสือ อาจไม่รู้สึกอะไร แต่หากเป็น 1 อาทิตย์ที่ไม่ได้อ่านหนังสือเราอาจกลายเป็นคนไม่มีเนื้อหาสาระ พูดคุยกับคนอื่นก็ตามความเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยจะทัน
และหากเป็น 1 เดือนที่เว้นว่างจากการอ่าน เราอาจกลายเป็นคนไม่ทันสมัยและดูไม่ฉลาดในสายตาคนรอบข้าง แม้ว่าจะเป็นคนที่มีไอคิวสูงเพียงใด หากไม่ได้เสพความรู้ด้วยการอ่าน ก็อาจทำให้ไม่มีความรู้มากพอที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น
การอ่านจึงไม่มีอะไรเทียบได้ แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคดิจิทัลที่คนนิยมเสพสาระความรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวอยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะเป็นสาระสั้นๆ ไม่ลึกซึ้ง และไม่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ จึงไม่อาจพัฒนาเป็นความรู้ได้เต็มที่เหมือนกับการอ่านหนังสือเล่ม
การปล่อยให้เด็กๆ อยู่กับโลกดิจิทัลและคิดว่าเขาจะขวนขวายหาความรู้ได้เอง เพราะมีเพจให้ความรู้มากมาย มีช่องยูทูบให้ดูสาระความรู้ต่างๆ จำนวนมหาศาลจึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องนัก เพราะการสังเคราะห์ความรู้จำเป็นต้องมีคนช่วยดูและและพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
หากเด็กถูกพัฒนาอย่างเหมาะสม เขาจะรู้จักวิธีหาความรู้เสริมทักษะด้วยตนเองผ่านสื่อดิจิทัล ทำให้มีความสามารถในการคิดเชิงตรรกะ รู้จักการวิเคราะห์ ต่อยอดความรู้ที่ตัวเองมี ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตแบบปกติไม่ได้ แต่หากเรามีพื้นฐานในการสังเคราะห์ความรู้ที่ดี ก็จะพบว่าเราใช้เวลาที่ผ่านมาเกือบ 3 ไปกับการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ข้ามสายวิชาชีพเดิมๆ ที่ไม่ว่าเราจะเรียนอะไรมา ก็สามารถไปเรียนรู้วิชาชีพอื่น ๆ ได้มากมายมหาศาลผ่านระบบการเรียนออนไลน์
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมด้านกฎหมาย ด้านการตลาด การทำอาหาร การเล่นดนตรี ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่เพิ่มพูนขึ้น และทำให้ชีวิตของเรามีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นองค์ความรู้ที่ติดตัวเราไปอีกยาวนาน
และทั้งหมดนี้ก็มีที่มาจากการอ่านตั้งแต่ยังเด็ก ที่สร้างรากฐานในการใฝ่เรียนรู้ให้กับตัวเราในวันนี้ พัฒนาการของคนรุ่นต่อไปจึงจำเป็นมากที่ต้องปลูกฝังการรักการอ่านให้กับเด็กๆ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเขาเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด