9ปีที่รอคอยชาวคลิตี้ ถึงเวลากำจัด"ตะกั่ว"
ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรีที่ยืดเยื้อมานานถึง 9 ปีเต็ม หลังจากนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ พร้อมด้วยชาวกะเหรี่ยง
บ้านคลิตี้ล่างจำนวน 22 ราย ได้ยื่นขอความช่วยเหลือผ่านทางสภาทนายความและโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในการฟ้องคดีศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2547 กรณีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจในการควบคุมฟื้นฟูจากมลพิษตามกฎหมายพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมพ.ศ.2535 แต่ละเลยและล่าช้าในการดำเนินงานจนเกิดความเสียหายต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมขึ้น
ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดนัดฟังพิพากษาประวัติศาสตร์กรณี “คลิตี้ล่าง” ขึ้น โดยนายเสน่ห์ บุญทมานพ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว โดยแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ถูกฟ้องคดีคือกรมควบคุมมลพิษ(คพ.)
จัดทำแผนงาน วิธีการและดำเนินการฟื้นฟูตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผักให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลละ 1 ครั้งเป็นเวลา 1 ปี จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในดิน น้ำ พืชผักอยู่ในค่ามาตรฐาน และให้รายงานผลการติดตามตรวจสอบแบบเปิดเผย ด้วยการแจ้งให้กับชาวบ้านทั้ง 22 รายทราบด้วยการติดประกาศในที่ทำการหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ที่องค์การบริหารส่วนต. ชะแล และที่ว่าการอ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี พร้อมกันนี้ขอให้คพ.จ่ายเงินกับชาวบ้านเป็นค่าชดเชยค่าอาหารจากการที่ไม่สามารถใช้ทรัพยากรต่างๆในพื้นที่มาบริโภคได้ รวมระยะเวลาตั้งแต่เดือนส.ค.2547-26 มิ.ย.55 รวมทั้งสิ้น 94 เดือนเป็นเงินรายละ 177,199 บาท ภายในระยะเวลา 90 วัน
ภายหลังจากฟังคำตัดสินคดีของศาลปกครองสูงสุด นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ แกนนำชาวบ้านชุมชนคลิตี้ล่าง พอใจในคำตัดสินของศาล ที่มีคำสั่งให้ทางกรมควบคุมมลพิษชดเชยค่าเสียหายพร้อมกับให้เข้าไปติดตามตรวจสอบและดูแลสารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในลำห้วยคลิตี้
แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีมาตรการเข้าไปฟื้นฟูแก้ไขลำห้วยด้วยวิธีการใด และจะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใดที่สถานการณ์ของสารพิษปนเปื้อนจะเริ่มดีขึ้นจนชาวบ้านกลับมาดำรงวิถีชีวิตโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติแบบเดิมได้ ทั้งนี้จะต้องติดตามการเข้ามาฟื้นฟูไปก่อนประมาณ 1-2 เดือน หากยังไม่ดีขึ้นชาวบ้านในชุมชนคลิตี้อาจจะเดินหน้าเรียกร้องต่อไป
แม้นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะยืนยันไม่ได้เพิกเฉยกับการป้องกันและแก้ไข และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แต่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีการจัดการดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่ถูกนำไปฝังกลบทั้ง 8 หลุมปริมาณราว 3,000 ตันบริเวณริมลำห้วยคลิตี้จะขนดินออกมากำจัดนอกพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูสารตะกั่วลำห้วยคลิตี้ยังคงต้องจับตาต่อไป และสิ่งที่กรมควบคุมมลพิษควรจะดำเนินการพร้อมๆ กันไปคือการเรียกร้องให้บริษัทตะกั่วคอนเซลเทรด ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่ต้องออกมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน