ถอดบทเรียน Stagflation กับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในอนาคต
งานสัมมนาของธนาคารกลางยุโรปที่จัดขึ้น ณ เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นเวทีใหญ่ระดับโลกที่รวบรวมผู้นำทางด้านนโยบายการเงินที่สำคัญไว้อย่างคับคั่ง ทั้งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาเวลล์ ประธานธนาคารกลางยุโรป คริสเตียน ลาการ์ด และผู้ว่าการธนาคารอังกฤษ แอนดรูว์ เบลีย์
ซึ่งประเด็นหลักที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุม คือการดำเนินนโยบายต่อไปในอนาคตของธนาคารกลางทั่วโลก ที่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินให้ตึงตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์สภาพเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทั่วโลก
ประธานธนาคารกลางทั้ง 3 ท่าน ต่างมีความเห็นพ้องต้องกัน ถึงความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงอย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ในหลากหลายประเทศ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) เดือนพฤษภาคม ในสหรัฐอเมริกา ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยเติบโต 8.6%
ขณะเดียวกัน ในเดือนมิถุนายนอัตราเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปก็ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเติบโต 8.6% เช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ในทางเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักร ก็ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 40 ปี โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.1% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ธนาคารกลางทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้มีการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุน ซึ่งอาจนำมาสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจ
แต่สาเหตุหลักที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างยังคงยึดมั่นเป้าหมายหลักในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ปรับตัวสูงในระยะยาวนั้น มีเหตุผลสำคัญมาจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์ในอดีต ที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์อันร้ายแรง หากธนาคารกลางเพิกเฉยต่อสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อในระดับสูง นั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (Stagflation)
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (Stagflation) คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 1970
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์เริ่มจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง โดยสงคราม 21 วัน ที่เกิดขึ้นในปี 1973 ส่งผลให้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่าง OPEC คว่ำบาตรการส่งน้ำมันให้แก่ประเทศตะวันตก ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 3 ดอลลาร์สหรัฐในปี 1971 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 400% มาอยู่ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐในปี 1974
นอกเหนือจากผลของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อีกปัจจัยที่มีผลสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ณ เวลานั้น คือแนวทางการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่เปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังในหลากหลายด้าน
ทั้งการดำเนินนโยบายงบขาดดุล (Budget Deficits) เพิ่มงบทางทหารและการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่ยกเลิกการตรึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับทองคำ จนส่งผลให้ความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์ลดลง และอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ในช่วงต้นยุค 1970
ประเด็นสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงเพิ่มเติมขึ้น คือการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ไม่เหมาะสม ในช่วงที่ปัญหาอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง ประธานาธิบดีนิกสัน ส่งแรงกดดันไปยังธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 1972 เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดี และลดอัตราการว่างงาน ซึ่งแม้การลดอัตราดอกเบี้ยจะก่อให้เกิดผลดีในระยะสั้น
แต่สุดท้ายการที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนถึง 12% ในปี 1974 ก็ส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถมีกำลังในการบริโภคสินค้า ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจมีผลซบเซาในช่วงปี 1974 -1976
อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทรงตัวสูงตลอดช่วงปี 1970 - 1980 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (Real interest rate) ปรับตัวติดลบเมื่อธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปี 1975 - 1977 ในท้ายที่สุด เพื่อควบคุมปัญหาอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวด ดังเช่นในช่วงปี 1979 - 1980 ที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ พอล โวกเกอร์ ตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรง จากระดับ 10% ในปี 1978 มาสูงถึงระดับ 18% ในปี 1980
โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรง คือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึง 2 ครั้งในช่วงปี 1980 - 1982 ซึ่งถือเป็นราคาที่ต้องจ่าย เพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อให้กลับมาเป็นระดับปกติ
ดังนั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต จึงเป็นบทเรียนให้แก่ผู้วางแผนนโยบายทางการเงิน ถึงความจำเป็นในการควบคุมราคาสินค้าในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยเหตุที่ว่าการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงโดยขาดการควบคุม ย่อมที่จะนำมาซึ่งการถดถอยทางการเติบโตของเศรษฐกิจ
เราจึงเห็นแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก ที่กำลังเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ เพื่อหวังที่จะลดอัตราเงินเฟ้อในอนาคต แม้จะเผชิญความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจก็ตาม