ปืน..การลงทุนที่ไม่คุ้มค่า
4 ก.ค.2565 เป็นวันชาติสหรัฐฯ ครบรอบ 246 ปี ชายหนุ่มอายุ 22 ปีขึ้นบนหลังคาร้านค้า ใช้อาวุธอัตโนมัติระดับสงคราม ที่ซื้อมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยิง 70 นัดเข้าไปในขบวนพาเหรด ของชุมชนเมือง Highland Park ซึ่งเป็นเมืองที่มีฐานะเศรษฐกิจสังคมสูง อยู่ชานเมืองด้านเหนือของชิคาโก เหยื่อกระสุนปืนกว่า 41 คน อายุตั้งแต่ 8 ขวบถึง 85 ปี เสียชีวิต 7 คน
เป็นความรุนแรงแบบ mass shooting (มีผู้ตายและบาดเจ็บรวมกันเกินสี่คน ไม่นับผู้ร้าย) ซึ่งตามสถิติปีนี้ในสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 250 ครั้ง
ปัจจัยที่ทำให้อเมริกาแตกต่างจากประเทศอื่น คืออาวุธปืนเกลื่อนกลาด บวกกับปัญหาสุขภาพจิต โดดเดี่ยว ก้าวร้าว อยากฆ่าตัวตาย ปัญหาสังคม หมกมุ่นกับกลุ่มเสี่ยงในโซเชียลมีเดีย และอาชญากรรม
ชาวอเมริกัน 330 ล้านคน มีอาวุธปืนกว่า 400 ล้านกระบอก ปีค.ศ. 2020 ซื้อขายตามทะเบียน 40 ล้านกระบอก ส่วนการซื้อขายระหว่างบุคคลนั้นไม่มีกฎหมายบังคับการจดบันทึก จึงไม่ทราบจำนวน ตลาดนัดปืนหาได้ง่ายในทุกชุมชน
ครัวเรือนอเมริกัน 45% มีอาวุธปืน เจ้าของปืนเป็นชาย 39% และเป็นสตรี 22% ชาวชนบทมีปืน 41% เทียบกับคนในเมืองและชานเมืองที่มี 29% ชาวผิวขาว 34.3% มีปืนอยู่ในครอบครอง Hispanic (ชาวอเมริกันเชื้อสายละติน) 28.3% ชาวผิวดำ 25.4% และชาวเอเชียมีปืนอยู่ในการครอบครอง 19.4%
วัฒนธรรมการใช้ปืนเพื่อล่าสัตว์และป้องกันตนเองนั้นมีต่อเนื่องมายาวนาน บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ของอเมริกาประโยคหนึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างเสมอคือ “สิทธิของประชาชนที่จะมีและถือศาสตราวุธ จะถูกขัดขวางไม่ได้” กลุ่มผลประโยชน์แห่งอุตสาหกรรมอาวุธอ้างบทข้อนี้กีดขวาง การเสนอกฎหมายลดความเสี่ยงจากปืนตลอดมา
และต่อมาระยะหลังเกิดโรคระบาดเรื่องข้อมูล ยุยงสร้างความเกลียดกลัว ทำให้ผู้บริโภคข่าวร้อนรน ไม่มั่นใจกับความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่รัฐ และคิดว่าหากมีปืนแล้ว ตนเองและครอบครัวจะปลอดภัยมากขึ้น
แต่จากการวิจัยข้อมูลรวม 12 ปี ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งตีพิมพ์ใน the Annals of Internal Medicine (2022) พบว่าเหยื่อกระสุน 2,300 ราย ถูกยิงจากปืนซึ่งอยู่ในบ้านของตนเองมากกว่าปืนของบุคคลอื่นถึงเจ็ดเท่า และยิ่งกว่านั้นคือผู้ถูกยิง 84% เป็นสตรี และปืนที่เกี่ยวข้องเป็นของสามีหรือคนรัก อีกทั้งสถิติการฆ่าตัวตายของคนที่บ้านมีปืนนั้น สูงกว่าบ้านที่ไม่มีปืนถึง 50%
ความสะดวกในการมีอาวุธร้ายแรงอยู่กับประชาชนนั้นคือความเสี่ยง โดยเฉพาะกับเจ้าของปืนและสมาชิกในครอบครัว
แต่ละปีมีชาวอเมริกันเสียชีวิตโดยอาวุธปืนเป็นจำนวนมาก เช่น ปี ค.ศ. 2020 เสียชีวิตจำนวน 45,222 คน แยกเป็นฆ่าตัวตาย 54% ฆ่าผู้อื่นตาย 43% และสาเหตุอื่น 3% (ทั้งนี้เสียชีวิตโดยปืนสั้น 59%)
กลุ่มผลประโยชน์ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ มักอ้างว่า “อาวุธปืนมันไม่ยิงตัวมันเอง มนุษย์ต่างหากที่ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นต้องแก้ที่มนุษย์” ข้ออ้างต่างๆ และสินจ้างรางวัลใช้ล็อบบี้กลุ่มนักการเมือง (ส่วนใหญ่คือพรรครีพับลิกัน/อนุรักษ์นิยม) เพื่อขัดขวางกฎหมายปืนทุกอย่าง ชาวรีพับลิกัน 44% มีปืน เทียบกับเดโมแครต 20%
รัฐสีแดง (รีพับลิกันมีเสียงข้างมาก) ก็จะออกกฎหมายภายในรัฐ ปกป้องการครอบครองอาวุธปืน และห้ามมิให้เมืองหรือเทศบาลภายในรัฐนั้น ออกกฎหมายจำกัดสิทธิต่างๆ รัฐเหล่านี้ มีจำนวนผู้เสียชีวิตโดยปืนในอัตราสูง ประมาณ 23.6 ถึง 28.6 ชีวิต ต่อประชากร 100,000 คน เช่น Mississippi, Louisiana, Wyoming, Missouri, Alabama ฯลฯ
รัฐสีน้ำเงิน (เดโมแครตมีเสียงข้างมาก) ก็จะมีความเข้มงวดมากกว่า รัฐกลุ่มนี้มีผู้เสียชีวิตในอัตราส่วนต่ำ 3.4 ถึง 5.3 ชีวิตต่อประชากร 100,000 คน เช่น New York, Rhode Island, New Jersey, Massachusetts, Hawaii ฯลฯ
โดยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลกลางของอเมริกาสามารถออกกฎหมายควบคุมได้เพียงแค่ การเข้มงวดในพื้นที่ที่รัฐบาลกลางเป็นเจ้าของ เช่น สนามบิน อุทยานแห่งชาติและที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ เป็นต้น อิทธิพลของอุตสาหกรรมอาวุธแทรกซึมในการเมืองของสหรัฐฯ ถกเถียงมากแต่ไม่แก้ไข ส.ส. 435 คนอยู่ในตำแหน่งแต่ละสมัยเพียงแค่สองปี จึงมีความกดดันต้องระดมทุนหาเสียงตลอดเวลา จึงมีจุดอ่อนให้อำนาจเงินและอิทธิพลแทรกแซงเรื่องนี้
รัฐจอร์เจียที่ผมมีภูมิลำเนาอยู่ รีพับลิกันคุมเสียงข้างมากในสภามานาน กฎหมายเรื่องปืนให้ความสะดวกในการซื้อขายและครอบครอง ปืนสั้นปืนยาวปืนอัตโนมัติและกระสุน จำนวนไม่จำกัด เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนหรือใบขับขี่แสดงอายุเกินกว่า 18ปี ใบอนุญาตถือปืนสั้นติดตัวขอไม่ยาก หากไม่มีประวัติอาชญากรรมและโรคจิต แต่ถ้ามีผู้ปกครองไปด้วยเยาวชนก็ถือปืนสั้นได้ ส่วนปืนยาวไม่จำกัดอายุเพราะอ้างว่าเป็นกีฬาหรือประเพณีการล่าสัตว์
ส่วนในไทยนั้น ปัญหาเรื่องนี้มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ไทยมีอาวุธปืนในอัตราส่วนสูงที่สุด ปืนแบบถูกต้องตามกฎหมายมีประมาณกว่า 11 ล้านกระบอก และปืนเถื่อนอีกนับไม่ถ้วน ความกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมบวกกับความเสี่ยงในโซเชียลมีเดีย สภาวะจิตใจที่เปราะบาง อาจเพิ่มความเสี่ยงครับ
Institute for Health Metrics and Evaluation ทำวิจัยปี ค.ศ. 2017 เทียบอเมริกากับไทย ตัวเลขน่าเป็นห่วง ในประชากร 100,000 คนมีผู้เสียชีวิตโดยปืนในสหรัฐฯ 4.43 คนเทียบกับไทย 3.71 คน ที่ควรสังเกตคือ ประเทศที่เข้มงวดเรื่องกฎหมายปืนและมีวัฒนธรรมประเพณีไม่นิยมปืนนั้น ความเสี่ยงต่ำกว่าไทยมาก เช่น สิงคโปร์ 0.02 คน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน 0.04 คน เกาหลีใต้ และอังกฤษ 0.05 คน เป็นต้น
การมีปืนจึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าสำหรับครอบครัวครับ