สายส่งกับการเปลี่ยนผ่าน
แหล่งพลังงานหลัก ๆ ในโลกนี้นอกจากแหล่งพลังงานจากแหล่งฟอสซิลเช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น แล้ว ก็จะเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถ้าไม่ผลิตมาจากแหล่งพลังงานฟอสซิลก็จะมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ในช่วงเวลาเช่นนี้ ที่เชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาสูงอันเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น ผู้บริโภคจึงมองหาพลังงานทางเลือกจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนกันมากขึ้น
แต่อย่างที่เราทราบกันว่า พลังงานหมุนเวียนจากแสงแดดและสายลมนั้น เอาแน่ไม่ค่อยได้ ขึ้นอยู่กับภาวะอากาศ ส่วนในวันที่แดดดีหรือลมจัด เราก็ต้องใช้เท่าที่ออกแบบไว้และใช้ทันที เพราะเราไม่สามารถกักเก็บพลังงานส่วนเกินเหล่านั้นในรูปของพลังงานไฟฟ้าได้
สาเหตุมาจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่เป็น grid scale นั้นก็ยังไม่ค่อยที่จะคุ้มทุน เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งฟอสซิล หรือกล่าวคือไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียนเมื่อผลิตแล้วต้องนำมาใช้เลย ในกรณีที่มีการผลิตมากเกินความต้องการ จึงมีความคิดที่จะออกแบบระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมเวลาหรือสถานที่เข้าหากัน (link between space)
การออกแบบสายส่งไฟฟ้าในอดีตนั้น ส่วนใหญ่จะออกแบบตามการผลิตและใช้งานที่เป็นแบบ one way traffic กล่าวคือ จะมีหน่วยงานปั่นไฟฟ้าที่ใกล้กับแหล่งเชื้อเพลิง เช่น หน้าเหมืองถ่านหิน (ตัวอย่างเช่นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง) หรือใกล้แหล่งก๊าซธรรมชาติ หรือท่าเรือน้ำลึก แล้วสายส่งก็จะนำไฟฟ้าเหล่านั้นไปยังจุดหมายปลายทางที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก เช่นกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การออกแบบสายส่งส่วนใหญ่ในโลกจะเป็นการเดินสายจากแหล่งผลิตไปยังจุดบริโภค (from source to load) แบบจราจรทางเดียว แม้ว่าประเทศไทยจริง ๆ แล้วนั้น มีโครงข่ายที่ซับซ้อนกว่า คือเป็นใยแมงมุม คือสายส่งจะป้อนจากแหล่งต่าง ๆ วิ่งเข้าหาจุดศูนย์กลางคือบริเวณกรุงเทพฯ และอีสเทิร์นซีบอร์ดแต่ก็ยังมีเป็น concept ดั้งเดิม ที่เป็นแบบ centralized generation (รวมศูนย์) และไม่ได้ตอบโจทย์แบบ decentralized (กระจายศูนย์) จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
ที่สำคัญคือ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ เมื่อเทียบกับการซื้อขายเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วต่างกันมากมาย
อย่างประเทศไทยนั้น ในปี 2019 ก่อนโควิด มีการซื้อนำเข้าไฟฟ้าประมาณ 13% ของที่ใช้และส่งออกไฟฟ้าเพียง 1.5% ขณะที่เรานำเข้าน้ำมันดิบมากกว่า 84% และส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 16% หรือในกลุ่มประเทศ OECD ก็ซื้อขายไฟฟ้ากันประมาณ 4.8% ของที่บริโภคในปี 2018 ขึ้นมาจาก 2% ในปี 1970 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ใน 50 ปี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก
ในกลุ่มประเทศยุโรปจึงมีความคิดที่จะวางสายไฟฟ้าเชื่อมระหว่างประเทศมากขึ้น เช่นประเทศเดนมาร์กที่มี offshore wind farm ที่ใหญ่มาก และในวันที่ลมดี สามารถผลิตไฟฟ้าได้เกิน 100% ของอุปสงค์ในประเทศ และวันที่ไม่มีลมก็จะต้องพึ่งพลังงานฟอสซิล แต่ถ้ามีระบบสายส่งเชื่อมกับประเทศนอร์เวย์ที่มีแหล่งไฟฟ้าพลังงานน้ำ จากเขื่อนหรือฝายขนาดใหญ่ ก็จะตอบโจทย์ได้ดีเลย วันที่ลมแรง ก็ใช้ไฟฟ้าจากลม และส่งออกไปนอร์เวย์ด้วย (ส่วนน้ำในเขื่อนที่นอร์เวย์ก็เหมือนแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ที่กักเก็บพลังงานไว้) วันที่ลมตก ก็นำเข้าไฟฟ้าพลังงานน้ำจากนอร์เวย์
ซึ่งวิธีคิดเดียวกันนี้ สามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะประเทศไทยมีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดีมาก โดยเฉพาะบริเวณภาคอีสานตอนล่าง รอบ ๆ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ติดกับประเทศลาว และแหล่งใช้พลังงานที่สำคัญคืออีสเทิร์น ซีบอร์ด
ถ้าในวันที่แดดดี เราน่าจะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์และอาจจะส่งออกไปยังประเทศลาวอีกด้วย ส่วนวันที่ฝนตก ก็นำเข้าไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาว ซึ่งถ้าจะให้สามารถทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้น เราอาจจะนำเอา AI มาช่วยคาดการณ์ทั้งในส่วนของการบริโภคหรือ load และภาวะภูมิอากาศ เพื่อจะได้สามารถสั่งการหรือ dispatch ได้ดีขึ้น แล้วจะทำให้การพึ่งพาพลังงานฟอสซิลลดลงไปได้อย่างมาก
ข้อมูลจากธนาคารโลก บอกไว้ว่า พลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่โลกต้องการ หรือพลังงานลมในทะเลลึก (offshore wind farm) ก็สามารถผลิตไฟฟ้าในวันที่ลมดีมากกว่าที่โลกต้องการประมาณ 8 ถึง 11 เท่า ที่สำคัญคือเราจะมีเครื่องไม้เครื่องมืออย่างไรในการดักจับ แดดและลม
อีกทั้งส่งไฟฟ้าเหล่านั้นไปยังจุดที่มีความต้องการ การสร้างระบบสายส่งที่เชื่อมเวลาหรือสถานที่ (ผมเคยได้พูดถึงเรื่องการเชื่อมความต่างของเวลาในฉบับก่อน เมื่อเดือนตุลาคม 2563) น่าจะเป็นคำตอบที่สำคัญ
เราจึงเห็นการสร้างสายไฟฟ้าแรงสูงความยาว 720 กิโลเมตร จากนอร์เวย์ไปยังเกาะอังกฤษเพื่อตอบโจทย์การใช้พลังงานหมุนเวียน หรือการซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์จากลาวของประเทศสิงคโปร์ ล้วนแล้วแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบสายส่งที่จะเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอิเล็กตรอนสีเขียวระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ เราก็จะเริ่มเห็นว่าทั้งราคาทองแดงและบริษัทติดตั้งสายไฟแรงสูงที่มีราคาหุ้นสูงขึ้นอย่างน่าสนใจ และคงเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนั้นเร็วขึ้นและยั่งยืนขึ้น อย่างที่ CEO ของบริษัท Shell ได้พูดไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “We had sufficient ambition but this time I think we will have sufficient conviction.”