อิทธิพลจีนในเวียดนาม : มองผ่านสัมปทานเหมืองแร่บอกไซต์
คอลัมน์ ASEAN Insight ชี้ชวนให้มองการขยายตัวของจีนในเวียดนาม โดยหยิบเรื่องสัมปทานเหมืองแร่บอกไซต์(bauxite) หรืออะลูมิเนียมในเวียดนามมาคุยกัน
ข้อมูลนี้เรียบเรียงจากงานวิจัยของอาจารย์เหยียน วัน ฉิน (Nguyen Van Chinh) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามที่กำลังศึกษาเรื่องการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในเวียดนาม มีศ.ดร. ยศ สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแลโครงการใหญ่และมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุน งานนี้ชวนให้คิดว่า การที่จีนได้สัมปทานแร่บอกไซด์ในที่ราบสูงตอนกลางเป็น “การเมืองเรื่องการฉวยใช้ทรัพยากร” และกำลังขยายไปสู่ประเด็นชาตินิยมของคนเวียดนาม
เรื่องสินแร่นั้น จีนเป็นหนึ่งใน 12 ประเทศทั่วโลกที่ผลิตสินค้าจากอะลูมิเนียมและยังเป็นประเทศที่บริโภคสินแร่สูงที่สุดในโลกทั้งตะกั่ว อะลูมิเนียม นิเคิล และซิงค์ บริษัท Aluminum Corporation of China (CHINALCO) หนึ่งในรัฐวิสาหกิจจีน คือ บริษัทที่ใช้แร่ใหญ่ที่สุดของจีน บริษัทนี้ใช้นโยบาย “ก้าวออกไป” ของรัฐบาลจีนแผ่ขยายกิจการ เช่น เข้าซื้อบริษัท Rio Tinto Corporation หนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2007 และยังซื้อหุ้นอีก 7% จากบริษัท Alcoa Corporation ของสหรัฐไปเมื่อปี 2008 อีกทั้งเตรียมขยายกิจการด้วยการออกไปซื้อเหมืองต่างๆ ในออสเตรเลีย แคนาดา และเปรู
ในแง่การผลิตอะลูมิเนียม พบว่าปี 2007 จีนผลิตได้เพียง 7 ล้านตัน แต่กลับบริโภคถึง 26.12 ล้านตัน จึงเกิดปัญหาขาดวัตถุดิบต้องนำเข้ากว่า 15 ล้านตัน ซึ่งนำเข้าหลักจากอินโดนีเซีย แต่หลังจากรัฐบาลอินโดนีเซียปิดเหมืองเพราะปัญหามลพิษ จีนต้องหาแหล่งใหม่จากอินเดียเพื่อนำเข้า 3.4 ล้านตัน แต่ก็ยังไม่พอแถมมีต้นทุนขนส่งทางทะเลที่แพงขึ้นอีก ด้วยเหตุนี้ จีนเลยมองหาแหล่งใหม่ระยะยาว ซึ่งเล็งมายังประเทศลุ่มน้ำโขงที่สำรวจแล้วมีอยู่แถบบอละเวนที่ราบสูงทางใต้ของลาว เมืองมณฑลคีรีของกัมพูชา และที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม
แต่ที่เวียดนามมีแหล่งแร่บอกไซต์มากสุดถึง 8.3 พันล้านตัน มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ทำให้ตั้งแต่ปี 2001 จีนต่อรองกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเพื่อทำข้อตกลงระหว่างพรรคฯ 2 ประเทศ ขอให้เปิดทางแก่บริษัท CHINALCO จากนั้นได้เซ็นสัญญาทำเหมืองและสร้างโรงงานผลิตอะลูมิเนียมขั้นปฐมภูมิกว่า 1.3 พันล้านดอลาร์ มีการขุดแร่บอกไซต์ 6 แห่งในพื้นที่ 1,125,000 ไร่ในเขตที่สูงตอนกลางของเวียดนามและมี 2 โรงงานหลักผลิตอะลูมินาที่พร้อมสกัดเป็นโลหะอะลูมิเนียมจำนวน 600,000 ตัน/ปีเพื่อส่งกลับจีน ปัจจุบันมีการทำเหมืองเพิ่มอีก 2 แห่งในเมือง Lam Dong และเมือง Dac Nong แต่ละแห่งลงทุน 600 ล้านดอลลาร์ เงินลงทุนมาจากเงินกู้ของรัฐบาลจีนและบางส่วนกู้เพิ่มจากญี่ปุ่น
ที่เมือง Lam Dong คาดว่า มีบอกไซต์ 975 ล้านตันหรือ 18% ของที่สูงตอนกลาง มีบริษัทร่วมทุนระหว่าง China Aluminum International Engineering Co. Ltd (CHALIECO) กับบริษัท VINACOAL เริ่มทำตั้งแต่ปี 2008-2010 แต่ก็ล่าช้าจนปัจจุบัน ส่วนที่เมือง Dac Nong คาดว่า มีบอกไซต์ถึง 3.4 พันล้านตันหรือ 63% ของบริเวณนี้ ซึ่งหากดูการใช้พื้นที่ทำเหมืองทั้งหมด 9 แห่งในเมือง Dac Nong จะกินพื้นที่ถึง 963,000 ไร่ หรือ 24.6 % ของพื้นที่เมือง ซึ่งจะส่งกระทบต่อประชากร 2 ใน 3 ของเวียดนามตอนใต้ที่มีทั้งคนท้องถิ่นรวมถึงชนพื้นเมืองหลักๆ เช่น กลุ่ม Mnong กลุ่ม Ede กลุ่ม Ma กลุ่ม Co Ho และกลุ่ม Raglai ใน 2 จังหวัดนี้ คนเหล่านี้มีวิถีชีวิตการเกษตร ปลูกข้าว กาแฟ ยางและชา ซึ่ง Lam Dong ถือเป็นพื้นที่ปลูกชาที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม
ผลกระทบต่อคนท้องถิ่นมีหลายเรื่องที่ชวนสงสัย เช่น ที่ผ่านมารัฐบาลใช้ตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัวต่ำที่ 370 ดอลลาร์/ปี เพื่ออ้างว่าคนยังมีรายได้น้อยจึงต้องสร้างอุตสาหกรรมแร่รองรับ แต่เรื่องนี้เป็นที่กังขาของนักเศรษฐศาสตร์เวียดนาม เพราะราคาอะลูมิเนียมตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ที่ตั้งเหมืองบอกไซต์อยู่ในเขตที่ราบสูง Lam Vien and Di Linh บนความสูง 1,000 -1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลซึ่งต้องสร้างถนนเพื่อขนส่งแร่ 1,000 ตัน/วันให้ได้ ปัจจุบันเหมืองใกล้เสร็จ แต่ถนนเพื่อขนแร่ไปจีนยังไม่เกิด แต่แม้ถนนเกิดขึ้น เมื่อต้องขนแร่มากเช่นนี้ทุกวัน ถนนจะพังอย่างรวดเร็ว ที่ซึ่งถนนก็ไม่ได้ตอบโจทย์ชาวบ้านด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ คนบนที่สูงที่ทำเกษตรไร่หมุนเวียนเกือบ 2 ล้านคนกลายเป็นคนไร้ที่ดินไปแล้ว ขณะที่ตัวโครงการขุดแร่ขึ้นมาต้องใช้น้ำและไฟฟ้ามหาศาล ซึ่งในพื้นที่มีน้ำไม่พอ เพราะแหล่งน้ำหลักมาจากแม่น้ำดงไน สายเดียวที่หล่อเลี้ยง 14 ล้านคนแถบนั้น หากดึงน้ำไปชาวบ้านจะเกิดปัญหา ส่วนไฟฟ้าที่รัฐบาลร่วมมือกับบริษัทจีนจะสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บทั้งน้ำและปั่นไฟ แต่ก็ไม่มีคำรับรองถึงความเสี่ยงจากความขัดแย้ง การทำลายป่าและปัญหาดินถล่มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โครงการเหมืองบอกไซต์ ถือเป็นผลงานของ “พรรคคอมมิวนิสต์” เพราะเจรจาผ่านผู้นำพรรคฯ ตั้งแต่ปี 2001 ปัญหาการเมืองในเวียดนามหลังจากนั้น คือ ผู้นำฯ ไม่เคยเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่กลับใช้วิธีเลี่ยงกฎหมาย เช่น ไม่เสนอโครงการผ่านสภา แถมแยกโครงการให้เป็นโครงการย่อย ให้เห็นว่าเป็นโครงการเล็กและไม่ใช่การลงทุนของจีน แต่เป็นของบริษัทเวียดนาม
จนปี 2007 กรรมการพรรคฯ ออกกฎหมายว่าด้วยแผนการทำเหมือง จึงเกิดปฏิกิริยาจากคนเวียดนามทันที ที่นอกจากคนท้องถิ่นที่ไร้ที่ทำกินประท้วงไปก่อนหน้าแล้ว ยังถูกประท้วงจากนักวิชาการ ผู้นำทางสังคมและประชาชนตั้งคำถามต่อพรรค มีการประท้วงมากมายหลังปี 2008 แต่สื่อกระแสหลักไม่สนใจ มีเพียงสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่โดยนักข่าวทางเลือก ซึ่งมีคนเข้าดูถึง 17 ล้านคน รัฐบาลเองก็รู้และพยายามหยุดกระแสด้วยการปิดเว็บ แต่ก็มีเว็บใหม่ๆ กว่า 300 เว็บเกิดขึ้น กระแสในสื่อออนไลน์ยังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเหตุการณ์ภายนอก การยื่นอุทธรณ์ ล่ารายชื่อ ซึ่งมีทั้งอดีตทูตและอดีตผู้นำพรรคฯ เข้าร่วมเรียกร้องให้ยุติโครงการ เพราะมองว่า สัมปทานแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการล่าอาณานิคม
หากมองผ่านสัมปทานเหมืองที่ว่ามา พบว่า พรรคคอมมิวนิสต์รวบรัดตัดความ ไม่ให้คนเวียดนามมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการปฏิเสธ เพราะมองว่าเหมืองและโครงการต่อเนื่อง ไม่ว่า โรงไฟฟ้าและอื่นๆ ในบริเวณเหมืองไม่ได้ให้ประโยชน์กับคนท้องถิ่น มีแต่ประโยชน์ของบริษัทจีนเท่านั้น ทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการเมืองเรื่องทรัพยากรเท่านั้น แต่โยงความคิดชาตินิยมไว้ด้วย
...มองกรณีเวียดนามแล้ว หันมาดูเหมืองแร่โปแตสฯ ในอีสานบ้านเราบ้าง จีนร่ำๆ หาอยู่ไม่น้อย ซึ่งรัฐบาลไทยมองเศรษฐกิจของชาติ แต่ผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น คงไม่ยอมกันง่าย...