ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพ กระทบใครบ้าง?

ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพ  กระทบใครบ้าง?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้กดเศรษฐกิจทั่วโลกไว้ จนกระทั่งการแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นมา กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจเริ่มมีการเคลื่อนไหวซึ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ

แต่สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซียกลับกลายเป็นปัจจัยที่กดเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังฟื้นให้ชะลอตัวลงมาอีก 

ราคาน้ำมันทะยานขึ้นไปผลักดันให้ราคาสินค้าต้องทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นระลอกๆ ปัญหาค่าครองชีพ และเงินเฟ้อ เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลจะต้องพยายามแก้ไข เพราะถ้าปล่อยให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นอยู่เรื่อย ก็ย่อมจะเป็นภัยแก่การเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน

++ ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึงอะไร หน้าที่ใครต้องกำกับควบคุม

ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน 

ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อ มีหน่วยงานทำหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องเงินเฟ้อ หลักๆ 2 หน่วยงาน คือ กระทรวงพาณิชย์ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ดูแลราคาสินค้าและบริการไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสหรือเอาเปรียบผู้บริโภค หรือตรึงราคาไว้ในช่วงที่สินค้าขาดแคลนระยะสั้น

นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตามรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการ ที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำทุกวันจากตลาดและแหล่งจำหน่ายต่างๆ ทั่วประเทศ นำมาคำนวณจัดทำเป็นดัชนีที่เรียกว่า “ดัชนีราคาผู้บริโภค” เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ภาวะเงินเฟ้อสามารถวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าว ซึ่งเรียกตัวชี้วัดนี้ว่า “อัตราเงินเฟ้อ” 

และอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งดำเนินนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และความกินดีอยู่ดีของประชาชน

ล่าสุด สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (CPI) เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2565 เท่ากับ 107.58 สูงขึ้น 1.40% เมื่อเทียบจากเดือนที่ผ่านมา และสูงขึ้น 7.66% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่อง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาพลังงานเป็นส่วนใหญ่และยังคงมีราคาสูงขึ้น

คาดว่า ดัชนีผู้ผลิตไตรมาส 3 มีแนวโน้มพุ่ง ผู้บริโภคเตรียมใจซื้อสินค้าแพงขึ้น เดือน มิ.ย. สูงขึ้น 13.8% จากราคาวัตถุดิบ ต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าที่สูงขึ้น ประกอบกับความต้องการทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 39.97% ตามมาด้วย ค่าไฟฟ้า 45.41% และราคาก๊าซหุงต้ม 12.63% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6.42%

++ รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพ

รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ปัญหาการใช้จ่ายของประชาชน” เมื่อสอบถามถึงรายได้ปัจจุบันของประชาชน พบว่า 47.10% ระบุว่า รายได้ลดลง รองลงมา 46.72% ระบุว่า รายได้เท่าเดิม และ 6.18% ระบุว่า รายได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับรายจ่ายในแต่ละเดือนของประชาชน พบว่า 60.06% ระบุว่า รายได้ น้อยกว่ารายจ่าย 32.62% ระบุว่า รายได้พอๆ กับรายจ่าย และ 7.32% ระบุว่ารายได้มากกว่ารายจ่าย

เมื่อถามถึงการใช้จ่ายในปัจจุบันที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด อันดับ 1 ราว 32.73% ระบุว่า การใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ตามด้วย 25.79% ระบุว่า การใช้จ่ายด้านอาหารประจำวัน 13.47% การใช้จ่ายด้านไฟฟ้าในครัวเรือน 6.10% การใช้จ่ายด้านแก๊สหุงต้ม 3.36% การใช้จ่ายด้านการผ่อนชำระค่ารถ และ 3.18% การใช้จ่ายด้านน้ำประปา

 

++ ผลกระทบของเงินเฟ้อต่อกลุ่มคนต่างๆ ในประเทศ

จากงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กษวรรณ ขจรเสรี สาขาวิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงอันเกิดจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคต้องรับภาระจากราคาสินค้าต่างๆที่สูงขึ้นแต่กระนั้น ผู้บริโภคแต่ละกลุ่มก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกันดังนี้

1.คนชนบทได้รับผลกระทบมากกว่าคนในเมือง ด้วยเหตุที่แหล่งการผลิตส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้เมืองเนื่องจากพื้นที่ชนบทมีต้นทุนค่าขนส่งและการกระจายสินค้าสูงกว่าภาวะน้ำมันแพงจึงทำให้ระดับราคาสินค้าในชนบทสูงขึ้นเร็วกว่าในเมือง

2.คนที่มีรายได้ต่ำได้รับผลกระทบมากกว่าคนที่มีรายได้สูง การศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในภาวะปัจจุบัน กลุ่มคน 20%  ที่มีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 5.9% ของรายได้ขณะที่กลุ่มคน 20% ที่มีรายได้สูงที่สุดของประเทศมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 2.2% ของรายได้

3.ผู้ที่มีรายได้ประจำได้รับผลกระทบมากกว่าเกษตรกร ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันจะกระทบต่อแรงงานและลูกจ้างที่มีรายได้ประจำมากกว่าเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น ขณะที่แรงงานและลูกจ้างที่มีรายได้ประจำมีรายได้ที่แท้จริงลดลง จะเห็นว่าโดยมากกลุ่มคนที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมน้อยกว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อมากกว่า ด้วยเหตุนี้ปัญหาเงินเฟ้อจึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลควรรีบเร่งในการแก้ไข ก่อนจะเป็นปัญหาระยะยาวจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง

++ รัฐต้องแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและเงินเฟ้ออย่างไร?

ภาครัฐต้องใช้นโยบายการคลังแบบเข้มงวดในการลดทั้งอุปสงค์และอุปทาน ไปพร้อมๆ กัน ฟังดูเหมือนจะยากแต่ก็ต้องดำเนินการโดยเร็วในด้านการลดอุปสงค์มวลรวม วิธีนี้รัฐบาลต้องพยายามลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ หรือจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบเกินดุล การลดอุปสงค์มวลรวมทำได้โดยลดค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเอกชน ลดการใช้จ่ายลงทุนของเอกชน ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และควบคุมราคาสินค้า ส่วนการลดอุปทานมวลรวมหรือต้นทุนการผลิตทำได้โดย ควบคุมค่าแรงขั้นต่ำ ควบคุมการเพิ่มขึ้นของกำไรของผู้ผลิต ควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบ

ปัญหาค่าครองชีพ และ เงินเฟ้อ เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลจะต้องพยายามแก้ไข เพราะถ้าปล่อยให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นอยู่เรื่อย ก็ย่อมจะเป็นภัยแก่การเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน ภาวะเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยอาจช่วยให้มีการค้าง่ายขายคล่อง ทำให้มีการค้าง่ายขายคล่อง ทำให้คนมีเงินที่จะไปลงทุนส่งเสริมการเจริญทางเศรษฐกิจ

แต่เมื่อภาวะเงินเฟ้อถึงขั้นรุนแรง รายได้อันแท้จริง (real income) ของประชาชนจะตกต่ำลงอย่างมาก กระทบกระเทือนการครองชีพของประชาชนพวกที่มีรายได้ประจำอย่างรุนแรง คนงานอาจขอขึ้นค่าแรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตราคาวัตถุแพงหมุนเวียนเป็นวัฏจักร ผลร้ายของเงินเฟ้ออย่างรุ่นแรงอย่างต่อเนื่อง 

ฉะนั้น รัฐบาลย่อมจะต้องพยายามดำเนินนโยบายมิให้ภาวะเงินเฟ้อเข้าสู่ขีดรุนแรงจนยับยั้งไม่ไหว