ปัญหาความตึงเครียดระลอกใหม่ที่คุกรุ่นขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
หนึ่งในข่าวที่ร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ข่าวการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่จุดชนวนความตึงเครียดระลอกใหม่ในช่องแคบไต้หวัน โดยทั่วโลกต่างลุ้นระทึกว่า จีน จะมีท่าทีหลังจากนี้ต่อทั้งสหรัฐฯ และไต้หวันอย่างไร
ทั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์และในทางการค้าระหว่างประเทศ หลังจากมีการออกแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าว และจัดให้มีการซ้อมรบโดยใช้กระสุนจริงบริเวณช่องแคบไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีการตอบโต้ทางเศรษฐกิจโดยการระงับการนำเข้าและส่งออกสินค้ากับไต้หวัน อาทิเช่น ทรายธรรมชาติ และสินค้าทางการเกษตรอีกด้วย
ความตึงเครียดนี้เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองและติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลกระทบในหลายมิติกับทุกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องกำแพงภาษีระหว่าง จีน-สหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้มีลุ้นว่าจะผ่อนคลายเพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อในสหรัฐฯ
การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน สู่ระดับ 2.25% - 2.50% ในการประชุมรอบล่าสุด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้สู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครต ที่ต้องรับมือให้ดีเพราะการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ กำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อนี้ เกิดขึ้นกับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกที่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
อีกฝากหนึ่งของการดำเนินนโยบายทางการเงิน ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงเดินหน้าที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลาย ส่งผลให้ภาพรวมค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) น่าจะเจอสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะลำบาก
ทั้งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลกลาง ที่น่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2565 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5% ปัญหาความเชื่อมั่นและขาดสภาพคล่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่ยังไม่มีวี่แววจะสิ้นสุด และเริ่มลุกลามมายังภาคการเงินการธนาคาร
บาทอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับปอนด์สเตอลิง ยูโร และเยน
การดำเนินนโยบายทางการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อค่าเงินของประเทศนั้น ๆ ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 7%[1] เมื่อเทียบกับเงินบาท ในขณะที่เงินปอนด์สเตอร์ลิง เงินยูโร และเงินเยนอ่อนค่าลง 4%, 4% และ 8% ตามลำดับ
ด้วยความที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์สเตอร์ลิง ยูโร และเยนในช่วงที่ผ่านมา และการผ่อนคลายเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังประเทศในทวีปยุโรปกันอย่างหนาตาในช่วงที่มา
จากข้อมูลของผู้ใช้งาน YouTrip ผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ตรองรับหลายสกุล โดยเปรียบเทียบการใช้จ่ายในช่วงเดือน มี.ค. 65 กับเดือน ก.ค. 65 พบว่า ภาพรวมของการใช้จ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศในร้านค้าเติบโตขึ้นมากกว่า 500% โดยการใช้จ่ายเป็นสกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง ยูโร และเยนเติบโตขึ้น 130%, 200% และ 160% ตามลำดับ
ค่าเงินผันผวน เราควรทำตัวอย่างไร
สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีแผนเดินทางไปต่างประเทศในช่วงปลายปีนี้ การทยอยล็อกเรท แลกเงินล่วงหน้า ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตรองรับหลายสกุล เช่น YouTrip สามารถช่วยควบคุมต้นทุนในทริปต่างประเทศได้ เพราะแนวโน้มค่าเงินในอนาคตมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ และภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับนักธุรกิจที่ต้องใช้จ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศ การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การทำสัญญาซื้อขายค่าเงินล่วงหน้า (Forward) การประกันค่าเงิน (Options) จะช่วยให้เราสามารถคำนวณต้นทุนในการทำธุรกิจได้ และไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับนักลงทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ ปีนี้พอร์ตต่างประเทศที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์คงได้กำไรจากค่าเงินมาชดเชยผลตอบแทนของตลาดทุนที่ติดลบในช่วง 7 เดือนแรก การติดตามแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อหาทางล็อกกำไรจากค่าเงินหากแนวโน้มค่าเงินเริ่มกลับทิศ อาจช่วยให้ผลกำไรจากการลงทุนกลับมาเป็นบวกในปีนี้ได้
[1] คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันถัวเฉลี่ยจากธนาคารแห่งประเทศไทยระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 64 กับ 5 ส.ค. 65