รัฐบาลต้องเร่งเจรจากับสหรัฐ เรื่อง FATCA
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันเช่นเคยทุกวันพุธที่สามของเดือน
หลายท่านคงจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act หรือ FATCA มาบ้าง ผมจึงขอเขียนถึงเรื่องนี้ในวันนี้ เนื่องจากจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ และจะมีผลกระทบค่อนข้างมากกับระบบการเงินและสถาบันการเงินของไทยเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกัน บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ รวมไปถึงลูกค้าของสถาบันการเงินเหล่านี้ ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
กล่าวโดยย่อ FATCA คือ กฎหมายของประเทศสหรัฐ ที่ออกมาเพื่อบังคับให้สถาบันการเงินนอกสหรัฐ ทุกแห่งทั่วโลกมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลบัญชีและธุรกรรมทางการเงินของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสัญชาติอเมริกันที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินนั้นๆ ไปยังกรมสรรพากรสหรัฐ (Internal Revenue Service หรือ IRS) สำหรับใช้ตรวจสอบและป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของชาวอเมริกันและบริษัทอเมริกันที่มีรายได้จากนอกสหรัฐ นอกจากนั้นสถาบันการเงินนอกสหรัฐ ยังมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายบางประเภทจากลูกค้าสัญชาติอเมริกันและนำส่งให้กับ US IRS อีกด้วย
ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาก่อนอาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะกฎหมายของสหรัฐ ไม่น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในประเทศไทย ดังนั้นถ้าเราไม่ทำตามก็ไม่น่าจะผิดอะไร แต่เหตุผลที่ผมต้องเขียนถึงเรื่องนี้เป็นเพราะกฎหมาย FATCA ฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า ถ้าเกิดกรณีที่สถาบันการเงินนอกสหรัฐ แห่งใดแห่งหนึ่งเลือกที่จะไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎหมาย FATCA สถาบันการเงินแห่งนั้นจะถูกลงโทษด้วยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย จากรายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการทำธุรกรรมในสหรัฐ เช่น การฝากเงิน การลงทุน หรือ การปล่อยสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เกิดจากเงินของสถาบันการเงินแห่งนั้นเอง หรือเงินของลูกค้าซึ่งรวมถึงลูกค้าที่ไม่ได้มีสัญชาติอเมริกันอีกด้วย และที่สำคัญภาษีนี้จะคำนวณจากผลรวมของเงินต้นบวกผลตอบแทน ไม่ใช่คิดจากผลตอบแทนแต่เพียงอย่างเดียว โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2557
สรุปง่ายๆ ผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยก็คือ
1.สถาบันการเงินที่ไม่เข้าร่วม (Non Participant Foreign Financial Institutions (NPFFIs)) จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 30 จากรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการทำธุรกรรมในสหรัฐ
2.นักลงทุนไทยที่ลงทุนผ่าน NPFFIs ของไทย เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่มีการลงทุนในสหรัฐ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จะถูกสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ (PFFIs) หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 30
3.สถาบันการเงินไทยอาจถูกปฏิเสธการทำธุรกรรมจาก PFFIs ในต่างประเทศ เนื่องจาก PFFIs ไม่ประสงค์ที่จะมีภาระในการนำส่งข้อมูลหรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวมถึงปัญหาข้อยุ่งยากทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของประเทศ
จะเห็นว่าเวลานี้เรามีทางเลือกแค่ 2 ทางคือ เข้าร่วมโครงการโดยการเซ็นข้อตกลงกับ US IRS หรือไม่ก็เลิกทำธุรกรรมทุกประเภทในประเทศสหรัฐ หยุดดำเนินธุรกิจกับบุคคลและนิติบุคคลสัญชาติอเมริกัน และเลิกติดต่อกับสถาบันการเงินทุกแห่งในสหรัฐ รวมทั้งสถาบันการเงินต่างชาติทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ (PFFIs) ในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สถาบันการเงินทุกแห่งของไทยจะหยุดทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐ ดังนั้นจึงมีเพียงทางเลือกเดียวคือเราต้องยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดของ FATCA อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ปัญหาใหญ่คือความยุ่งยากและขั้นตอนที่มากมายในการที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะต้องไปเซ็นข้อตกลงกับ US IRS กันเอง อีกทั้งกฎหมายไทยก็ไม่อนุญาตให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลของลูกค้ายกเว้นมีคำสั่งจากศาลหรือจากหน่วยงานที่กำกับดูแลเท่านั้น ในหลายประเทศที่มีการเซ็นข้อตกลงกับ US IRS เรียบร้อยแล้ว เช่น United Kingdom, Denmark, Mexico หรือ Switzerland รัฐบาลเขาใช้วิธีเจรจาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยการทำ Intergovernmental Agreement (IGA) เพื่อหาแนวทางและความร่วมมือในการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศ และเพื่อขอยกเว้นหรือผ่อนผันการดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎหมาย FATCA ในบางเรื่อง ที่สำคัญคือสถาบันการเงินของประเทศเหล่านั้นมีหน้าที่เพียงการทำข้อตกลงและส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากรของประเทศตัวเอง แทนที่จะต้องไปดำเนินการกับ US IRS อีกหลายประเทศเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และจีน ก็กำลังทำการเจรจาแบบ IGA กับรัฐบาลสหรัฐ เพื่อหาทางออกให้กับสถาบันการเงินของเขา
เพื่อให้ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญและเร่งด่วนของเรื่องนี้ ในการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมจึงได้เสนอความเห็นในที่ประชุมซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่ารัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และรีบดำเนินการเจรจากับสหรัฐอย่างเร่งด่วน ด้วยแนวทาง IGA มิเช่นนั้นกฎหมาย FATCA จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของตลาดเงินตลาดทุนและความน่าเชื่อถือในสถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศไทย รวมทั้งเป็นภาระและต้นทุนในการดำเนินงานสำหรับการปฏิบัติตามข้อตกลงของกฎหมายดังกล่าวอย่างมาก และเป็นที่น่ายินดีว่าท่านนายกฯ เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ที่ประชุมกรอ. จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับไปพิจารณาดำเนินการเจรจากับสหรัฐต่อไป
เพื่อเป็นแนวทางในการเจรจา ผมในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย จึงใคร่ขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลเร่งเจรจาเพื่อทำข้อตกลงระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลในเรื่องกฎหมาย FATCA ภายใน 31 ธันวาคม 2556 โดยการขอรับการยกเว้นข้อกำหนด หรือไม่ต้องดำเนินการในบางเรื่อง
2.ขอให้กรมสรรพากรเป็นองค์กรกลางในการรวบรวมข้อมูลที่สถาบันการเงินจะต้องนำส่งให้กับ US IRS
3.เร่งรัดการออกหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า ซึ่งประกอบไปด้วย พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น การยินยอมให้สถาบันการเงินนำส่งข้อมูลตามกฎหมาย FATCA และ การให้อำนาจสถาบันการเงินในการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากสถาบันการเงินที่ไม่ได้เข้าร่วมกับ FATCA
ผมหวังว่า เราจะสามารถทำทุกอย่างให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีนี้ เพื่อไม่ให้กฎหมาย FATCA กลายเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจของภาคเอกชนและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย พบกันใหม่เดือนหน้า สวัสดีครับ