หน้าร้อน ความโกรธ ผู้นำ

หน้าร้อน ความโกรธ ผู้นำ

ผลพวงอย่างหนึ่งของอุณหภูมิที่ร้อนในปัจจุบันก็คืออุณหภูมิและความโกรธในตัวเราที่มีมากขึ้นตามมา

ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูครับจะพบว่าในปัจจุบัน เจ้าความโกรธนั้นดูเหมือนจะมาเยือนเราได้ในช่วงอากาศร้อนๆ แบบนี้ได้มากกว่าช่วงปกติ ประกอบกับองค์ประกอบอื่นๆ อีก ไม่ว่า สภาพการจราจรที่ติดขัด ความขัดหูขัดตาต่อการออกมาให้สัมภาษณ์ทางสื่อของนักการเมืองบางคน หรือ แม้กระทั่งเหตุการณ์ชุมนุมต่างๆ ก็ยิ่งทำให้คนไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับความโกรธที่มีมากขึ้นกว่าปกติ

American Psychological Association ระบุไว้ว่าโดยธรรมชาติเมื่อเรามีความโกรธแล้ว เราจะมีปฏิกิริยาในการจัดการความโกรธ (ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเองโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) อยู่สามวิธีได้แก่ Expressing Supressing และ Calming ท่านผู้อ่านลองสังเกตตัวท่านและบุคคลรอบข้างนะครับว่าใช้แนวทางไหนในการจัดการกับความโกรธเมื่อเกิดขึ้นกับตัวท่าน

Expressing นั้น เป็นการแสดงออกถึงอารมณ์หรือความโกรธออกมาให้ผู้อื่นรับทราบ การแสดงออกถึงความโกรธ ดูเหมือนจะกลายเป็นวิธีการจัดการกับความโกรธที่คนไทยชอบแสดงออกมามากในระยะหลัง ไม่ว่าจะด้วยการแสดงออกทางร่างกาย อารมณ์ คำพูด การกระทำ หรือ สีหน้า อย่างไรก็ดีการแสดงออกซึ่งความโกรธนั้นถ้ารุนแรงเกินไป ก็จะส่งผลเสียต่อทั้งตนเองและบุคคลรอบข้างได้ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าแสดงออกมาในระดับที่เหมาะสมและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็อาจจะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการได้

Suppressing เป็นการกดหรือเก็บความโกรธไว้ ไม่แสดงออกถึงความโกรธ อย่างไรก็ดีการเก็บหรือกดความโกรธไว้นั้นก็มีสองลักษณะทั้งดีและไม่ดี ในส่วนของข้อดีนั้น ถ้าเราเก็บความโกรธไว้และแปลงเป็นพลังงาน ก็จะสามารถนำเจ้าอารมณ์จากความโกรธนั้นไปสู่สิ่งที่ดี อย่างไรก็ดีข้อเสียของการเก็บหรือกดความโกรธไว้ก็มีเช่นเดียวกันครับ นั้นคือถ้าเก็บสะสมความโกรธไว้กับตัวเองมากๆ ก็จะทำให้ตนเองกลายเป็นพวก เก็บกด หดหู่ หรือ อารมณ์ที่ผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังมีพวกที่เก็บความโกรธไว้ ไม่แสดงออก แต่จะคอยหาทางเอาคืน คอยกลั่นแกล้ง บุคคลอื่นตลอดเวลา คนประเภทนี้จะคล้ายๆ ตัวละครในนิยายกำลังภายในของจีนที่มักจะบอกว่า “แก้แค้นสิบปีก็ยังไม่สาย”

สุดท้ายคือพวก Calming ครับ นั้นคือเมื่อโกรธแล้วสามารถสงบจิตสงบใจลงได้ ไม่เก็บความโกรธไว้กับตัว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ระเบิดใส่ผู้อื่น พวก Calming นั้นจะมีความสามารถในการทำให้อารมณ์โกรธค่อยๆ จางหายไปในที่สุด และไม่เก็บกดอยู่ภายใน

ท่านผู้อ่านลองดูนะครับว่าท่านเองมีแนวทางในการจัดการกับความโกรธในแบบไหน คำถามต่อมาที่ผมเองก็สงสัยมานานแล้วว่า ทำไมคนบางคนถึงโกรธง่ายหรือมีจุดเดือดต่ำกว่าผู้อื่น ไม่ว่าจะโมโหโกรธาผู้อื่นได้โดยง่ายดาย หรือ เป็นพวกที่หงุดหงิดในเรื่องต่างๆ ได้ง่าย ซึ่งก็พบว่ามีสาเหตุหลายประการครับเริ่มตั้งแต่พันธุกรรมเลยทีเดียว ที่มีรายงานศึกษาว่าเด็กทารกบางคนจะหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายกว่าเด็กคนอื่น และอารมณ์ดังกล่าวก็จะติดตัวมาจนถึงผู้ใหญ่ นอกจากพันธุกรรมแล้วปัจจัยในเรื่องของการพื้นฐานครอบครัวก็สำคัญครับ ผู้ที่มาจากครอบครัวที่แตกแยกหรือมีปัญหา หรือครอบครัวที่มักจะไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์กันเท่าใดก็มักจะโกรธง่ายครับ สุดท้ายคงจะเป็นเรื่องของสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่แต่ละบุคคลต้องเผชิญครับ ก็ส่งผลว่าทำไมบางคนอุณหภูมิหรือจุดเดือดถึงต่ำกว่าผู้อื่น

สำหรับผู้นำหรือผู้บริหารนั้น ความสามารถในการจัดการกับความโกรธก็ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญครับ ผู้นำที่โมโห หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย และแสดงออกถึงความโกรธนั้นกับบุคคลรอบข้างตลอดเวลา ก็มักจะนำไปสู่ปัญหาในการบริหารคน แต่ก็ใช่ว่าคนเป็นผู้นำนั้นห้ามโกรธเลย เพียงแต่เมื่อผู้นำเกิดอารมณ์โกรธแล้ว ผู้นำควรจะทำอย่างไร? เรื่องบางเรื่องอาจจะต้องใช้วิธี Calming ที่ต้องยอมปล่อยให้ความโกรธนั้นพัดผ่านไป แต่ในบางเรื่องก็อาจจะต้องใช้วิธี Suppressing ที่แปลงความโกรธเป็นพลังงานในการทบทวนตัวเอง ทบทวนเรื่องต่างๆ และใช้เป็นแรงในการขับเคลื่อนผลักดันการทำงานต่อไป และในบางสถานการณ์ก็ต้องใช้แนวทาง Expressing ที่จะแสดงออกให้ผู้อื่นรู้ว่าตนเองโกรธ โดยจะต้องมีการสื่อสารเป้าหมาย และสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจน เพื่อให้คนรอบตัวได้ตระหนักถึงสิ่งที่สำคัญหรือสิ่งที่ผู้นำอยากจะให้เกิดหรือให้ทำ เพียงแต่อาจจะต้องควบคุมการแสดงออกถึงความโกรธให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมนะครับ

สรุปได้ว่าคนเป็นผู้นำนั้นอาจจะต้องมีความสามารถในการเลือกใช้แนวทางในการจัดการความโกรธให้เหมาะสมกับสถานการณ์ครับ มีความยืดหยุ่นในการจัดการกับความโกรธ