ส่งใจถึง “ผู้หญิง” ของสุภาพบุรุษจุฑาเทพ

ส่งใจถึง “ผู้หญิง” ของสุภาพบุรุษจุฑาเทพ

คุณชายจุฑาเทพทั้งห้ามีความเป็นสุภาพบุรุษที่คนไทยโหยหากันทั้งประเทศ

ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยบอกเหตุมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน หลังละครเริ่มลงจอได้สองสามเดือน มีประชาชนนำชื่อพระเอกเหล่าคุณชายจุฑาเทพ มาตั้งเป็นชื่อลูกมากกว่า 1,000 คน โดยชื่อที่นิยมเป็นอันดับ 1 คือ รัชชานนท์

แต่ทว่าอยู่ที่ไหนเล่าในหัวใจผู้ชม ความเป็นสุภาพสตรีของผู้หญิงแห่งห้าสิงห์จุฑาเทพ

“นางสิงห์” ทั้งห้า ประสบความสำเร็จในชีวิตรักและทางสังคมอย่างงดงามเหลือล้น เธอทั้งสวย ทั้งเก่ง มีการศึกษา (แม้จะจน) ฉลาด แสนดี และแสนอดทน ต่อความอิจฉา กลั่นแกล้ง ความชั่วร้ายทุกชนิด เป็นหญิงสูงศักดิ์ถึง 2 คน สูงศักดิ์กว่าคุณชายผู้สามีเสียอีก คือ ท่านหญิงวรรณรสา และเจ้าหญิงสร้อยฟ้า

คณะผู้เขียนบทโทรทัศน์โดยอิงจากหนังสือชื่อเดียวกันนี้ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2554 ตลอดจนทีมงานผู้สร้าง ดารานักแสดงทุกคน ทำงานได้ดีมาก มีการค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทางสังคม การเลือกเพลงประกอบ เช่น อาทิตย์อับแสง (ดนตรีพระราชนิพนธ์ พ.ศ. 2492) เครื่องแต่งกาย และ ฉาก ตามยุคสมัย (period) เดินเรื่องได้สนุก การถ่ายทำประณีต แฝงเนื้อหาสาระให้เหล่าคุณชายทั้งหลาย เป็น “ขบถ” กับความล้าหลังในชนชั้นสูงของตัวเองได้อย่างสุภาพนิ่มนวล

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บทบาท “ขบถ” ทั้งเล็กๆ และใหญ่ๆ ของเหล่าคุณชายสุภาพบุรุษ ไม่ว่าจะในเรื่องการมีอาชีพทำงานทำการ ปฏิเสธการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ไม่ยึดมั่นในฐานันดร เชื่อในความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ เช่น หากเท้าของคนจน เมื่อบาดเจ็บ หมอที่เป็นคุณชายจะไม่รักษาหรืออย่างไร นี่เป็นคำถามของคุณชายหมอที่ถามอย่างสุภาพและเคารพในอาวุโสของหม่อมย่า ตลอดจนการเป็นนักบินที่คุณชายรณพีร์ต้องปฏิบัติตนเหมือนทหารคนอื่นๆ ฯ เป็นคุณค่าที่ร่วมสมัยถูกอกถูกใจผู้ชมในยุคสมัยความเสมอภาคอย่างยิ่ง

ลองคุณชายทั้งห้างานการไม่ทำ ทำตัวหยิ่งยโส แบ่งชั้นวรรณะ แสนหล่อแสนดีอยู่แต่ในครอบครัวอย่างไร ก็คงไม่ฮอตฮิตขนาดนี้

แต่ทว่า ผู้หญิงของคุณชายทุกคน ถูกจำกัดตัวอย่างมากอยู่ในกรอบบทบาทดั้งเดิม หญิง-ชาย

ในขณะที่คุณชายทุกคนมีอาชีพ ทำงานทำการและรักงานของตัวเอง ผู้หญิงของคุณชาย ทุกคนดูทีท่าจะเลิกทำงานในอาชีพกันหมด แม้จะทำได้ดีและได้เคยทำงานตัวเป็นเกลียวมาตั้งแต่เกิดตามกำเนิดทางสังคม มียกเว้นเพียงคนเดียว ที่ยังสอนหนังสืออยู่หลังได้เป็น “จุฑาเทพ” ทั้งที่ การทำอาหาร (ของกรองแก้ว) ก็ดี และความรู้ความสามารถทางนาฏศิลป์ (ของเพียงขวัญ) เป็นศาสตร์เป็นศิลป์ชั้นสูง ต่อยอดเป็นงานเป็นการได้แน่นอน

ว่าที่ “นางสิงห์” ทุกคนต่างเดินเชื่องๆ เข้าสู่ด่านทดสอบความเป็น “ผู้หญิง” ด้วยการเข้าครัวทำอาหาร การบ้านการเรือน ไม่มีสักครั้งที่จะได้แสดง หรือ ผ่านการทดสอบความรู้ความคิดความอ่านของพวกเธอเลย ทั้งๆ ที่ในขณะนั้น “ความเป็นอื่น” ของหญิงไทยนอกจากบทบาทเข้าครัวปรนนิบัติพัดวี มีปรากฏแล้ว เช่น ม.ล. มารตี ได้เรียนเป็นพยาบาล ม.ล. วิไลรัมภา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นต้น

สำหรับผู้ชมสมัยนี้ ที่บทบาทดั้งเดิมหญิง-ชายเปลี่ยนไปมากแล้ว หญิงไทย ได้เป็นทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กระทั่งคนกล้าออกมา “เป่านกหวีด” การทุจริตในการจำนำข้าวทุกขั้นตอน แสดงข้อมูลสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศให้คนทั้งประเทศได้รู้อยู่ในขณะนี้ ก็คือ ผู้หญิงอกไม่ถึงสามศอกผู้มีชื่อว่า น.ส. สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว

“นางสิงห์” แห่งวังจุฑาเทพ จึงดูจืดชืด “ตกสมัย” ไปไม่น้อย มีเสียงจากเฟซบุ๊คบ่นเสียดาย ม.ล. มารตี กับ ม.ล. วิไลรัมภา ที่เรียนมาขนาดนั้น น่าจะมีสติคิดอ่านอื่นบ้าง

มาตรแม้นว่า มี “นางสิงห์” สักคน ทำงานในกระทรวงการคลัง หรือเป็นลูกชาวนาอยุธยา ผู้ได้ทุนเรียนหนังสือพัฒนาตนจนมีความคิดอ่านแตกฉาน ด้วยบทสนทนาใน สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ที่เขียนได้คมคาย ผู้แสดงเปล่งเสียงพูดได้จังหวะจะโคนจนแทบจะเป็นละครเวทีดีๆ ไม่ใช่ละครตู้ที่ ทำง่ายๆ สุกเอาเผากินก็ยังได้ นางสิงห์ลูกสาวชาวนา คนนี้ คงจะสามารถแจงได้ด้วยชีวิตของเธอและถกเถียงด้วยวาจาอย่างคมกริบ เรื่องอาชีพทำนา ราคาข้าว ฯ ชนิดคำต่อคำ คิดดูเถิดว่า สุภาพบุรุษจุฑาเทพ จะจับใจผู้ชมที่เห็นอกเห็นใจชาวนาไทยได้อีกขนาดไหน

แค่เว้าอีสานอันเป็นภาษาถิ่นของภูมิภาคที่เคยครองตำแหน่งยากจนที่สุด “อีส่อย” หรือเจ้าหญิงสร้อยฟ้าก็เป็นสุดที่รักที่เอ็นดูของผู้ชมกันทั้งประเทศแล้วโดยมีคุณชายรัชชานนท์ (ผู้ซึ่งชื่อเป็นที่นิยมอันดับ 1) ยอมเป็นกระสอบทรายให้ผู้หญิงของคุณชายทั้งทุบทั้งถองตลอดเรื่อง

อย่าลืมว่า ใน “พีเรียด” เดียวกันนั้น แม้ตัวละครหญิงหวานแหววในรั้วในวังอย่าง ปริศนา ของ ว.ณ. ประมวญมารค เธอก็เป็นครูสอนหนังสือ ยิ่งในปี 2556 นี้ ที่ยูเนสโกประกาศยกย่อง 100 ปีชาตกาล ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าทั้งในชีวิตจริง และ นิยาย หญิงไทยมีความคิดความอ่านมีบทบาทมากกว่าในครัวและครอบครัวได้ผุดได้เกิดแล้ว ตั้งแต่ “พีเรียด” นั้น

นวนิยาย แสดงเนื้อหา “พีเรียด” ร่วมสมัย กับ สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ฝีมือ ม.ล. บุญเหลือ ผู้มีความรู้ประสบการณ์จริงจากในรั้วในวัง ก็เช่น เรื่อง ทุติยะวิเศษ สุรัตนารี มีตัวละครหลักเป็นผู้หญิง เนื้อเรื่องอยู่ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2475 / พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา มีหลายรสทั้ง ความรัก สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

ทีมงานเก่งๆ แห่ง สุภาพบุรุษจุฑาเทพ อาจได้แรงบันดาลใจดีๆ ทำละครบันเทิงและแฝงสาระ “ขบถ” อย่างแนบเนียนแบบเดียวกับที่ได้ทำมาในบทบาทของคุณชายแห่งวังจุฑาเทพขึ้นมาสักเรื่อง อาจสร้างปรากฏการณ์ตั้งชื่อตามได้ โดยเฉพาะเมื่อโดนใจคนไทยทั้งประเทศที่อยากเห็นหญิงไทยทำงานกู้สังคมกู้ชาติ ไม่ใช่ดีแต่ใช้เงินและกู้เงิน