ผิดสัญญาเช่าซื้อรถ : มีหนี้อะไรบ้างที่ต้องจ่าย
นโยบายรถคันแรกนั้นมีผู้คาดการณ์ตั้งแต่แรกแล้วว่า จะมีปัญหาตามมามากมาย ทั้งทำให้รถติดมากขึ้น และปัญหาผู้เช่าซื้อรถไม่สามารถผ่อนต่อไปได้
รถจะถูกยึดและเป็นคดีความสู่ศาลมากขึ้น
ศาลยุติธรรมก็ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการผิดสัญญาเช่าซื้อรถคันแรก โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการ “โครงการรถยนต์คันแรกกับการผิดสัญญาเช่าซื้อ” ขึ้น โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นวิทยาการในการสัมมนา ที่น่าสนใจคือ ความเห็นของวิทยากร นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ปรากฏตามข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันกรอบบ่ายวันที่ 6 มิถุนายน 2556 คือ
นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ แสดงความเห็นว่า การจองรถซื้อรถเป็นเรื่องของการแสดงเจตนาที่ผู้ซื้อมุ่งก่อนิติสัมพันธ์กับผู้ขาย ปัญหาคือการขาดส่งค่างวด ปี 55 มีฟ้องกันแล้ว 32 คดี ศาลวิเคราะห์ปัญหาเช่าซื้อพบว่า แม้สัญญาเป็นเครื่องการแสดงเจตนาเท่าเทียมกันแต่ผู้บริโภคไม่มีใครกล้าขอเปลี่ยนแปลงสัญญาสำเร็จรูป เป็นเรื่องอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งหากทำสัญญากันแล้วศาลจะไม่ยุ่ง ยกเว้นพบว่าเป็นสัญญาไม่เป็นธรรม และขัดต่อปัญหาความสงบสุขเอาเปรียบประชาชน ศาลจะแก้ไขให้ ตัวอย่างเช่น จองรถ 1 คัน ขาดส่งโดนฟ้อง ไฟแนนซ์ตั้งฟ้องมีคำขอท้ายฟ้อง เรียกรถที่ค้างคืน ค่าเช่าซื้อที่ค้างคืน ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถ ค่าติดตามทวงคืนรถ ค่าดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งเป็นหนี้ซ้ำซ้อน ดังนั้น เมื่อซื้อรถ 1 คัน ราคา 1 ล้านบาท ผ่อนไป 3 แสนบาทแล้วขาดส่ง หนี้จะท่วมกลายเป็นรถคันละ 1.5 ล้านบาท ไฟแนนซ์ก็ตั้งฟ้องมา 1.5 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ถ้าศาลพิพากษาไปตามที่โจทก์ฟ้องมาอย่างนี้ศาลก็กลายเป็นตรายางให้โจทก์ "ศาลจะดูว่า ไม่ให้ไฟแนนซ์เสียหาย ไม่ให้ขาดทุน แต่ไฟแนนซ์จะต้องไม่เรียกซ้ำซ้อน ดอกเบี้ยศาลก็จะให้ตามกฎหมาย แต่หากลูกหนี้ไม่ผ่อนส่ง จึงจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ รวมถึงค่าเสื่อมราคา และชดเชยค่าเสียหายแก่ไฟแนนซ์ ศาลจะดูแลไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่คำพิพากษาไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของข้อพิพาท แต่ศาลยังมีระบบระงับข้อพิพาทเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งด้วย"
เรื่องที่ศาลจะดูแลไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบเรียกซ้ำเรียกซ้อนตามที่โฆษกศาลยุติธรรมแสดงความเห็นไว้ นั้น มีแนวบรรทัดฐานตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเช่าซื้อรถหลายคดี เช่น
ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2552 ที่วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่ ท. และโจทก์ได้เรียกเก็บเงินค่าเปลี่ยนสัญญา ค่าเปลี่ยนชื่อในเล่มทะเบียน โดยใช้แบบพิมพ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าตรวจสภาพรถ ค่าปรับล่าช้าและสั่งจ่ายเช็ครวม 6 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและโจทก์ยึดรถจากผู้ครอบครองคือ ท. และเป็นการยึดรถที่จังหวัดยโสธรอันเป็นภูมิลำเนาของ ท. ซึ่งโจทก์รับในฎีกาว่ายึดรถยนต์ได้จาก ท. พฤติการณ์ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็น ท. นั้น โจทก์จะไม่อนุมัติในภายหลัง สัญญาเช่าซื้อก็เป็นอันเลิกกันแล้วนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์
ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา แต่โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2553 คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาและนำออกประมูลขายทอดตลาด เมื่อนำมาหักกับราคาเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้วยังขาดอยู่อีก โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัด ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา 160,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์และดอกเบี้ยนั้นถือเป็นการคิดค่าเสียหายส่วนหนึ่ง เมื่อได้กำหนดค่าเสียหายให้เป็นจำนวนพอสมควรแล้วจึงไม่กำหนดให้อีก พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 160,000 บาท คำขออื่นให้ยกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แสดงว่าโจทก์มีสิทธิได้รับทั้งค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์ แต่เมื่อศาลกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคาให้โจทก์มากพอสมควรแล้ว จึงไม่กำหนดค่าขาดประโยชน์ให้อีก
ดังนั้น ในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบ ตามพฤติการณ์ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายเป็นค่าขาดราคา แต่โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ (แม้โจทก์แก้อุทธรณ์โดยไม่ได้ขอค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์) เพราะเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้อง และศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับอยู่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์จึงชอบแล้ว
คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว จะบังคับคดีให้จำเลยชำระราคารถยนต์แทนอีกไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3554/2554 ที่วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลได้กำหนดขั้นตอนการบังคับคดีเกี่ยวกับการส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทนไว้แล้ว จึงต้องดำเนินการบังคับคดีก่อนหลังกันไปตามลำดับดังที่ระบุไว้ในคำพิพากษา กล่าวคือ หากการบังคับให้คืนรถยนต์ไม่อาจกระทำได้ จึงให้บังคับเอาจากราคารถยนต์แทน เมื่อบริษัท ธ. ผู้ให้เช่าซื้อรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยแล้วโดยไม่ปรากฏว่ารถยนต์ดังกล่าวมีสภาพไม่เรียบร้อยใช้การไม่ได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาในส่วนที่ให้คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่บริษัท ธ. แล้ว บริษัท ธ. จะบังคับคดีให้จำเลยชำระราคารถยนต์แทนอีกไม่ได้ และย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่คิดจากราคารถยนต์ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัท ธ. ในระหว่างที่จำเลยยังครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอยู่ คำพิพากษาของศาลก็ได้กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์แก่บริษัท ธ. ไว้อีกส่วนหนึ่งด้วยแล้ว