ความจำเป็นของการศึกษา ประวัติศาสตร์ธุรกิจ
การจัดสัมมนาเรื่อง Creating Thai Capitalism during the Second Era of Globalization: Japanese influences
โดย คณะพาณิยชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 13-14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการจัดสัมมนาที่สำคัญของสังคมไทยในการจุดประกายให้เริ่มต้นที่จะมีการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจอย่างจริงจัง
แม้ว่าก่อนหน้านี้ สังคมไทยก็สนใจประวัติศาสตร์ธุรกิจกันพอสมควร และมีงานศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มีคุณภาพดี ไม่ว่าจะในแวดวงมหาวิทยาลัย หรือนอกมหาวิทยาลัย เช่น คุณวิรัตน์ แสงทองคำ หรือ คุณวิษณุ โชลิตกุล ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความ/งานประวัติศาสตร์ธุรกิจที่มีคุณภาพดีเยี่ยมจำนวนมาก แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
คำถามหลักๆ ของคณาจารย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก็มักจะออกมาทำนองว่าศึกษาไปทำไมประวัติศาสตร์ธุรกิจ ก็เลือกศึกษาการบริหารธุรกิจเลยไม่ดีกว่า แม้ในภาควิชาประวัติศาสตร์เอง เท่าที่ทราบก็มีเพียงภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ที่มีรายวิชาประวัติศาสตร์ธุรกิจแทรกอยู่
ความจำเป็นในการเริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจในสังคมไทยก็เพราะพลังของ “ธุรกิจ” ได้ฝังเข้าไปสู่สังคมและได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมให้เปลี่ยนแปลง
เราควรจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ “ธุรกิจ” ก็เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่การศึกษาเรื่องราวในอดีตเพื่อความรู้ของอดีต หากแต่เป็นการศึกษาอดีตเพื่อจะตอบคำถามของปัจจุบัน คำถามและความใคร่รู้เกี่ยวกับอดีตในแต่ละยุคแต่ละสมัยเกิดขึ้นจากการกำหนดของสภาพสังคมในปัจจุบันกาลนั้นๆ ความเปลี่ยนแปลงของความรู้ประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นตลอดเวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลง
ความสนใจในประวัติศาสตร์ธุรกิจในโลกเริ่มอย่างเข้มข้นมากขึ้นในทศวรรษ 1960 ในญี่ปุ่นก่อตั้ง Business History Association ในปี 1964 ก็เพราะอำนาจของธุรกิจและองค์กรทางธุรกิจได้ขยายเข้าไปสู่ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจเองก็ปรารถนาที่จะเข้าใจการขยายอิทธิพลของตนที่มีต่อสังคมให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อตอบคำถามเช่นนี้ในปัจจุบันขณะนั้นจึงทำให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความตระหนักถึงอิทธิพลของธุรกิจเพิ่มมากขึ้นและฝังเข้าไปในชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจของมนุษย์ แต่การขยายตัวของการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจเท่าที่ผ่านมากลับเป็นส่วนที่กลุ่มธุรกิจยังคงสามารถครอบงำและใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด เพราะแนวโน้มการศึกษามักจะจำกัดตัวอยู่ในขอบเขตของการทำธุรกิจ/บริษัท/ยุทธศาสตร์การปรับตัว เป็นต้น
ความรู้ประวัติศาสตร์เป็นการเพิ่มอำนาจ (Empowerment) ให้แก่ผู้รู้ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ธุรกิจกระแสหลักเท่าที่ผ่านมาก็เป็นการเพิ่มอำนาจให้เฉพาะกลุ่มนักทุน/ธุรกิจเท่านั้น ในแง่นี้ ประวัติศาสตร์ธุรกิจกระแสหลักจึงเป็นเทคนิคและเครื่องมือของอำนาจของกลุ่มทุนที่จะครอบคลุมสังคมไว้ให้ได้มั่นคงขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาประวัติศาสตร์สองสามทศวรรษหลังนี้เน้นอยู่ที่ความเข้าใจ “อดีต” เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้แก่ผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเน้น “ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง” (History From Below) ประวัติศาสตร์ประชาชน (People History) หรือ การศึกษาจากมุมผู้ถูกกดทับ (Subaltern Studies)
ด้วยความสำนึกว่าพลังของธุรกิจได้ฝังเข้าไปในชีวิตของสังคมแล้ว จึงทำให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจในอีกด้านหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ได้แก่ การศึกษาพลวัตของกระบวนการดำเนินธุรกิจในมิติต่างๆ นั้น ได้กระทบผู้คนและเปลี่ยนแปลงผู้คนไปอย่างไร เพื่อที่จะทำให้เข้าใจพลังของธุรกิจมากขึ้น เช่น ในหนังสือรวมบทความเรื่อง "International Business History : A Contextual and Case Approach" โดย Dennis M.P. McCarthy เป็นต้น
การศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจก็เป็นเช่นการศึกษาประวัติศาสตร์ทั่วไป คือ มีความเป็นสหวิทยาการโดยธรรมชาติ หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ “กลวง” เพราะไม่มี “วินัย/กฎเกณฑ์” ของศาสตร์หรือความเป็นวิชาที่ตายตัวมากำกับ จึงทำให้เกิดประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ และประวัติศาสตร์แนวต่างๆ ที่หลากหลายที่ปรับแนวคิดของศาสตร์ต่างมาใช้อธิบาย "อดีต"
ประวัติศาสตร์ธุรกิจจึงสามารถที่จะศึกษา “อดีต” ของสังคมจากด้านพลังของธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง ไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดตัวเองอยู่ในแวดวงของการศึกษาการเติบโตของบริษัท การย้ายฐานธุรกิจสู่ต่างชาติ หรือยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีของธุรกิจ หากแต่สามารถที่จะศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมที่เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีทางการค้าของบริษัทต่างๆ
ความจำเป็นที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจผ่านมุมมองผลกระทบที่มีต่อผู้คนในสังคม ยิ่งจะทำให้ประวัติศาสตร์ธุรกิจมีความหมายต่อสังคมมากขึ้นกว่าเดิมมาก และน่าจะกลายเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งต่อผู้ศึกษาและผู้อ่านงานประวัติศาสตร์ เช่น กระบวนการทำให้ "สินค้า" เปลี่ยนแปลงจากสินค้าฟุ่มเฟือยมาสู่ความจำเป็นที่จะต้องมี From Luxury to Necessity เพื่อที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการขายสินค้าไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลทำให้ผู้คนจำนวนมากกว่ามากถูกกระตุ้นให้ใช้ชีวิตเพียงเพื่อ "ความสนุก ความสะดวก ความสบาย" เท่านั้น
ผลกระทบของการขยายตัวของธุรกิจที่ทำให้เกิดความหมายของชีวิตที่มีแต่ "ความสนุก ความสะดวก ความสบาย" ปรากฏในทุกสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เติบโตมาพร้อมๆ กับธุรกิจเหล่านี้ คนญี่ปุ่นรุ่นราวคราวเดียวกับผมทั้งที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือทำงานบริษัททั่วไปก็จะพูดถึงเด็กรุ่นใหม่ว่าความมานะพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตนั้นลดลงมาก เด็กนักศึกษาไทยก็เช่นเดียวกัน พวกเขาพยายามจะหลีกหนีความ “ยากลำบาก” ตลอดเวลา
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพลังของธุรกิจที่ทำให้สินค้าของตนซึมลึกเข้าไปสู่ระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน แม้ว่าในโลกวันนี้ เราไม่สามารถปฏิเสธธุรกิจได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้คนในโลกสามารถที่จะเข้าตนเองว่าถูกกำกับในส่วนที่ลึกที่สุดของความเป็นมนุษย์ เพื่อที่ทำให้เราทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้อย่างที่มองเห็นด้านงดงามและด้านอัปลักษณ์ของแต่ละฝ่ายและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
ต้องขอขอบคุณผู้จัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. ภาวิดา ปานะนนท์ รองศาสตราจารย์ ดร. พัฒน์นรี ศรีศุภโอฬาร อาจารย์ ดร. Julia Yongue และอาจารย์ ดร. Martin Jes Iversen ท่านทั้งสี่ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญยิ่งสำหรับการแสวงหาความรู้เพื่อสังคมไทย และหวังไว้ว่าอนาคตอันใกล้นี้ เราน่าจะได้เห็นการก่อตั้งสมาคมศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นครับ