เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรโลก(ตอนจบ)
สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันเขียนถึงการเตรียมรับมือกับโครงสร้างประชากรโลกที่จะเปลี่ยนไปมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
และได้แสดงความห่วงใยโดยเฉพาะในการเตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ของประเทศไทย โดยทิ้งท้ายไว้ว่ารัฐต้องมองให้ออกถึงโครงสร้างของรายได้ในอนาคตของประเทศที่จะช่วยให้ประเทศสามารถมีเงินมาใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องแม้ประชากรในวัยทำงานจะลดลง และมองภาพสังคมที่อยากเห็นในอนาคตให้ออก เพื่อจะได้ออกแบบรวมให้เหมาะสม
นอกจากนี้ รัฐควรมองถึงงานในอนาคตที่จะให้ผู้สูงวัยสามารถใช้ความรู้ความสามารถทำได้ มองถึงโครงสร้างและการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ในการให้สวัสดิการแก่พนักงานที่ทำงานไม่เต็มเวลาให้เหมาะสม เพราะผู้สูงวัยไม่ต้องการทำงานเต็มเวลา
รัฐต้องปรับแผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมที่จะเปลี่ยนไปมากขึ้น อาจารย์ น.พ. ธีระ วรธนารัตน์ ได้ให้ความรู้ไว้ว่าส่วนใหญ่ปัญหาในคนสูงอายุของไทย หนีไม่พ้นเรื่องโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เป็นโรคประจำตัว เช่น ความดันสูง ไขมันสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม ต้อกระจก ความจำเสื่อม เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และลูกหลานไม่สามารถมีเวลามาดูแลได้ โดยเฉพาะในสังคมเมือง ท่านได้ให้ความเห็นว่าสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่ได้ทำอย่างจริงจังคือ แผนการพัฒนาปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ ซึ่งอิงกับวิถีชีวิตคนอย่างแท้จริง
ดิฉันมีโอกาสได้เห็นแผนยุทธศาสตร์ของกรมอนามัยในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ เห็นว่าแผนงานของกรมอนามัย เป็นแผนงานที่มีความชัดเจนและมีเป้าหมายที่จับต้องได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากหากรัฐจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเตรียมดูแลประชากรสูงวัยในอนาคต
สำหรับโครงสร้างรายได้ของประเทศในภาพรวมนั้น การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่ดีเยี่ยมสำหรับโลกสูงวัย เพราะเป็นการขายบริการซึ่งผู้ซื้อเดินทางเข้ามาหาซื้อด้วยตนเอง ผู้ขายไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็สามารถขายได้ เช่น คุณยายมีความสามารถในการทำขนมอร่อยๆ ก็สามารถทำขายให้กับนักท่องเที่ยวได้
ดิฉันสันนิษฐานว่าญี่ปุ่นคงเล็งเห็นว่าการท่องเที่ยวจะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ จึงทำการยกเว้นการขอวีซ่าให้กับคนไทยและมาเลเซีย เพราะประชากรของเราและมาเลเซียเป็นกลุ่มที่มีรายได้อยู่ในระดับค่อนข้างดี มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศญี่ปุ่นและชอบใช้ ชอบรับประทานอาหารญี่ปุ่น
จำนวนผู้สูงวัยในโลกในปี 2025 คาดว่าจะมี 1,184 ล้านคน หากมีเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์มาเที่ยวเมืองไทย ก็จะเท่ากับ 11.84 ล้านคนเลยทีเดียว จึงไม่ควรมองข้ามกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัยค่ะ หากวางแผนการเงินได้ดีเมื่อยังเป็นหนุ่มสาว เมื่อสูงวัยจะมีเวลามากขึ้น มีเงินเก็บที่สามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น และสิ่งที่ผู้สูงวัยชอบทำ ไม่มีอะไรมากไปกว่า ได้อยู่ในที่สวยๆ สบาย ปลอดภัย มีอาหารดีๆ อร่อยๆ รับประทาน และมีมิตรมีเพื่อนคุยที่ถูกใจ
สัดส่วนของผู้สูงวัยในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศมีถึงเกือบสองเท่าของประชากรวัยเด็ก ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นในปี 2000 ประชากรในวัยเด็ก (อายุ 0-15 ปี) มีจำนวน 18.7 ล้านคน ในขณะที่ประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป)มีจำนวน 29.3 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 32.75 ล้านคนในปี 2025 ในขณะที่ประชากรในวัยเด็กลดลงเหลือ 15 ล้านคน
นักท่องเที่ยวสูงวัยที่มาจากประเทศต่างๆ มีกำลังซื้อสูงค่ะ แต่เราต้องวางแผนนะคะว่าต้องการให้เขาอยู่แบบถาวร คือมาเกษียณอายุในประเทศไทย หรือต้องการให้เขาอยู่แบบชั่วคราว เพราะการสาธารณสุขของเราก็จะไม่เพียงพอเช่นกัน
ประเทศไทยเราเริ่มมีความปลอดภัยน้อยลง มีการโจรกรรมเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเรื่องยาเสพติดและการพนัน ต้องแก้ไขส่วนนี้โดยเร่งด่วนและทำให้ถาวร ได้รับทราบมาว่าคนที่ออกจากเรือนจำส่วนใหญ่จะหางานทำไม่ได้ และสุดท้ายลงเอยก็ต้องกลับเข้าไปใหม่ มีหลายๆโครงการขององค์การไม่แสวงหากำไรที่พยายามช่วยด้านนี้ แต่รัฐต้องมีนโยบายแน่วแน่ที่จะเอาใส่ใจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ประเทศมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
การขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญ ดิฉันเคยเขียนถึงเรื่องการคมนาคมในเมืองนี้ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงการเดินทางระหว่างเมือง ซึ่งก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเพราะผู้สูงวัยในปัจจุบันและในอนาคตจะไม่เหมือนผู้สูงวัยในอดีต เนื่องจากกลุ่มผู้สูงวัยในปัจจุบันมีการศึกษาดีขึ้น มีความรู้ และยังมีการใช้ชีวิตที่คล้ายคนวัยกลางคน คือชอบเดินทาง
การเดินทางทางอากาศและการเดินทางด้วยระบบรางจะเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานไหนของเราดีกว่ากัน ถ้ารัฐจะลงทุนก็ควรลงทุนสร้างระบบรางและสนามบินให้ดี ครอบคลุมมากขึ้นและปลอดภัย
นอกจากนี้ ผู้สูงวัยรุ่นใหม่ยังเป็นประชากรที่ต้องการมีส่วนร่วมในสังคมหรือที่เรียกว่า active citizen การมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้ทำประโยชน์จึงได้ประโยชน์ถึงสองต่อ คือผู้สูงวัยได้ทำในสิ่งที่ชอบและถนัด และประเทศชาติและสังคมได้ประโยชน์จากความคิดดีๆ ประสบการณ์และความรอบรู้ของผู้สูงวัยเหล่านี้
งานหลายๆ ประเภทสามารถทำไปได้เรื่อยๆ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็ทำให้ผู้ทำงานไม่จำเป็นต้องไปอยู่รวมกันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อทำงาน
หลักสูตรเสริมทักษะ ไม่ว่าจะเป็นด้านคอมพิวเตอร์ ด้านทักษะชีวิตอื่นๆ เพื่อให้ผู้สูงวัยมีความรู้ที่จะสามารถดูแลตัวเองได้ รวมถึงหลักสูตรเพื่อความเพลิดเพลิน เช่น ทำอาหาร โยคะแบบเบาๆ ชี่กง วาดรูป ร้องเพลง เต้นรำ คอนเสิร์ต หรือหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจ เช่น สมาธิ ธรรมะ การบำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ
งานบริการจะเป็นงานที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริการทางสุขภาพ บริการขนส่งสินค้าถึงบ้าน บริการทางการเงิน ฯลฯ การปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ เช่น ในญี่ปุ่นมีรองเท้าผ้าใบแบบมีซิปรูดสำหรับผู้สูงวัย เพื่อความสะดวกในการสวมใส่ ร้านอาหารมีเมนูที่พิมพ์ด้วยอักษรตัวโตๆ มีอาหารสุขภาพ ปริมาณอาหารต่อจานไม่มากเกินไป จัดระบบคิวให้ดี ไม่จำเป็นที่ผู้รอคิวจะต้องยืนรอ สามารถนั่งรอในบริเวณรอบๆ ได้ การมีห้องน้ำที่สะอาด รถเข็นผู้สูงอายุสามารถเข้าได้ สัดส่วนห้องน้ำผู้หญิงควรมีมากกว่าของผู้ชายสองเท่า
ดิฉันเชื่อว่า หากเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยเสนอความคิดเห็นมาว่า ประเทศไทยควรจะปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อเตรียมรับการเป็นสังคมสูงวัย รับรองได้ว่า ความเห็นจะล้นหลาม และจะได้ความคิดและแนวทางดีๆ มากมายมาวางอนาคตของประเทศกันค่ะ
เคยสนทนากับผู้สูงวัย ท่านเหล่านั้นบอกว่า อย่าเสนอว่าให้ขยับอายุเกษียณออกไป เพราะรับไม่ได้ ทำงานมานาน 35-40 ปี ก็รอคอยเวลาที่จะมีอิสระ ไม่ต้องไปทำงานทุกวัน หากขยายอายุเกษียณออกไป แผนการที่เคยใฝ่ฝันเอาไว้ว่าจะทำหลังเกษียณจะสลายไปหมด
แน่นอนว่าดิฉันจะไม่เสนอให้ยืดอายุเกษียณแน่ๆ และรัฐก็ไม่ควรทำหากไม่เข้าตาจนเรื่องรายได้จริงๆ เพราะประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกทำงานไม่เต็มเวลาได้ ที่อยากเสนอแนะคือการให้สวัสดิการแก่ผู้ทำงานไม่เต็มเวลาค่ะ หากมีสิทธิ์ได้บ้าง เช่น สามารถมีสิทธิ์ในเรื่องประกันสังคมได้ สามารถได้รับสิทธิ์ร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิในการรักษาพยาบาล แม้จะไม่เท่าผู้ทำงานเต็มเวลาก็ยังดี
ท่านที่มีแนวคิดดีๆ ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย เสนอมาได้ค่ะ ดิฉันยินดีเป็นตัวกลาง รับไปเพื่อนำไปหารือกับผู้เกี่ยวข้อง หรือกระตุ้นให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่จะมารองรับ หรืออาจจะเกิดธุรกิจเพื่อสังคมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต