อย่าประมาทหนี้สหรัฐ
สถานการณ์วิกฤติหนี้สหรัฐ ผ่านไปได้อีกรอบหนึ่ง และยังตอกย้ำว่าสหรัฐแก้วิกฤติตัวเองได้เพียงแค่ซื้อเวลา
ซึ่งนั่นเท่ากับว่า ต้นปีหน้าตลาดเงิน ตลาดทุนจะกลับมาผันผวนให้แต่ละประเทศได้ตระหนกกันอีกรอบ ที่สำคัญไปกว่านั้น ต้นปีหน้ามีถึง 3 เรื่องที่ให้ตลาดต้องลุ้นและตื่นตระหนก เพดานหนี้ ภาวะที่รัฐบาลสหรัฐต้องปิดทำการหน่วยรัฐบางส่วน หรือ ชัทดาวน์ และ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ เตือนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าให้เวลาจนถึงสิ้นไตรมาส 1 ของปี 2014 ในการตัดสินใจว่าจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐหรือไม่ ทั้งนี้ ฟิทช์ แสดงความเห็นต่ออันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐไว้ใน "เครดิตเชิงลบ" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงของสหรัฐในการผิดนัดชำระหนี้ในระยะใกล้ได้เพิ่มสูงขึ้น ถ้าหากว่าไม่มีการเพิ่มเพดานหนี้ได้ทันเวลา ก็จะทบทวนลดเครดิต
ทั้งนี้ ฟิทช์ เป็นสถาบันเพียงแห่งเดียวในบรรดาสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ 3 แห่ง ที่ระบุว่าอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐมีแนวโน้มเชิงลบ ขณะที่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ลงสู่ AA- โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพในเดือนส.ค. 2011 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติเพดานหนี้เช่นกัน ซึ่งตอนนั้นได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินมหาศาล และหากโดน ฟิทช์อีกรายย่อมจะส่งผลกระทบมาก อีกเช่นกัน เพราะเห็นว่าความล่าช้าในการเพิ่มอำนาจการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐ ก่อให้เกิดข้อสงสัยต่อความสามารถของรัฐบาลสหรัฐในการปฏิบัติตามภาระผูกพันของประเทศ ขณะที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จัดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ยังไม่ขยับเครดิตหรือปรับเปลี่ยนมุมมองแต่อย่างใด
สหรัฐสามารถตกลงแผนการอนุมัติค่าใช้จ่ายให้แก่รัฐบาลเป็นการชั่วคราว ไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2557 และเพิ่มเพดานหนี้ให้แก่รัฐบาลไปจนถึงวันที่ 7 ก.พ. 2557 เพื่อหลีกเลี่ยงการพักชำระหนี้ อันจะนำมาซึ่งการสูญเสียความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงได้ ซึ่งนักการเมืองทั้งสองพรรคเห็นว่าการประนีประนอมของทุกฝ่าย ทำให้เศรษฐกิจของชาติยังคงแข็งแกร่งต่อไปในช่วงเวลาอันสำคัญและเพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติ ส่วน ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แสดงความยินดีต่อผลสำเร็จในครั้งนี้ โดยภาวะที่รัฐบาลสหรัฐต้องปิดทำการรัฐบางส่วน หรือ ชัทดาวน์ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี เป็นเวลา 16 วัน ส่งผลให้พนักงานของรัฐถูกพักงานถึง 400,000 คน และก่อนหน้าที่สหรัฐจะผ่านพ้นการพักชำระหนี้อย่างหวุดหวิดนั้น บรรดานักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทุกแห่งทั่วโลกพากันตื่นตระหนก แต่เมื่อผ่านไปได้ด้วยดี ตลาดหุ้นทั่วโลกออกมาขานรับและปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังของไทย จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถือเป็นความชัดเจน ที่ทำให้ประเทศต่างๆ คลายความกังวลไปได้มากและดึงความเชื่อมั่นกลับมา ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกให้เป็นไปในทางบวกมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยได้ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกรณีปัญหาดังกล่าวในระดับหนึ่ง ด้าน อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เห็นว่าแม้ปัญหาหนี้สหรัฐได้ผ่อนคลายลง หลังจากวุฒิสภาและสภาคองเกรสของสหรัฐ เห็นชอบให้มีการผ่านงบประมาณและเพิ่มเพดานหนี้ให้รัฐบาลสหรัฐ กลับมาบริหารประเทศได้ แต่การผ่านงบประมาณและเพิ่มเพดานหนี้ที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจเป็นข่าวดีเพียงชั่วคราว เนื่องจากสภาได้อนุมัติงบประมาณให้ใช้ได้ถึงเพียงวันที่ 15 มกราคม และเพิ่มเพดานหนี้ได้ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ปีหน้าเท่านั้น ที่สำคัญในระยะเวลาสั้น ความไม่แน่นอนในการแก้ปัญหาเพดานหนี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่อาจเลื่อนการตัดลดมูลค่าการซื้อพันธบัตร หรือ คิวอี ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 85,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ออกไปก่อน
เราเห็นว่า การตัดสินใจด้วยกรอบคิดของนักการเมืองสหรัฐ ด้วยการซื้อเวลา ยิ่งจะสะท้อนความไม่แน่นอนในตลาดเงินให้เพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยโอกาสที่เฟดจะคิวอีในปีนี้ย่อมน้อยลงเรื่อยๆ การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างหนึ่งในวังวนวิกฤติหนี้สหรัฐ ซึ่งหากยังไม่แก้ที่โครงสร้าง ปัญหาของสหรัฐก็จะยังคงอยู่ต่อไป ดังนั้น ในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวของไทย เราเห็นด้วยกับ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะกลายเป็นโอกาสสำคัญ ที่ทำให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ย้ายฟากมายัง "เอเชีย" โดยมีจีนเป็นกลจักรขับเคลื่อนการเติบโต