อยากได้เงินเดือนสูง ก้าวหน้าในอาชีพ ต้องมี 15 ทักษะนายจ้างมองหา

อยากได้เงินเดือนสูง ก้าวหน้าในอาชีพ ต้องมี 15 ทักษะนายจ้างมองหา

การทำงานหนักขึ้น ไม่ได้ทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเสมอไป ถ้าวัยทำงานอยากเติบโตก้าวหน้า คว้าเงินเดือนสูงขึ้น ต้องอัป 15 ทักษะที่นายจ้างต้องการมากในปี 2025

KEY

POINTS

  • การทำงานหนักไม่ได้ช่วยให้ก้าวหน้าในอาชีพและทำเงินได้มากขึ้นเสมอไป แต่หากอยากก้าวหน้าและมีรายได้สูง ต้องรู้จักเพิ่มทักษะการทำงานใหม่ๆ ที่ตลาดต้องการและอัปสกิลเห

หลายคนเชื่อว่าการทำงานหนักหรือทำงานนานขึ้นจะช่วยให้ก้าวหน้าในอาชีพและทำเงินได้มากขึ้น แต่นั่นไม่จริงเสมอไป คนที่จะก้าวหน้าและมีรายได้สูงขึ้นกว่าเดิมในปี 2025 และต่อไปในอนาคต คือ คนที่เข้าใจเทรนด์และแนวโน้มทักษะการทำงานใหม่ๆ ที่ตลาดต้องการและสามารถปรับตัวสู่ทักษะเหล่านั้นได้ก่อนใคร

หากวัยทำงานยังยึดติดกับวิธีคิด และวิธีทำงานแบบเดิมๆ แล้วหวังว่านายจ้างจะจ่ายเงินเดือนให้คุณมากขึ้นเพียงเพราะคุณทำงานได้ดี นั่นอาจทำให้เส้นทางอาชีพของคุณไม่เติบโตเท่าที่ควร

ล่าสุด LinkedIn เพิ่งเผยรายงานเกี่ยวกับ "ทักษะแห่งอนาคต" สำหรับปี 2025 ซึ่งสรุป 15 ทักษะที่สำคัญและเป็นทักษะที่นายจ้างกำลังต้องการสูง หากวัยทำงานสามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้มีติดตัวเอาไว้ รวมถึงหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เวลาเจอโอกาสใหม่ๆ ในสายงาน หรืออยากไปสมัครงานใหม่ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการได้งานเงินเดือนสูงมากขึ้น  หรือพูดง่ายๆ ว่า ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้คุณเป็นที่ต้องการของนายจ้างก่อนใคร แม้ในช่วงที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูงก็ตาม

เปิด 15 ทักษะสำคัญสำหรับปี 2025 จากรายงาน LinkedIn

ทีมวิจัยจาก LinkedIn ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากตำแหน่งงานที่ถูกโพสต์บนแพลตฟอร์ม และทักษะที่มืออาชีพเพิ่มลงในโปรไฟล์ของตนเอง จนได้ข้อสรุปว่าทักษะต่อไปนี้คือกุญแจสู่ความก้าวหน้าในอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีทั้งหมด 15 ทักษะ ดังนี้ 

1. ความเข้าใจ AI (AI Literacy): ความสามารถในการทำงานร่วมกับ AI และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

2. การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Mitigation): ทักษะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงานและการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

3. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability): ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

4. การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน (Process Optimization): การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลลัพธ์

5. ความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking): การคิดเชิงสร้างสรรค์และนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ที่ช่วยพัฒนาองค์กร

6. การพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking): ความสามารถในการสื่อสารต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมากอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ

7. การขายที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา (Solution-Based Selling): ทักษะการขายที่เน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อแก้ไขปัญหาของลูกค้า

8. การสร้างปฏิสัมพันธ์และดูแลลูกค้า (Customer Engagement & Support): การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความพึงพอใจ

9. การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Management): การจัดการความสัมพันธ์กับบุคคลหรือกลุ่มที่มีผลต่อองค์กร เช่น ลูกค้า นักลงทุน หรือพันธมิตรทางธุรกิจ

10. การพัฒนาและใช้งานโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM Development & Application): ความเข้าใจและความสามารถในการพัฒนาและใช้งาน AI ที่ขับเคลื่อนด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่

11. การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร (Budget & Resource Management): การวางแผนและบริหารงบประมาณ รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

12. กลยุทธ์นำผลิตภัณฑ์สู่ตลาด (Go-to-Market Strategy, GTM): การวางแผนการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการสู่ตลาดเพื่อให้เกิดยอดขายสูงสุด

13. การปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Regulatory Compliance): ความเข้าใจและการปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม

14. กลยุทธ์การเติบโต (Growth Strategy): การพัฒนากลยุทธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจขยายตัวและเพิ่มรายได้

15. การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment): การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร เพื่อหาวิธีป้องกันและจัดการล่วงหน้า

ทำไมทั้ง 15 ทักษะเหล่านี้ถึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน?

สาเหตุที่ทำให้ทักษะต่างๆ ข้างต้นเป็นที่ต้องการสูงก็เพราะว่า AI เข้ามาดิสรัปต์และเปลี่ยนแปลงโลกการทำงานแทบทุกอุตสาหกรรม คนที่สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้จะได้เปรียบในอนาคต บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI มากขึ้น โดยผลสำรวจของ AWS ระบุว่า บริษัทเต็มใจจ่ายเงินเดือนสูงกว่าปกติถึง 47% สำหรับพนักงานที่มีทักษะด้าน Generative AI แม้ว่าจะมีประสบการณ์น้อยก็ตาม

นอกจากนี้ การพัฒนานวัตกรรมอย่างรวดเร็วหมายความว่า ธุรกิจต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงกระบวนการ ประเมินความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพื่อให้แน่ใจว่านวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลเสียต่อองค์กรหรือสังคม

ในขณะเดียวกัน ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ เช่น การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการจัดการความขัดแย้ง กำลังถูกยกระดับเป็น "ทักษะแห่งพลัง" (Power Skills) เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

อีกทั้งนายจ้างในยุคนี้มีความต้องการสกิลของพนักงานที่ต่างไปจากในยุคอดีต กล่าวคือ พวกเขาอยากได้พนักงานที่สามารถจัดการความขัดแย้ง ประสานงานกับลูกค้า และสื่อสารแนวคิดได้อย่างมั่นใจ (ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไม การพูดในที่สาธารณะ ถึงเป็นทักษะที่จำเป็น) แม้แต่ฟรีแลนซ์เองก็ต้องใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้า และทำให้สามารถรับงานได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง แม้ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถแทนที่การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และความเป็นผู้นำของมนุษย์ได้ ดังนั้น ทักษะเชิงคิดวิเคราะห์และการบริหารจัดการจึงยังคงเป็นที่ต้องการสูงในตลาดงานเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับงานสายบริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่ทำงานแบบ Remote work โดยจากข้อมูลผลสำรวจของ Ladders ชี้ว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งที่ให้เงินเดือนเกิน 250,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราวๆ 8,500,000 บาทต่อปี) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 12% ภายในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา 

ท้ายที่สุดแล้ว หากวัยทำงานสามารถแสดงให้เห็นว่าตนเองมีทักษะเหล่านี้ พร้อมหลักฐานของผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม คุณจะได้เปรียบในตลาดงานทันที เพราะนายจ้างกำลังมองหาคนที่สามารถสร้างผลลัพธ์ให้กับองค์กรได้จริง

ไม่ว่าคุณจะทำงานด้านเทคโนโลยี การตลาด การเงิน ที่ปรึกษา การออกแบบ หรือสายงานอื่นๆ และไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งบริหารหรือไม่ การพัฒนาทักษะเหล่านี้จะช่วยให้คุณก้าวหน้าและเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับอาชีพของคุณได้แน่นอน

 

อ้างอิง : Forbes, LinkedIn, LaddersAWS