นักบัญชี กับ บทบาทที่ต้องเปลี่ยนไป

นักบัญชี กับ บทบาทที่ต้องเปลี่ยนไป

เมื่อเอ่ยถึงผู้ที่เรียนมาทางด้านบัญชี ทำงานเป็นนักบัญชี หรือ ผู้ตรวจสอบบัญชี ท่านผู้อ่านจะมโนภาพเขาหรือเธอเหล่านั้นเป็นคนอย่างไรครับ?

เชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากคงจะนึกถึงผู้ที่ชอบและใส่ใจในรายละเอียด เป็นผู้ที่ชอบตัวเลขและรายละเอียดต่างๆ เป็นคนที่มีความช่างสงสัย มีความสามารถในการหาข้อผิดพลาด มีความระมัดระวัง เป็นผู้ที่คิดอยู่ในกรอบ มีกระบวนการคิดที่ชัดเจน มีเหตุมีผล คิดอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ ฯลฯ เราอาจจะไม่สามารถระบุได้ว่านักบัญชีทุกคนจะมีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นนะครับ แต่อาจจะเป็นด้วยความเหมือนในคุณลักษณะของนักบัญชีจำนวนมากทำให้ภาพของคุณลักษณะข้างต้นผุดขึ้นมาทุกครั้งที่เอ่ยถึงนักบัญชี (ถึงแม้ผมจะเรียนและทำงานอยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แต่ผมเรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจและสอนทางบริหารธุรกิจนะครับ)

คำถามที่น่าสนใจก็คือถึงเวลาหรือยังที่บทบาทหรือคุณลักษณะของนักบัญชีจะเปลี่ยนไป? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันและอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ก็คงจะเห็นด้วยว่าคงจะต้องมีการปรับตัว แต่จะปรับตัวอย่างไร?

บทบาทของนักบัญชีคงจะต้องเปลี่ยนไป ผู้บริหารระดับสูงจะยังคงคาดหวังให้นักบัญชีในบริษัทของตนทำหน้าที่เป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลและจัดทำ Report ทางด้านการเงิน หรือ ทำหน้าที่เพียงแค่ปิดงบประจำงวดต่างๆ เท่านั้นหรือไม่? หรือ ผู้บริหารจะมองว่านักบัญชีคือผู้ที่กุมตัวเลขและข้อมูลสำคัญต่างๆ ขององค์กรไว้ และจากตัวเลขดังกล่าวแทนที่จะออกมาเป็นเพียงแค่รายงานทางการเงิน หรือ นักบัญชีจะสามารถคิดและสร้างสรรค์ รายงานรูปแบบใหม่ที่สะท้อนภาพกลยุทธ์และ Business Model ขององค์กรที่มีส่วนเอื้อต่อการตัดสินใจของผู้บริหารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านได้มากขึ้น? (เดี๋ยวนี้ก็จะมีแนวคิดเรื่องของ Integrated Reporting เริ่มโผล่ขึ้นมามากขึ้นแล้วครับ)

ในขณะเดียวกันเราก็อยู่ในยุคของการมีเครื่องมือในการบริหารองค์กรรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา องค์กรต่างๆ ก็พยายามที่จะประยุกต์นำแนวคิดและนวัตกรรมในการบริหารองค์กรรูปแบบใหม่มาปรับใช้ ซึ่งนักบัญชีจะได้รับผลกระทบจากนวัตกรรมในการบริหารองค์กรรูปแบบใหม่อย่างไร? ในรายงานการศึกษาของ Bain เกี่ยวกับ Management Tools ต่างๆ ที่นิยมใช้กันทั่วโลกก็มีเครื่องมือทางด้านการจัดการแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Open Innovation, Price Optimization Model, Complexity Reduction ซึ่งก็นำไปสู่ประเด็นน่าสนใจต่อมาว่าแล้วถ้าองค์กรประยุกต์นำเครื่องมือเหล่านี้มาปรับใช้แล้ว บทบาทของนักบัญชีจะเกี่ยวข้องอย่างไร?

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่นักบัญชีอย่างเดียวนะครับ ผมเชื่อว่าบทบาทของทุกวิชาชีพก็ต้องเปลี่ยนไป เพียงแต่วิชาชีพและการทำบัญชี ถือเป็นสิ่งที่อยู่มานานและย้อนอดีตได้ถึงยุค Renaissance ที่เริ่มมีการบันทึกบัญชีขึ้นมาอย่างจริงจัง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นจึงน่าสนใจและน่าติดตามครับ

ต่อไปในอนาคตเราอาจจะเห็นนักบัญชีเป็นผู้ที่มีความเป็นตัว T มากขึ้น นั่นคือ เป็นทั้งผู้ที่มีความรู้ลึกในศาสตร์ของตนกับเป็นผู้ที่มีความรู้รอบในหลายๆ ด้าน จนสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่รู้รอบเข้ากับสิ่งที่รู้ลึกและสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เรานึกไม่ถึงขึ้นมาได้ หรือ อาจจะเป็นไปได้ที่นักบัญชีรุ่นใหม่ใน Gen Y ซึ่งโดยลักษณะของคนรุ่นนี้ส่วนใหญ่จะมีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น ต้องมีการ Connected ตลอดเวลา อาจจะสร้างรูปแบบและกระบวนการในการทำงานแบบใหม่ๆ ขึ้นมาก็ได้

การปรับเปลี่ยนต่างๆ เหล่านี้ในหลายวิชาชีพจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้รับผลกระทบจากภายนอกและไม่เปลี่ยนไม่ได้ แต่ต้องขอชื่นชมสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพของนักบัญชีครับ ที่ลุกขึ้นมาจัดประชุมสัมมนานักบัญชีทั่วประเทศภายใต้หัวข้อ “บทบาทของนักบัญชีในทศวรรษหน้า” ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งถ้าเป็นงานสัมมนาของนักบัญชีทั่วไปเราก็คงนึกภาพแต่เรื่องของเกณฑ์หรือมาตรฐานทางบัญชีต่างๆ แต่ครั้งนี้สภาวิชาชีพฯ กลับเป็นผู้ปลุกกระแสการปรับตัวของวิชาชีพนี้ขึ้นมาครับ โดยนอกเหนือจากหัวข้อปกติทางด้านวิชาชีพบัญชีแล้ว การสัมมนาครั้งนี้ยังมีหัวข้ออื่นๆ ที่เมื่อดูแล้วสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับนักบัญชีอย่างไร แต่หัวข้อที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องเหล่านี้ อาจจะทำให้บทบาทของวิชาชีพนักบัญชี ต้องปรับเปลี่ยนไปก็ได้ครับ ก็คงต้องคอยดูต่อไปนะครับว่าการรณรงค์ของสภาวิชาชีพบัญชีในครั้งนี้จะช่วยผลักดันการปรับเปลี่ยนบทบาทของนักบัญชีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือไม่?

ในอนาคตมโนภาพของนักบัญชีในสายตาของคนทั่วไปอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ครับ