บทบาทของรัฐต่อระบบสวัสดิการสังคมภายใต้สำนักคิดทางเศรษฐกิจการเมืองต่างๆ

บทบาทของรัฐต่อระบบสวัสดิการสังคมภายใต้สำนักคิดทางเศรษฐกิจการเมืองต่างๆ

มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาติไหนภาษาใดย่อมต้องการความมั่นคงในชีวิตและสวัสดิภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ

แต่ทุกคนโดยเฉพาะผู้มีรายได้และด้อยโอกาสเผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในชีวิตตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการว่างงาน ความเจ็บป่วย การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาลหรือเข้าถึงแหล่งทุน การทำให้เกิดสวัสดิภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้จำเป็นต้องมีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็งและมั่นคง

OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ได้จัดหมวดหมู่ ค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมออกเป็นหลากหลายด้านด้วยกัน คือ ค่าใช้จ่ายด้านการชราภาพ (กำลังเป็นปัญหาอย่างมากในประเทศพัฒนาแล้วที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ) ค่าใช้จ่ายประโยชน์ทดแทนผู้ทุพพลภาพ ค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์และรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูบุตร ค่าใช้จ่ายเพื่อผู้ว่างงาน ค่าใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น การจำแนกแยกแยะค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมออกเป็นด้านต่างๆ ทำให้เราเห็นค่านิยมและการให้ความสำคัญของแต่ละประเทศต่อสวัสดิการแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เช่น เยอรมันให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายด้านนี้สูงถึง 8% ของ GDP ประเทศเบลเยียมและเดนมาร์กให้ความสำคัญกับเรื่องการว่างงาน จึงใช้งบดูแลด้านนี้ประมาณ 3% ของ GDP ออสเตรียให้ความสำคัญกับสวัสดิการสำหรับผู้ชราภาพมีค่าใช้จ่ายด้านนี้สูงถึง 11-13% ของจีดีพี เป็นต้น

บทบาทของรัฐต่อระบบสวัสดิการในประเทศต่างๆ และในภูมิภาคต่างๆ มีความแตกต่างกันไปและได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองหลากหลาย สิ่งนี้จะสะท้อนถึงอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่ใช้เป็นทิศทางในการบริหารประเทศด้วย กลุ่มประเทศที่ให้สวัสดิการสูงสุด คือ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย โดยประเทศเหล่านี้จะเก็บภาษีในอัตราที่สูง

สำนักคิดอนุรักษนิยม (Conservatism) สำนักคิดนี้มีแนวคิดว่า ทุกคนควรได้รับการดูแลจากครอบครัวก่อน หากผู้ใดไม่มีครอบครัวหรือเครือญาติดูแล รัฐจึงมีหน้าที่จัดสรรสวัสดิการพื้นฐานให้ การจัดสวัสดิการสังคมเกิดขึ้นเพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยไม่ต้องเผชิญกับการเรียกร้องของประชาชนผู้เดือดร้อน หลักคิดแบบนี้ปรากฏในรายงานของ เซอร์ วิลเลียม เบเวอริดจ์ นักการเมืองสายอนุรักษนิยม เรื่อง Social Insurance and Allied Services ตอนหนึ่งว่า “หากท่านไม่มอบการปฏิรูปสังคมให้แก่ประชาชน เขาเหล่านั้นจะมอบการปฏิวัติสังคมให้ท่าน” รายงานฉบับนี้เสนอต่อรัฐบาลวินสตัน เชอร์ชิล โดยมีแนวคิดจัดสวัสดิการเพื่อปกป้องประชาชนจากความชั่วร้าย 5 ประการ ประกอบไปด้วย ความเจ็บป่วย ความขาดแคลนจากสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ การถูกทอดทิ้ง โรคร้าย ความโง่เขลา รายงานดังกล่าวนำมาสู่การวางรากฐานระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service) และระบบการคุ้มครองทางสังคม (ซึ่งได้มีการวางรากฐานมาแล้วสมัยรัฐบาลเดวิด ลอยด์ จอร์จแห่งพรรคแรงงาน)

สำนักคิดมาร์กซิสม์ (Marxism) แนวคิดนี้จะให้น้ำหนักไปที่การต่อสู้ทางชนชั้น โดยเฉพาะระหว่างชนชั้นนายทุน กับ ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นนายทุน ชนชั้นผู้ใช้แรงงานจึงต้องแย่งชิงอำนาจรัฐ ต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบ รัฐที่เป็นตัวแทนของชนชั้นผู้ใช้แรงงานจะจัดสวัสดิการให้กับทุกคนอย่างเสมอภาค

สำนักคิดสังคมนิยม (Socialism) สังคมนิยมมีแนวคิดที่จะต้องลดและขจัดความเสียเปรียบ ความด้อยโอกาสที่เกิดขึ้นในสังคม นักสังคมนิยมต้องการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้นโดยการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านสวัสดิการและบริการทางสังคม สวัสดิการและบริการพื้นฐานเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้รับการดูแลโดยรัฐ

สำนักคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) แนวคิดนี้สอดคล้องและมีลักษณะพื้นฐานหลายประการเหมือนกับสำนักคิดสังคมนิยมเพียงแต่ว่า สำนักคิดนี้จะให้น้ำหนักต่อปัจเจกชนมากกว่า การปกป้องประชาชนจากสภาวะเลวร้ายของระบบตลาดและการบรรเทาผลกระทบของความไม่เท่าเทียมด้วยการจัดระบบสวัสดิการและบริการทางสังคมโดยรัฐนั้นต้องอยู่บนหลักการประชาธิปไตยและให้สิทธิเสรีภาพปัจเจกบุคคลด้วย เอกชนสามารถดำเนินกิจการต่างๆ ได้อย่างเสรี กิจการใดที่มีผลต่อสังคมและประเทศโดยรวม รัฐบาลกลางจะเป็นผู้ดูแลเอง

สำนักคิดเสรีนิยม (Liberal) หลักการของแนวคิดนี้ คือ การให้ความสำคัญกับเสรีภาพ สำนักคิดนี้จึงไม่ค่อยเชื่อการจัดระบบสวัสดิการสังคมโดยรัฐเท่าไหร่ ระบบตลาดเสรีสามารถจัดระบบสวัสดิการสังคมได้ดีกว่ารัฐบาล กลไกตลาดและเสรีภาพของปัจเจกชนจะทำหน้าที่ได้ดีกว่ากฎเกณฑ์ของรัฐในการจัดระบบสวัสดิการเนื่องจากสังคมมีความซับซ้อนเกินกว่าที่รัฐจะสามารถกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

สำนักคิดแบบเผด็จการฝ่ายขวาจัด (Fascism) แนวคิดนี้มุ่งสนับสนุนความยิ่งใหญ่ของเผ่าพันธุ์จึงใช้เหตุผลนี้แทรกแซงระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่ให้ความสำคัญกับปัจเจกชนแต่เน้นไปที่องค์รวม เน้นไปที่รัฐชาติและเผ่าพันธุ์ ระบบสวัสดิการจะเน้นไปที่ระบบการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน เน้นเรื่องการขัดเกลาทางสังคม ในกรณีของพรรคนาซีเยอรมันถึงขั้นเข้าไปปรับปรุงลักษณะทางพันธุกรรมของประชาชน เป็นต้น

ระบบสวัสดิการในไทยเป็นส่วนผสมของลัทธิความเชื่อหลายๆ ลักษณะผสมกัน มีพัฒนาการก้าวหน้าตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ระบบสวัสดิการของไทยเองยังไม่ทั่วถึงและครอบคลุม นอกจากนี้อาจมีปัญหาความไม่ยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคมได้ในอนาคตหากไม่เริ่มวางแผนเตรียมการแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้