‘ฐากร’ รับปี 68 ธุรกิจแบงก์ไม่ง่าย เน้นโต ’บ้าน - รถ - มนุษย์เงินเดือน‘

‘ฐากร’ รับปี 68 ธุรกิจแบงก์ไม่ง่าย เน้นโต ’บ้าน - รถ - มนุษย์เงินเดือน‘

‘ฐากร’ รับปี 2568 ‘ไม่ง่าย’ เน้นระมัดระวัง ลุย ‘รถ - บ้าน - มนุษย์เงินเดือน’ เชื่ออุตสาหกรรม “รถยนต์” ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

 

ภาคธนาคาร” ถือว่ามีบทบาท และเป็นกลไกสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งมิติของการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน ทำหน้าที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อลงไปสู่ระบบการเงิน เพื่อสนับสนุนภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไปสู่การเติบโตได้ ไม่เพียงเท่านั้น ภาคการเงินยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยกระจายรายได้ และมีส่วนสำคัญในการช่วยลดเหลื่อมล้ำทางสังคมได้

แต่ภายใต้ “เศรษฐกิจไทย” ที่เผชิญความท้าทายต่อเนื่อง ผนวกกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคการเงินเอง ก็ยอมมีความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ‘ฐากร’ รับปี 68 ธุรกิจแบงก์ไม่ง่าย เน้นโต ’บ้าน - รถ - มนุษย์เงินเดือน‘

ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) มองในมุมของภาคการเงิน ว่า ปี 2568 เป็นอีกปีที่ภาคธนาคารยังอยู่ในโหมดของการ “ระมัดระวัง” และการปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุมมากขึ้น จากปัญหาคุณภาพ “หนี้” ที่ยังคงต้องจับตา และระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง จากภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

เขามองว่า ไม่ใช่ว่าในมุมแบงก์ ไม่อยากปล่อยกู้ แต่มุมแบงก์อยากปล่อยสินเชื่อสู่ระบบ แต่ปัญหาส่วนใหญ่มาจาก “ลูกหนี้” ที่คุณภาพด้านเครดิตแย่ลง ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึง “สินเชื่อ” ได้ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญ

ดังนั้นลูกค้าที่ยังแข็งแรง ยังมีศักยภาพในการก่อหนี้ ธนาคารก็ยังคงทำหน้าที่สนับสนุนสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับดูแล “กลุ่มเปราะบาง” และลูกหนี้ในพอร์ตของธนาคารไม่ให้ “ไหลลง” หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มากขึ้น

ดังนั้น หากดูภาพรวมสินเชื่อรายย่อยของธนาคาร ยอมรับว่า เป็นปีที่ไม่ง่าย เพราะหลายภาคส่วนเริ่มเห็นการกลับมาเติบโตได้ แต่บางภาคส่วน ยังคงมีปัญหา ดังนั้น กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสำหรับสินเชื่อรายย่อยของ TTB ยังคงมุ่งไปกับกลุ่มหลักเช่นในปี 2567 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ และมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ

ทั้งกลุ่มลูกค้า “รถ บ้าน พนักงานเงินเดือน” แม้มองการเติบโตปีนี้จะไม่ได้มากนัก หรือบางพอร์ตอาจทรงตัว เช่น “สินเชื่อรถ” ที่ธนาคารมองเห็นภาพของการ “พลิกฟื้น” ของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่จะกลับมาได้ในปีนี้

หากดูจากเซนทิเมนต์ และความต้องการรถยนต์ในช่วงงานมอเตอร์เอกซ์โปในช่วงสิ้นปี 2567 ที่ผ่านมา ที่พบว่า ยอดจองรถมากกว่าปลายปี 2566 และต้นปี 2567 แล้ว สะท้อนว่าสินเชื่อรถเริ่มกลับมาแล้ว แต่ต้องติดตามการโอนจริงว่ามากน้อยเพียงใด แต่เริ่มเห็นเซนทิเมนต์เชิงบวกมากขึ้น

โดยเฉพาะผลบวกจากราคารถที่ลดลง ทำให้ผู้กู้สนใจมากขึ้น และการเข้าถึงรถ ความสามารถในการชำระหนี้สำหรับสินเชื่อรถ ยังมีค่อนข้างสูง เพราะราคาไม่สูงมาก ดังนั้น ในหลายกลุ่มเงินเดือนยังสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งมองว่าสินเชื่อรถอาจผ่าน “จุดต่ำสุด” มาแล้ว

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้สินเชื่อรถจะเริ่มกลับมาได้ แต่หากดูยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ หากเทียบกับยอดที่ออกไป ยังห่างกันมาก ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ยังต่ำ ทำให้ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อสุทธิอาจทรงๆ ตัว หรือโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“แม้สินเชื่อรถจะโตได้ นิวบุ๊กกิ้งมีเพิ่มขึ้น แต่ด้วยฐานยังไม่มาก สำหรับของใหม่ที่เข้ามา หากเทียบกับของที่ออกไป ดังนั้น ต้องปล่อยสินเชื่อใหม่เยอะมาก ยอดตรงนี้ถึงชนกันไป แม้จะกลับมาได้ ก็อาจทำได้แค่ทรงๆ หรือโตเพียงเล็กน้อย”

ส่วน “สินเชื่อบ้าน” มองว่า เป็นปีที่ต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อบ้านมีต่ำลง เนื่องจากบ้านราคาสูงขึ้น อีกทั้ง ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ต่ำลง กลุ่มเงินเดือนไม่เกิน 3 หมื่นบาท ความสามารถในการกู้บ้านลดลงค่อนข้างมาก หรือไม่สามารถกู้สินเชื่อได้เลย ดังนั้นการจะเห็นสินเชื่อบ้าน กลับมาเติบโตได้คงต้องใช้ระยะเวลา

ดังนั้น ในมุมของธนาคาร คงต้องเลือกเซกเมนต์ในการเข้าไปเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะรายได้สูง ที่มีความสามารถซื้อบ้านในราคา 5 ล้านคนขึ้นไป หรือระดับรายได้เกิน 4-5 หมื่นบาทขึ้นไป

นอกจากนี้ จากตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มองว่า “ฟื้นตัวกลับมายาก” ในปีนี้ ทำให้กลยุทธ์ของธนาคารยังคงมุ่งไปกับสินเชื่อ “รีไฟแนนซ์บ้าน” ที่มองว่ายังเติบโตได้ต่อเนื่อง ที่ทุกแบงก์เองก็หันมาแข่งขันเจาะสินเชื่อรีไฟแนนซ์มากขึ้น เพราะยังมองโอกาสในการสร้างการเติบโตต่อได้

“วันนี้เรายังเห็นบ้านยังคงมีปัญหา คนรายได้ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน ไม่พร้อมก่อหนี้แล้ว หรือก่อหนี้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น กลยุทธ์ของธนาคารคงหนีไม่พ้นการหันมารุกในส่วนของ “รีไฟแนนซ์บ้าน” ที่ยังแข่งขันได้ และยังเติบโตได้ต่อเนื่อง”

อีกหนึ่งสินเชื่อที่มองว่า ยังเติบโตได้ต่อเนื่องคือ “สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน” ไม่ว่าเศรษฐกิจดี หรือไม่ดี เช่น สินเชื่อบุคคลเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความท้าทายมากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่แบงก์ต้องระมัดระวังเช่นกัน ไม่ควรโตมากในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี เพราะหากยิ่งโตมาก ก็ยิ่งก่อความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้แม้จะเห็นการเติบโตต่อเนื่อง แต่เชื่อว่ายังเติบโตได้เพียงหลักเดียว 5-7% คงไม่เห็น 2 หลักในปีนี้

“ฐากร” ฉายต่อ ถึงทิศทาง “หนี้เสีย” ในปี 2568 เขาเชื่อว่า “น่าจะดีขึ้น” เพราะปัญหาหลายอย่างถูกแก้ไขในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้นคุณภาพหนี้ในปีนี้ก็น่าจะดีขึ้นได้ เพราะคนมีปัญหา ได้ถูกแก้ไข ด้วยการไรท์ออฟ ตัดขายหนี้จากธนาคารไปแล้ว รวมถึงการช่วยเหลือผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นทั้งหนี้เสีย ที่ค้างชำระเกิน 1 ปีขึ้นไป

เช่นเดียวกันกับลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้ ก็มีโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” มาประคอง ไม่ให้คุณภาพหนี้ตกต่ำไปกว่าเดิม ดังนั้นมองว่าโครงการนี้ มีส่วนเข้ามาพลิกฟื้นอุตสาหกรรม มาช่วยลูกหนี้ไม่ให้ไหลลงมามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

“เราคาดหวังว่า ด้านคุณภาพหนี้ น่าจะเห็นจุดต่ำสุดไปแล้วในบางพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะรถยนต์ ที่หวังว่าจะผ่านจุดต่ำไปสุดไปแล้ว ส่วนบ้าน ที่เป็นปัญหาทุกวันนี้ คือ มาจากปัญหาตั้งแต่โควิด-19 ที่ยังติดเชื้อ และเคยรับการช่วยเหลือมาก่อน กลุ่มนี้ยังแย่ แต่หวังว่าจะเจ็บแล้วจบได้ ยังไงก็ต้องเจ็บแล้วจบในรอบนี้ ต้องมีคนที่ไปต่อได้ และผ่านไม่ได้ ดังนั้น “คุณสู้เราช่วย” จะเข้ามาตอบโจทย์ ให้เราเริ่มเห็นจุดต่ำสุดผ่านไปได้ และหากลูกหนี้อยู่ต่อไปลูกหนี้ก็จะรอด”

ในมุมของธนาคาร เพื่อแก้ไขปัญหา “หนี้” โดยเฉพาะผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ธนาคารจะมีการติดต่อลูกหนี้ และนำลิสต์ลูกหนี้ทั้งหมด ที่เข้าข่าย และสามารถเข้าโครงการได้ ให้มาเข้าโครงการนี้ เพราะเชื่อว่าบางส่วนอาจรับข่าวสารเรื่องโครงการได้ไม่มากพอ หรือยังไม่ทราบว่าตัวเองสามารถเข้าโครงการได้ เพื่อหวังว่าลูกหนี้จะดีขึ้นหลังจากนี้ เพราะการเข้าโครงการจะช่วยทำให้ลูกหนี้ลดภาระทางการเงิน ลดภาระหนี้สินลดมาก โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่ทางโครงการจะเวฟไปถึง 3 ปี ให้ลูกหนี้จ่ายแต่เงินต้น และสามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

“คุณสู้เราช่วย เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยลูกหนี้ได้มาก โดยเฉพาะแก้หนี้รถ บ้าน ที่เป็นตัวใหญ่ของปัญหาทั้งหมด และการเข้าโครงการลูกหนี้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยไป 3 ปี จ่ายแต่เงินต้น ลดภาระไปได้มหาศาล ในมุมแบงก์เชื่อว่าหากเราทำยิ่งมาก เราก็จะได้ Benefit เยอะ หนี้ก็จะได้ไม่เสียเยอะ ตัวเราก็เบาขึ้น สุดท้ายเชื่อว่าช่วยลูกค้าได้จริงๆ” 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์