มิจฯยิงแอดโซเชียล ลวงข่าวออนไลน์หลอกลงทุน เงินล้านหายเกลี้ยงบัญชี
อุทาหรณ์เตือนภัย อย่าตกเป็นเหยื่อเสียค่าโง่ มิจฯยิงแอดโซเชียล ลวงข่าวออนไลน์หลอกลงทุน เงินล้านหายเกลี้ยงบัญชี
กรุงเทพธุรกิจ ย้ำอุทาหรณ์เตือนภัย อย่าตกเป็นเหยื่อเสียค่าโง่ มิจฉาชีพ ยิงแอดโซเชียล ลวงข่าวออนไลน์หลอกลงทุน เงินล้านเงินหายเกลี้ยงบัญชี
กรณีตำรวจไซเบอร์รวบเพิ่มเครือข่ายแอป "ไทยเดลี่" ตุ๋นเหยื่ออ่านข่าวออนไลน์ เงินหายเกลี้ยงบัญชี 4 ล้าน
สืบเนื่องจาก เมื่อ 17 พ.ค. 2566 ได้มีกลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 6 คน รวมตัวเข้าแจ้งความต่อตำรวจไซเบอร์ โดยเมื่อกลางปี 2564 กลุ่มผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชัน "ไทยเดลี่ " ซึ่งเป็นแอปสำหรับอ่านข่าวแต่มีการชักชวนลงทุนทำภารกิจออนไลน์ สุดท้ายไม่สามารถถอนเงินที่โอนไปคืนได้
มิจฉาชีพมักยิงโฆษณา ให้โหลดแอปดังกล่าวตามโซเชียล ซึ่งมักขึ้นป๊อบอัป (Pop-Up) กับวิดีโอที่ดูผ่าน YouTube เพจหรือกลุ่มประกาศหางานใน facebook หรือ สุ่มส่ง SMS หรือ ลิงก์ทางไลน์ โดยล่อเหยื่อด้วยการเชิญชวนทำงานด้วยการอ่านข่าวออนไลน์ อ้างทำงานง่ายให้ผลตอบแทนดี
สำหรับกรณีนี้ กลุ่มผู้เสียหาย ได้พบโฆษณาแล้วโหลดแอปดังกล่าว เมื่อเข้าแอปแล้วจะปรากฎลิงก์ให้อ่านข่าวปกติ แล้วปรากฏข้อความเพื่อดึงดูดความสนใจในการหารายได้
โดยให้ผู้เสียหายเข้าไลน์กลุ่ม Open Chat โดยสมาชิกในกลุ่มนั้นทั้งหมดเป็นหน้าม้า จะพยายามสนทนา ล่อลวง ใช้อุบายต่าง ๆ โน้มน้าวใจ มีการรีวิวผลตอบแทน รวมทั้งมีการทำคลิปวีดีโอแนะนำวิธีการทำงาน
พร้อมทั้งมีการอ้างความน่าเชื่อถือว่าบริษัททำสัญญากับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของโลก เพียงสำรองเงินเพื่อเข้าไปอ่านข่าว หรือดูโฆษณาของบริษัทชื่อดังต่างๆ เช่น อเมซอน ลาซาด้า ซอปปี้ ก็จะได้เงินกลับคืนในอัตรา 10-20 % ภายใน 10 นาที
เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อมิจฉาชีพ จะให้เริ่มโอนเงินในจำนวนที่ต่ำก่อน และให้ทดลองถอนเงินจากระบบ ซึ่งพบว่าประมาณ 3- 4 ครั้งแรก สามารถถอนได้จริง เช่น ลงทุน 1,000 บาท ได้กำไร 1,200 บาท
กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อและเริ่มลงทุนในอัตราที่เพิ่มมากขึ้น มีการกำหนดกเกณฑ์ในการโอนเงินเพิ่มขึ้น เช่น ต้องโอนเงินให้ครบตามจำนวนแพคเกจ เช่น
- แพ็คเกจ ที่ 1 จำนวน 10,000 บาท
- แพ็คเกจที่ 2 จำนวน 3,000 บาท
- แพ็คเกจที่ 3 จำนวน 66,000 บาท
หากทำไม่ครบ จะไม่สามารถถอนเงินทั้งหมดคืนได้ ซึ่งยอดความเสียหายที่กลุ่มผู้เสียหายโดนหลอกลวงไปทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 3,869,188 บาท
ต่อมา พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนเพื่อเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้หลายราย
เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 68 ประมาณ 12.00 น. พ.ต.อ.บัญชา ศรีสุข รอง ผบก.สอท.5, พ.ต.อ.อุกฤช ศรีนิติวรวงศ์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.5, พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าว บก.สอท.5 สั่งการให้ พ.ต.ต.กิตติเดช สมวงศ์ สว.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.5
พร้อมชุดสืบสวน นำกำลังเข้าจับกุม 1 ในเครือข่ายผู้ร่วมกระทำผิด โดยได้จับตัวนายจักรินทร์ อายุ 26 ปี ชาว จ.เพชรบูรณ์ ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมฯ” จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
จากการตรวจสอบแพลตฟอร์มหลอกลวงดังกล่าว พบว่าได้ยิงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กจนมีผู้ติดตามหลักแสน และสามารถดาวน์โหลดแอปดังกล่าวได้ทั้งระบบ iOS และ Android ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลหาตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดำเนินคดี และประสานขอปิดกั้นแพลตฟอร์มดังกล่าวทุกช่องทางต่อไป
กรณีผู้เสียหายจากแพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถรวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจ หรือ แจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.go.th คลิก เท่านั้น ปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน AOC 1441
ทั้งนี้ ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายใน การเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
- พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.,
- พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร.
- พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร.
ได้ขับเคลื่อนนโยบายผ่าน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบควบคุมสั่งการ บช.สอท. - พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้สั่งการให้
- พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท.
นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพื่อสามารถติดตามทรัพย์สินที่หลอกลวงไปกลับมาเยียวยาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย จนนำมาสู่ปฏิบัติการดังกล่าว