จ่อคลอด พ.ร.ก. ‘แบงก์’ – ‘ค่ายมือถือ’ ร่วมจ่าย แก้ปัญหามิจฉาชีพดูดเงินคนไทย
“ประเสริฐ” ดันกฎหมายแก้ปัญหาคอลเซนเตอร์ให้แบงก์ – ค่ายมือถือร่วมจ่าย จ่อออกเป็น พ.ร.ก.เร่งด่วนภายในเดือน ม.ค.นี้ ชี้ชัดแบงก์หากปล่อยให้เปิดบัญชีม้าเข้าข่ายมีความผิด ค่ายมือถือปล่อยให้มีเอสเอ็มเอสแนบลิงก์ก็ผิดเช่นกัน ต้องร่วมจ่ายหากประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการออกกฎหมายเพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมีส่วนร่วมรับผิดชอบหากประชาชนถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกเงินจากบัญชีว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
โดยรัฐบาลต้องการให้กฎหมายบังคับใช้ได้อย่างรวดเร็วจึงเตรียมที่จะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้งนี้คาดว่า พ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ม.ค.2568 ได้เลย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาโดยให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย หากไม่มีการวางมาตรการในการรองรับที่ดีพอ
“ถ้าเป็น พ.ร.ก.จะออกได้เร็วผมคาดว่าภายในเดือน ม.ค.นี้ก็จะออกมาได้ เพราะไม่ต้องเข้าสภาฯสามารถประกาศราชกิจจาได้เลยถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นประโยชน์กับประชาชน” นายประเสริฐ กล่าว
โดยกฎหมายเรื่องนี้มีคนถามเข้ามามากว่ามิจฉาชีพออนไลน์มีมาก เรื่องนี้เป็นไปตามข้อกำหนดที่มีการหารือกับคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งกฎหมายการป้องกันและปราบปรามภัยทางไซเบอร์ที่มีการหารือกันแล้ว
ยกตัวอย่างว่าหากสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ไม่ทำระบบป้องกันที่ดีพอปล่อยให้เกิดความเสียหาย เช่น ปล่อยให้มีการเปิดบัญชีม้า โดยที่ไม่มีการสอบถามเลยว่าคนที่ไม่มีอาชีพจะเปิดบัญชีธนาคาร 10 บัญชี ได้อย่างไร ต้องสอบถามด้วยถึงเหตุผลของการเปิดบัญชี ไม่ใช่ปล่อยให้มีการเปิดบัญชีได้ง่ายๆ เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นจากกรณีนี้คุณต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ
หรือกรณีนิติบุคคลที่มีการเปิดบัญชี ก็ต้องมีการชี้ว่าเป็นบัญชีต้องห้ามตามบัญชี HR03 หรือไม่ บัญชีที่เป็นผู้ต้องสงสัยในการทำความผิดก็ต้องป้องกันไม่ให้มีการเปิดบัญชี ไม่ใช่ว่าใครที่เดินเข้าไปที่ธนาคารก็จะสามารถเปิดได้ทุกราย หากปล่อยปะละเลยก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเช่นกัน
โดยมีปัจจุบันมีประมาณ 100 บัญชีที่เป็นบัญชีนิติบุคคลแล้วเป็นบัญชีม้าต้องมีการตรวจสอบโดยเชื่อมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อตรวจสอบว่าเป็นชื่อที่อยู่ในบัญชีดำหรือไม่
ถ้าอยู่ในบัญชีดำจะเปิดไม่ได้ถือว่าเป็นการตัดวงจรทางการเงิน
นอกจากนี้ในกรณีของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์หากยังปล่อยให้มีข้อความ SMS ที่ปล่อยมาแล้วเก็บค่าส่งโดยที่ไม่ระมัดระวังว่าเป็น SMS ที่มีการแนบลิงก์ดูดเงินมาด้วย ก็ต้องมีการร่วมจ่ายกับผู้ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกด้วย ถือเป็นการป้องกันที่ระบบซึ่งเอกชนต้องมาช่วยรัฐบาลด้วย