เมื่อ เอสเอ็มอี ใช้การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นอาวุธสร้างความสำเร็จ
เอสเอ็มอี หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของภาคเอกชน เพราะความสำคัญของ เอสเอ็มอี ต่อเศรษฐกิจมีมาก
คือมีสัดส่วนต่อการผลิตในประเทศประมาณร้อยละ 37 และเป็นแหล่งจ้างแรงงานไร้ฝีมือที่ใหญ่ที่สุด ความสำคัญดังกล่าว ทำให้ภาครัฐและเอกชนพูดถึงการให้ความช่วยเหลือธุรกิจ เอสเอ็มอี อยู่เสมอ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและย่อยมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนหนึ่งเพราะการแข่งขันที่มีมากในตลาดบน หรือลูกค้ารายใหญ่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องโยก “โมเดลธุรกิจ” มาให้ความสำคัญกับธุรกิจ เอสเอ็มอี มากขึ้น เพื่อหาตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพื่อ “เสาะหา” นักธุรกิจรายใหม่ที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตมาเป็นลูกค้า เพราะทุกธุรกิจไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหน ต้องเริ่มจากเล็กก่อนเสมอ คือ เริ่มจากการเป็น เอสเอ็มอี
ภายใต้ธุรกิจปัจจุบันที่เป็นโลกาภิวัตน์ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีโอกาสที่จะขยับขยายและเติบโตได้ง่ายกว่าเดิม ส่วนหนึ่ง เพราะสังคมปัจจุบันเป็นสังคมของการทดลองเรียนรู้โดยผู้ประกอบการรายใหม่ จากข้อมูลการติดต่อและการเดินทางที่ทำได้ง่ายกว่าอดีต ทำให้การเรียนรู้ความสำเร็จของธุรกิจจากที่อื่นๆ ทำได้ง่าย สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่อยากทดลอง อยากทำตาม ความอยากที่จะทำธุรกิจเองโดยคนรุ่นใหม่จึงมีสูงกว่าในอดีต แม้ด้วยเงินลงทุนของตนเอง สอง เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตช่วยทำให้การเจาะตลาด การหาเทคโนโลยี รวมถึง การหาข้อมูลต่างๆ ทำได้ง่าย ลดข้อจำกัดในเรื่องความไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอย่างไร และสาม อย่างที่กล่าวสถาบันการเงินก็สนใจสนับสนุน พยายามมองหา “เพชรในตม” เพื่อสร้างลูกค้าใหม่ และพร้อมสนับสนุนเต็มที่ ถ้าเจอผู้ประกอบการที่เข้าตา
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้พัฒนาการและการเติบโตของผู้ประกอบการรายย่อย มีต่อเนื่อง แต่ธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ไม่ได้มีทุกราย เหมือนกับว่าการเริ่มต้นธุรกิจทำได้ไม่ยาก แต่เมื่อธุรกิจโตถึงจุดหนึ่ง ก็อาจแผ่วหรือโตต่อยาก คือไม่สามารถผลักให้เติบโตทะลุสิ่งที่ดูเหมือนจะปิดกั้นอยู่ได้ เหมือนมีปัญหาทั้งเรื่องการหาคนงานมาทำงาน ปัญหากับเจ้าหนี้ ลูกค้า บริษัทคู่ค้าให้แก้ตลอดเวลา มากรายที่ต้องหยุดกิจการ เพราะขาดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ยอมวางมือ เพราะแก้ไขปัญหาไม่ได้
ในมุมมองของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี ปัจจัยแห่งความสำเร็จปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อธุรกิจ เอสเอ็มอี และเป็นปัจจัยที่แยกแยะระหว่างธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่ประสบความสำเร็จ กับธุรกิจที่ต้องวางมือก็คือ การนำแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาใช้ในการบริหารและขับเคลื่อนธุรกิจ ข้อสรุปนี้ ไอโอดี ได้มาจากการวิเคราะห์ดูธุรกิจใหญ่ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จที่เริ่มต้นจาก เอสเอ็มอี และถามว่าปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้คืออะไร คำตอบที่ได้ก็คือ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดีในการทำธุรกิจ เพราะการกำกับดูแลกิจการที่ดี คือ ฐานของความสำเร็จ ของความยั่งยืนของธุรกิจ อันนี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ถ้าจะถามว่าทำไมการกำกับดูแลกิจการที่ดีจึงสำคัญต่อธุรกิจ เอสเอ็มอี ผมว่ามีเหตุผลที่ดีมากๆ อย่างน้อยสองข้อ
ข้อแรก การกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือที่เรามักเรียกว่า ธรรมาภิบาล หรือบรรษัทภิบาลนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ เอสเอ็มอี อย่างที่บอก ธุรกิจ เอสเอ็มอี เมื่อโตถึงจุดหนึ่งก็เหมือนโตไปติดกำแพง ไม่สามารถทะลุออกไปได้ เพราะมีปัญหามาก ทั้งจากลูกน้อง คนงานที่ออกบ่อย เปลี่ยนบ่อย หายาก จากลูกค้าที่ยังไม่ให้ความไว้วางใจในตัวสินค้าทั้งๆ ที่เป็นลูกค้ากันมานาน จากเจ้าหนี้หรือธนาคารที่ปล่อยกู้ ที่ลึกๆ ยังไม่ไว้วางใจ ยังเข้มงวดไม่ผ่อนปรน แม้จะจ่ายหนี้ ชำระเงินครบตรงตามกำหนด และแม้แต่ธุรกิจที่เราค้าขายด้วย ซื้อของจากเขามานานก็ยังทวง ยังขอเครดิตยาก เหมือนไม่ยอมวางใจกัน
ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ เอสเอ็มอี ทุกรายถึงจุดหนึ่งจะประสบ และแรงเสียดทานทั้งหมดก็มาจากฐานปัญหาเดียวกัน คือทั้งลูกจ้าง ลูกค้า เจ้าหนี้ และธุรกิจคู่ค้า ยังไม่วางใจหรือเชื่อถือเราเต็มที่ในการทำธุรกิจ และสาเหตุสำคัญก็มาจากตัวเราเองที่ธุรกิจของเรายังไม่เป็นระบบ ไม่มีแนวปฏิบัติ หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีรองรับที่จะสร้างความอุ่นใจ หรือความวางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่ถ้าบริษัทมีหลักปฏิบัติหรือมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีรองรับในการทำธุรกิจ ความไม่ไว้วางใจเหล่านี้ก็จะลดลง เพราะผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะให้ความเชื่อถือในระบบ ในหลักปฏิบัติ ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เรามี ทำให้ข้อกังวลหรือข้อสงสัยต่างๆ ลดลง คือธุรกิจจะเริ่มได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน เจ้าหนี้ ลูกค้า และบริษัทที่เราค้าขายด้วย เมื่อความไว้วางใจเกิด ปัญหาก็จะลดลง ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ เอสเอ็มอี ระหว่างกลุ่มที่ประสบความสำเร็จกับกลุ่มที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือ การมีแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ความสำคัญข้อสอง ก็คือปัจจุบัน แนวการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญซึ่งรวมถึงธุรกิจ เอสเอ็มอี พูดง่ายๆ ธุรกิจที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะได้เปรียบคู่แข่ง มีโอกาสประสบความสำเร็จง่ายกว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะโลกธุรกิจยุคโลกาภิวัตน์อย่างปัจจุบันติดต่อถึงกันหมด อยู่ในตลาดโลกใบเดียวกัน ทำให้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เทคโนโลยี หรือแม้แต่พนักงาน สามารถซื้อ หรือจัดจ้างได้เหมือนกันในราคาที่ไม่แตกต่างกัน ปัจจัยนี้ทำให้ความแตกต่างด้านต้นทุนระหว่างบริษัทต่างๆ มีน้อย ต้นทุนจะคล้ายๆ กัน การแข่งขันทางธุรกิจจึงมุ่งไปที่ปัจจัยอื่น ซึ่งที่สำคัญก็มีสองปัจจัย อันแรกคือ ความสามารถด้านนวัตกรรม หรือ Innovation อันที่สองคือ ธรรมาภิบาล หรือการมีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการทำธุรกิจ บริษัทที่มีพร้อมทั้งสองปัจจัยนี้ จะเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าบริษัทอื่น
ในเรื่องนี้ขอขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า ถ้าเราเป็น เอสเอ็มอี และต้องการขยายธุรกิจ พอดีมีนักลงทุนต่างประเทศสนใจที่จะร่วมลงทุน แต่กำลังพิจารณาเลือกบริษัทอยู่หลายบริษัท ในสายตาของนักลงทุนคนนี้ บริษัทที่เป็นเป้าหมายที่จะร่วมลงทุน (คือเป็นตัวเลือก) จะมีเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิต และความสามารถในการบริหาร ไม่แตกต่างกันมาก แต่บริษัทที่เด่นและในที่สุดจะเป็นตัวเลือก ก็คือ บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ เพราะจะสร้างความสบายใจให้กับผู้ลงทุนว่าเงินที่เขานำมาลงทุนจะไม่เสียหายง่ายๆ เพราะบริษัทมีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการบริหารจัดการ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจได้มากกว่าบริษัทที่ไม่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในแง่โอกาสความยั่งยืนและความสำเร็จของธุรกิจ
เมื่อสองอาทิตย์ก่อน สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี ได้จัดหลักสูตรอบรมแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับ เอสเอ็มอี โดยมีนักธุรกิจ เอสเอ็มอี กว่า 40 รายเข้าร่วม และได้หารือกันในเรื่องความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีต่อความสำเร็จของธุรกิจ เอสเอ็มอี แนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ เอสเอ็มอี ว่าควรมีอะไร และควรนำปัจจัยเหล่านี้มาปฏิบัติใช้อย่างไร จากข้อมูลสะท้อนกลับ ผู้เข้าอบรมเห็นว่า แนวทางดังกล่าวมีประโยชน์และสามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง จึงอยากเชิญชวนให้ ธุรกิจ เอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยทั้งในความสำเร็จของธุรกิจ และในการพัฒนาและเติบโตอย่างมีคุณภาพของธุรกิจเอกชนของประเทศ