กลไกใหม่ๆ สำหรับ "การเงินเพื่อสังคม" (3): ประสบการณ์จาก "พันธบัตรเพื่อสังคม" ของจริง
ตอนที่แล้วผู้เขียนอธิบายแนวคิด ข้อดีและข้อเสียของ พันธบัตรเพื่อสังคม (social impact bond) ซึ่งถูกออกแบบมาเชื่อมนักลงทุนเอกชน
เข้ากับโครงการสาธารณะของรัฐ ด้วยความหวังว่า การ “ผนึก” แรงจูงใจของเอกชน วินัยของตลาด กับเป้าหมายทางสังคมเข้าด้วยกัน จะช่วยให้โครงการดีๆ ซึ่งสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในทางที่ช่วยรัฐประหยัดเงิน ได้เข้าถึงแหล่งทุนมากกว่าทุกยุคที่แล้วมา
วันนี้มาดูพันธบัตรเพื่อสังคมที่ออกจริงกันแล้วบ้าง
พันธบัตรเพื่อสังคมโครงการแรกในโลกถือกำเนิดในอังกฤษ ในปี 2010 โดย Social Finance UK (http://www.socialfinance.org.uk/) องค์กรไม่แสวงกำไรซึ่งตอนนี้เปิดสาขาที่สหรัฐอเมริกากับอิสราเอลด้วย ระดมทุน 5 ล้านปอนด์จากนักลงทุนสถาบัน 17 ราย ไปใช้ในการสนับสนุนโครงการ “One Service” (http://www.onesib.org/) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรการกุศล 5 แห่งในอังกฤษ นำโดย St. Giles Trust และ YMCA
เป้าหมายของโครงการ One คือ ช่วยเหลืออดีตนักโทษชาย 3 รุ่น รุ่นละ 1,000 คน รวม 3,000 คน ที่เคยต้องโทษจำคุกระยะสั้น (ไม่ถึง 1 ปี) ในเมืองปีเตอร์โบรว์ (Peterborough) ไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก โดยให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ที่พักอาศัย ฝึกอบรมทักษะ บำบัดอาการติดยา ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับครอบครัว ไปจนถึงการช่วยหางานและบริการอื่นๆ ที่จำเป็น
“วิธีทำงาน” ของพันธบัตรเพื่อสังคมฉบับนี้คือ จะติดตามอัตราการกระทำผิดซ้ำ (recidivism rate) ของอดีตนักโทษที่เข้าโครงการ One เป็นระยะเวลา 12 เดือนหลังจากที่ถูกปล่อยตัว เปรียบเทียบกับอัตราเดียวกันของอดีตนักโทษกลุ่มอื่นที่อยู่นอกโครงการ ถ้าหากอัตราการกระทำผิดซ้ำของอดีตนักโทษในโครงการลดลงมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างน้อยร้อยละ 7.5 รัฐบาลอังกฤษจะจ่ายเงินต้นคืนให้กับนักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรเพื่อสังคมไป พร้อมด้วยดอกเบี้ย ยิ่งอัตราการกระทำผิดซ้ำลดลงมากเท่าไร รัฐบาลยิ่งจ่ายผลตอบแทนนักลงทุนมากเท่านั้น เพราะอัตราการกระทำผิดยิ่งลดลง แปลว่ารัฐยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาเรือนจำได้ โดยพันธบัตรนี้กำหนดอัตราการตอบแทน (ดอกเบี้ย) สูงสุดไว้ที่ร้อยละ 13 ต่อปี
ในทางกลับกัน ถ้าหากอัตราการกระทำผิดซ้ำของอดีตนักโทษในโครงการนี้ลดลงต่ำกว่ากลุ่มเปรียบเทียบไม่ถึงร้อยละ 7.5 นักลงทุนก็จะสูญเงินลงทุนทั้งหมดไป
พันธบัตรเพื่อสังคมปีเตอร์โบรว์ฉบับนี้มีอายุ 8 ปี นักลงทุนคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนรอบแรกในปี 2014 หรือครึ่งทางนับจากวันที่ออกพันธบัตร
ผลการดำเนินงานของพันธบัตรนี้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร? กลางปี 2013 กระทรวงยุติธรรมของอังกฤษออกรายงานประเมินผลโครงการนี้เบื้องต้น พบว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำของอดีตนักโทษในปีเตอร์โบรว์ (ซึ่งเป็นเรือนจำที่ส่งอดีตนักโทษเข้าโครงการ One ทุกคน) ลดลงร้อยละ 6 คือจากร้อยละ 87 ระหว่างปี 2008-2010 เป็นร้อยละ 81 ระหว่างปี 2010-2012 หรือช่วงเวลาหลังจากที่ออกพันธบัตรเพื่อสังคมและเริ่มดำเนินโครงการ
ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราการกระทำผิดซ้ำของอดีตนักโทษทั่วประเทศอังกฤษกลับเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 16 ฉะนั้นเท่ากับว่าโครงการ One สร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 6 + 16 = ร้อยละ 23 นับว่าสูงกว่าความแตกต่างร้อยละ 7.5 ซึ่งเป็นเกณฑ์ “ขั้นต่ำ” ในการจ่ายผลตอบแทนของพันธบัตรเพื่อสังคมฉบับนี้ค่อนข้างมาก
ปัจจุบัน Social Finance UK อยู่ระหว่างรอผลการประเมินอย่างเป็นทางการของผู้ประเมินอิสระ ซึ่งจะเข้ามาทำการประเมินตามเงื่อนไขในพันธบัตร และระบุว่านักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนหรือไม่และเท่าใด แต่ผลการประเมินเบื้องต้นของกระทรวงยุติธรรมก็ชี้ว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภายในปี 2014 นักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรฉบับนี้ไปน่าจะได้รับผลตอบแทนค่อนข้างดีเลยทีเดียว
ผลประกอบการจนถึงปัจจุบันของพันธบัตรเพื่อสังคมฉบับแรกของโลกนี้ดูจะเป็นข่าวดีสำหรับวงการใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ แต่ทว่ามั่นคง มีโครงการนำร่องมากมายในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์บางคนก็เตือนว่า อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะพันธบัตรฉบับแรกนี้ไม่ได้เชื่อม “ค่าใช้จ่ายที่รัฐประหยัดได้” เข้ากับ “ผลลัพธ์ทางสังคม” และ “ผลตอบแทนของนักลงทุน” ตามปรัชญาการออกพันธบัตรเพื่อสังคมเสียทีเดียว สุดท้าย “มูลค่า” ของพันธบัตรฉบับนี้เป็นสิ่งที่เกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับนักลงทุนและตัวกลางอย่าง Social Finance UK มากกว่า
พูดง่ายๆ คือ หลายคนมองว่านักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรฉบับนี้ไปได้ผลตอบแทนมากกว่าที่ควรจะได้รับ รัฐบาลอังกฤษไม่ได้ประหยัดเงินได้ขนาดนั้น แต่รัฐบาลก็ยอมจ่ายเพราะมองว่า มูลค่าทางสังคมส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ความที่พันธบัตรฉบับนี้เป็นพันธบัตรเพื่อสังคมฉบับแรกในโลก รัฐบาลอังกฤษอยากให้คุณค่ากับ “นวัตกรรม” ของมัน เพื่อจุดประกายให้ประเทศอื่นทำตาม
เจตนาของอังกฤษสัมฤทธิผล ทุกวันนี้เราได้เห็นโครงการนำร่องพันธบัตรเพื่อสังคมมากมายในหลายประเทศ แทบทุกทวีปทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลหลายประเทศ “ถังแตก” ต้องมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการระดมทุนมาใช้ดำเนินโครงการสาธารณะ
ในปี 2010 กระทรวงยุติธรรมอเมริกันใช้กฎหมาย Second Chance ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการกระทำผิดซ้ำของอดีตนักโทษ เช่นเดียวกับอังกฤษ เป็นฐานในการมอบรางวัลให้กับสองโครงการที่ใช้พันธบัตรเพื่อสังคมเป็นกลไกหลักในการระดมทุน ได้แก่โครงการของเทศบาลเมืองคูยาโฮกา (Cuyahoga) มลรัฐโอไฮโอ และแผนการออกพันธบัตรเพื่อสังคมของเมืองโลเวล (Lowell) มลรัฐแมสซาชูเซ็ทท์
ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 2012 เทศบาลมหานครนิวยอร์กก็ออกพันธบัตรเพื่อสังคมเช่นกัน โดยมี โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) สถาบันวาณิชธนกิจชื่อดัง ลงทุนนำร่องเป็นมูลค่า 9.6 ล้านดอลลาร์ โดยออกแบบโครงสร้างการลงทุนในรูปของเงินกู้ ผู้ดำเนินโครงการคือ MDRC (http://www.mdrc.org/) สถาบันวิจัยนโยบายสังคมชั้นนำ จะนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรดังกล่าวไปดำเนินโครงการลดอัตราการกระทำผิดซ้ำของอดีตนักโทษจากเรือนจำเกาะไรเกอร์ส (Rikers) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการกระทำผิดซ้ำสูงถึงร้อยละ 50
เงื่อนไขของพันธบัตรฉบับนี้คล้ายกับพันธบัตรเพื่อสังคมฉบับแรกในอังกฤษ กล่าวคือ ถ้าหากอัตราการกระทำผิดซ้ำลดลงร้อยละ 10 ตลอดระยะเวลา 4 ปี โกลด์แมน แซคส์ ก็จะได้เงินลงทุนคืนโดยไม่มีดอกเบี้ย (คือถอนทุนเฉยๆ) แต่ถ้าโครงการลดอัตราการกระทำผิดซ้ำได้มากกว่านั้น โกลด์แมนก็จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ทั้งหมดจะได้ไม่เกิน 2.1 ล้านดอลลาร์ (หรือคิดเป็นผลตอบแทนร้อยละ 21.9 บนเงินลงทุน 9.6 ล้านดอลลาร์)
ในทางกลับกัน ถ้าหากโครงการนี้ไม่สามารถลดอัตราการกระทำผิดซ้ำได้ถึงร้อยละ 10 โกลด์แมนก็เสี่ยงที่จะสูญเงินลงทุน อย่างไรก็ดี อย่างมากโกลด์แมนจะได้รับผลขาดทุน 2.4 ล้านดอลลาร์ ไม่ใช่สูญเงินลงทุนทั้งก้อนคือ 9.6 ล้านดอลลาร์ เพราะองค์กรการกุศล Bloomberg Philanthropies ให้สัญญาว่าจะรับผลขาดทุนแทน สูงสุด 7.2 ล้านดอลลาร์
ผลลัพธ์ทางสังคมของโครงการนี้ (ซึ่งจะบอกว่าโกลด์แมนในฐานะนักลงทุนจะได้หรือเสีย) จะประกาศผลเป็นครั้งแรกในปี 2016 แต่ก่อนหน้านั้นเราน่าจะมั่นใจได้ว่า จะได้เห็นพันธบัตรเพื่อสังคมนำร่องเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ รวมถึงน่าจะได้เห็นการนำกลไก “การเงินเอื้อสังคม” แนวนี้ไปใช้กับโครงการเพื่อสังคมในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประสบปัญหามากมายตั้งแต่ประสิทธิผลของโครงการ ไปจนถึงการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นทาง และความไม่โปร่งใสของเอ็นจีโอผู้ดำเนินโครงการบางองค์กร ซึ่งทำให้โครงการไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างที่ควรเป็น
หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า กลไกพันธบัตรเพื่อสังคมน่าจะสามารถนำมาปรับปรุง “ความโปร่งใส” และ “ความรับผิด” ในภาคเอ็นจีโอและภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ต่างจากที่กลไกการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและระดับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน เปรียบเทียบกับบริษัทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนมาแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนทุกหนแห่งย่อมเรียกร้องความโปร่งใส เพราะไม่อยากนำเงินลงทุนของตัวเองไปเสี่ยงกับความไม่ชอบมาพากล และกลไกที่ไร้ประสิทธิภาพ