กฎหมายการท่องเที่ยวของไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่ AEC
ช่วงเวลาอีกไม่ถึง 1 ปีข้างหน้า ความฝันที่จะเป็นมหานครอาเซียนที่มีความปึกแผ่นด้านการค้าสินค้าและการค้าบริการ
รวมถึงการเป็นกลุ่มมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งของโลกกำลังจะมาถึงเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยสมบูรณ์ในปี 2558 ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการกีดกันทางการค้าและช่วยขับเคลื่อนการซื้อขายสินค้าในระหว่างประเทศสมาชิกให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังหมายรวมถึงการเปิดเสรีด้านบริการ (Trade in Services) ในสาขาที่สำคัญ เช่น สาขาการเงิน สาขาการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม และยังรวมไปถึงสาขาการท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อประเทศไทย
ประเทศไทยมีจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวมากเป็นลำดับที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศมาเลเซีย คือปีละประมาณ 20 ล้านคนและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศได้มากเป็นลำดับที่ 1 ของภูมิภาค โดยภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้ประมาณร้อยละ 9 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 2 ล้านคน ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวหลายประการที่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ดังนั้น การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของมหานครอาเซียน โดยเฉพาะการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกอาเซียนกว่า 500 ล้านคนให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้น
เมื่อพิจารณาในกรอบความตกลงอาเซียนด้านการค้าบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) กรอบความตกลงฉบับนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนสามารถถือหุ้นในธุรกิจบริการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ถึงร้อยละ 70 อันอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งในทางบวกและทางลบ ในด้านบวก กรอบความตกลงดังกล่าวจะนำมาซึ่งโอกาสในการลงทุนด้านการท่องเที่ยวของนักลงทุนไทยในประเทศเพื่อนบ้าน การผูกโยงการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้การแข่งขันในธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มทุนต่างชาติด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น รัฐจึงควรส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่และสามารถปรับตัวกับการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เมื่อพิจารณาในบริบทกฎหมายภายใน จะพบว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ ททท. พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ซึ่งจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการพัฒนาระบบธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2527 เป็นต้น
กฎหมายเหล่านี้มีส่วนทั้งในการควบคุมกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความเจริญก้าวหน้า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาช่องว่างของกฎหมายรวมถึงความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในหลายกรณี ทำให้พบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอยู่เสมอ เช่น ปัญหาจากบริษัททัวร์และมัคคุเทศก์เถื่อน ปัญหาการลักลอบนำสินค้าผิดกฎหมายเข้าประเทศไทย ปัญหาการรุกล้ำสาธารณสมบัติของแผ่นดินของผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนเพื่อรักษาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่ได้
นอกจากการแก้ไขปัญหาที่ประสบอยู่ในปัจจุบันแล้ว ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทระหว่างสายการบินกับบริษัททัวร์รวมถึงผู้ใช้บริการสายการบินทั้งในประเทศและสายการบินระหว่างประเทศให้มีความสะดวกรวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น การให้สิทธิและการกำหนดหน้าที่ในการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม การคุ้มครองการรักษาพยาบาล กฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยในกรณีได้รับความเสียหายจากการกระทำที่ไม่เป็นธรรม การกำหนดรูปแบบในการทำหนังสือเดินทางและวีซ่าที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังประเทศไทยและส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระยะยาว
จะเห็นได้ว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีผลโดยตรงต่อประเทศไทยโดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่เราต้องกลับมาคิดทบทวนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ในแง่มุมทางกฎหมาย คือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ตลอดจนการคุ้มครองดูแลนักท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งถ้าหากทำได้ โอกาสของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของมหานครอาเซียนก็คงไม่ไกลเกินฝัน