ควันพิษจากกองขยะ ภัยร้ายในชุมชนเมือง
กรณีไฟไหม้บ่อขยะที่อบต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ประเด็นที่น่าติดตามหลังจากนี้ คือผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม
ที่อาจจะต้องใช้เวลาในการเยียวยาให้ดีขึ้น นอกจากนี้ปัญหาสุขภาพของชาวบ้านโดยรอบ ที่ได้รับผลกระทบมลพิษจากควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่ในรัศมีหลายกิโลเมตร ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ(คพ.)เผยผลการตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจวัดความเข้มไอระเหยสารเคมี ที่บริเวณกองขยะที่เกิดไฟไหม้ และรอบชุมชนห่างจากจุดเกิดเหตุในรัศมี 200 เมตร พบค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ตรงกองขยะ สูงถึง 175 พีพีเอ็มหรือเกิน 6 เท่าจากค่ามาตรฐานที่ไม่เกิน 27 พีพีเอ็ม ส่วนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 4-5 พีพีเอ็ม จากค่ามาตรฐาน 0.2 พีพีเอ็ม ขณะที่สารวีโอซี 0.9-1.0 พีพีเอ็ม โดยถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 0.09 พีพีเอ็ม
นอกจากนี้ยังตรวจพบฝุ่นขนาดเล็ก 10 ไมครอนในรัศมี 1 กิโลเมตร วัดได้ 354 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน 3 เท่า ที่กำหนดไว้ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าอันตรายมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ มีความเสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็ง
ล่าสุดเมื่อวานนี้(18มี.ค.)คพ.ได้ติดตั้งหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นอีกสองจุด คือ บริเวณชุมชนใกล้หมู่บ้านปัญฐิญา ห่างจากบ่อขยะไฟไหม้ จ.สมุทรปราการ ประมาณ 1.5 กม. และบริเวณ อบต.แพรกษา เพื่อติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ บริเวณบ่อขยะไฟไหม้อย่างใกล้ชิด จากที่ก่อนหน้านี้ได้ติดตั้งไปแล้วที่บริเวณซอยแพรกษา 8 ห่างจากบ่อขยะประมาณ 700 - 1 กม.
ขณะที่แผนตั้งรับของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คือ 1.การจัดบริการทางการแพทย์ เบื้องต้นให้โรงพยาบาลสมุทรปราการ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ที่อบต.แพรกษา และวัดแพรกษา รวมถึงให้บริการในสถานพยาบาลสังกัด สธ.ทั้งหมด 2. การเฝ้าระวังในสามกลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มสัมผัสมาก เช่น นักผจญเพลิง และประชาชนที่อยู่ห่างจากบ่อขยะ 200 เมตร โดยจะมีการตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์ เจาะเลือดและประเมินว่าต้องตรวจสารก่อมะเร็งหรือไม่ 2.กลุ่มสัมผัสปานกลาง และสุดท้ายกลุ่มสัมผัสน้อย โดยการให้ความรู้และการป้องกัน ซึ่งมีการแจกหน้ากากอนามัยตามปริมาณการสัมผัส
สธ.แนะว่าการใส่หน้ากากอนามัยจะสามารถป้องกันได้แค่ฝุ่นเท่านั้น แต่หากเป็นสารเคมีจะไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะชุมชนใกล้บ่อขยะ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหอบหืด ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็กแรกเกิด ควรจะอพยพออกจากพื้นที่
ทว่ายังมีหลายคำถามที่ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบยังรอฟังคำตอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ หรือแม้แต่หน่วยงานท้องถิ่นอย่าง อบต.แพรกษา ว่าเหตุใดยังคงปล่อยให้มีการทิ้งขยะในบริเวณดังกล่าว ทั้งที่มีการร้องเรียนผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับนโยบายหลายครั้ง ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
แม้แต่กรมควบคุมมลพิษเอง ยังจดๆจ้องๆ ว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม กับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงหรือไม่