สิทธิที่จะตาย

สิทธิที่จะตาย

เมื่อพูดถึงสิทธิที่จะตาย (Right to Die) เรามักจะนึกถึงการ การุณยฆาต หรือ "Mercy Killing" ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Euthanasia

ประกอบไปด้วยสิทธิ 2 อย่าง คือ

1) สิทธิที่จะฆ่า - ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข เช่น แพทย์หรือพยาบาล สามารถละเว้นการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยไม่ผิดกฎหมาย หรือ การทำให้ผู้ป่วยตายโดยสงบ หรือ การุณยฆาต ซึ่งรวมถึงการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ (Assisted Suicide) การช่วยทำให้ผู้อื่นตายด้วยความเมตตาสงสารนี้ก็เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน จากการเจ็บป่วยต่างๆ ที่หมดหวังจะหาย วิธีการก็เช่น ฉีดยาให้ผู้ป่วยตายให้พ้นจากความเจ็บปวด หรือ ปลดสายออกซิเจนให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตไม่รู้สึกตัวมานานเพื่อให้ตายพ้นความทรมาน เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าการการุณยฆาตนั้น มีทั้งแบบที่เป็นการช่วยทำให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวังตาย (Active Euthanasia) และการปล่อยให้ผู้ป่วยเหล่านั้นตายลงอย่างสงบ (Passive Euthanasia) ซึ่งอาจจะเกิดมาจากความปรารถนาที่จะฆ่าตัวตายของผู้ป่วยเองแบบสมัครใจ หรืออาจจะมาจากการร้องขอของญาติให้แพทย์จบชีวิตผู้ป่วยแทน เพราะผู้ป่วยไม่มีทางใดที่จะขอให้จบชีวิตตนเองได้

อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ในแทบจะทุกประเทศ ยังถือว่าเป็นการกระทำความผิดกฎหมายอาญาในฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ขณะเดียวกันในทางศาสนาการกระทำเช่นนี้ก็ย่อมจะขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม และมีความผิดบาปรุนแรงด้วยเช่นกัน ปัจจุบันจึงมีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และ สวิตเซอร์แลนด์นี้เท่านั้น ที่มีการออกกฎหมายรองรับสิทธิการตายในประเภทนี้เอาไว้ โดยอนุญาตให้มีการทำการุณยฆาตได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น สวิตเซอร์แลนด์กำหนดไว้ 75 ปีขึ้นไปเป็นต้น

2) สิทธิที่จะตาย - เป็นเจตจำนงของผู้ป่วยเองโดยตรงที่จะตาย หรือสิทธิในการปฏิเสธการรักษา (Right to refuse medical treatment) ในแง่นี้ บุคคลมีสิทธิแสดงความจำนงเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิตตนเองได้ โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาความต้องการในการยุติชีวิตผู้ป่วยได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วก็เนื่องมาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่เข้ามามีบทบาทสูงยิ่งในการยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปในสภาพฝืนธรรมชาติ ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยคนนั้นไม่สามารถที่จะได้รับการรักษาให้หายเป็นปกติได้เลย ในบางครั้งผู้ป่วยจึงต้องถูกพันธนาการไปด้วยเครื่องมือทางการแพทย์

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาสำนักข่าวเอเอฟพีได้รายงานว่า กลุ่มเอ็กซิท เอ.ดี.เอ็ม.ดี. (Exit A.D.M.D.) ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนการฆ่าตัวตายอย่างสงบ ที่ดูแลเฉพาะผู้ที่พูดภาษาฝรั่งเศส ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ขยายกลุ่มที่จะเข้าไปช่วยเหลือการทำให้จบชีวิตลงอย่างสงบในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่อาจจะไม่ได้ป่วยหนักถึงขั้นใกล้เสียชีวิต แต่ต้องการที่จะจบชีวิตตัวเองลงเนื่องจากสภาพร่างกายที่อ่อนแอลง และไม่ต้องการมีชีวิตอยู่

โดยนายแพทย์ เจโรมี โซเบล (Doctor Jerome Sobel) ผู้นำกลุ่มเอ็กซิท เอ.ดี.เอ็ม.ดี. เปิดเผยว่า ในการประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มเอ็กซิท เอ.ดี.เอ็ม.ดี. ได้กำหนดที่จะขยายขอบเขตการทำงานของกลุ่มที่จะเข้าไปช่วยเหลือให้จบชีวิตลงอย่างสงบให้กว้างขึ้น นอกเหนือไปจากกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยหนัก ขณะที่กลุ่มเอ็กซิท (Exit) ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานในลักษณะเดียวกันที่มีขอบเขตดูแลเฉพาะผู้ที่พูดภาษาเยอรมันและอิตาลี ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เตรียมที่จะทำตามแนวทางกลุ่มเอ็กซิท เอ.ดี.เอ็ม.ดี. ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

โซเบลกล่าวว่า สมาชิกในกลุ่มเป็นพวกผู้สูงอายุ ซึ่งหลายคนต้องการจบชีวิตลงอย่างสงบ แม้ว่าจะไม่ได้เจ็บป่วยอะไร โดยหากใครที่อายุ 75 ปีขึ้นไป แล้วอาจจะมีอาการหูหนวกหรือเริ่มมองไม่เห็น ก็จะมาขอให้ทางกลุ่มช่วยทำให้สิ้นลมอย่างสงบ เพราะถ้าหากไม่ช่วย บางคนก็จะกล่าวหาว่าเป็นการทำร้ายพวกเขา เพราะทำให้ต้องทนมีชีวิตอยู่อย่างทรมาน

นายแพทย์โซเบลกล่าวว่า ทางกลุ่มได้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เลือกที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี มากกว่าที่จะมีชีวิตอยู่อย่างยาวนานภายใต้สภาพที่เลวร้าย พร้อมกับย้ำว่าการทำงานขององค์กรเป็นไปอย่างถูกต้องภายใต้กฎหมายสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ การช่วยเหลือให้คนตายไปอย่างสงบถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ทศวรรษ 1940 โดยให้สิทธิ์แก่บุคคลในการตัดสินใจและให้ใครก็ได้เข้ามาช่วยโดยไม่ได้มาจากเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวหรือเรื่องเงิน ซึ่งบรรดากลุ่มที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยใกล้ตายและผู้ป่วยที่ต้องการจบชีวิตตัวเอง มักจะใช้วิธีการให้ยาในปริมาณที่ทำให้ถึงฆาตได้ แต่ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ใช้ยาด้วยตัวเอง

โดยเมื่อปี 2556 กลุ่มเอ็กซิท เอ.ดี.เอ็ม.ดี. ซึ่งช่วยการจบชีวิตตนเองสำหรับผู้ที่อยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้ช่วยผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยใกล้ตาย ได้ตายอย่างสงบ 155 ราย ส่วนกลุ่มเอ็กซิทช่วยได้ 459 ราย

ในส่วนของไทยเราเองนั้นมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้โดยการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงสาธารณสุขลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยไว้เรียบร้อยแล้ว

ใครสนใจก็ลองหามาอ่านดูได้ครับ