สมาคมธุรกิจต้องนำภาคเอกชนแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางไปต่างจังหวัดสองครั้ง เพื่อแนะนำโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต
หรือ CAC ให้กับนักธุรกิจในภูมิภาคและเชิญชวนบริษัทในภูมิภาคให้เข้าร่วมโครงการ CAC ครั้งแรกที่พิษณุโลก และล่าสุดที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทั้งสองงานจัดร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือและสำนักงานภาคใต้ ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานทั้งสองเป็นอย่างมากที่ให้การสนับสนุน เท่าที่ประเมิน ความสนใจของนักธุรกิจในต่างจังหวัดกับการต่อต้านการทุจริตมีมาก เพราะเป็นปัญหาใหญ่ของการทำธุรกิจในภูมิภาค และผู้ประกอบการภูมิภาคก็พร้อมจะเข้าร่วมโครงการ CAC ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี
โดยทั่วไป ปัญหาใหญ่ของนักธุรกิจต่างจังหวัดก็คือ ปัญหาการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่พนักงานระดับท้องถิ่นเพื่อการขออนุญาตต่างๆ ในกระบวนการทำธุรกิจและการประมูลงานของหน่วยงานรัฐ ทั้งสองประเด็นนี้เป็นปัญหามากทำให้การปรับปรุงระบบการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐต่อเอกชนและประชาชนทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้ระบบมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก ทั้งสองประเด็นนี้ต้องเป็นเป้าหมายหลักของการปฏิรูประบบราชการที่กำลังจะมีขึ้น เพื่อสร้างระบบการคานอำนาจและการตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายราชการและฝ่ายการเมืองที่ถาวรและเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อลดโอกาสการทุจริตคอร์รัปชัน
ที่น่าประทับใจจากที่ได้พบนักธุรกิจภูมิภาค ก็คือ ความตื่นตัวและความตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะ “นักธุรกิจ” ที่ต้องมีหน้าที่ร่วมแก้ไขปัญหา บางบริษัทพร้อมเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในต่อต้านการทุจริตทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ทำให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ของการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทย มีให้เห็นชัดเจนขึ้น ในข้อเท็จจริงบทบาทของบริษัทธุรกิจถือเป็นปัจจัยชี้ความสำเร็จที่สำคัญ (Key Success Factor) ของการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เพราะบริษัทเอกชนถูกกระทบโดยตรงจากปัญหา ขณะที่ก็ถูกมองว่ามีส่วนโดยตรงกับการคงอยู่ของปัญหา เพราะอยู่ในสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้ ถ้าบริษัทเอกชนมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ทุจริตคอร์รัปชัน และร่วมกันมีนโยบายแบบนี้เป็นจำนวนมาก โอกาสที่การทุจริตคอร์รัปชันจะลดลงก็จะมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคธุรกิจ
แต่ปัญหาก็คือ บริษัทเอกชนมีจำนวนมาก การแข่งขันทางธุรกิจก็สูง ทุกบริษัทเจอกับปัญหาการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตคอร์รัปชันเหมือนกันหมด ทำให้บริษัทอาจพร้อมเข้าร่วมต่อสู้คอร์รัปชันโดยไม่ให้ ไม่จ่ายก็ต่อเมื่อ บริษัทคู่แข่งอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันเข้าร่วมแก้คอร์รัปชันเหมือนกัน คือไม่ให้ ไม่จ่ายเหมือนกัน ทำให้จะไม่มีประเด็นเรื่องความ “ได้เปรียบเสียเปรียบ” อันนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักธุรกิจบางส่วนยังลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ CAC แม้จะเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการจึงมองมาที่สมาคมธุรกิจที่บริษัทเหล่านี้เป็นสมาชิกที่ต้องขับเคลื่อนให้บริษัทสมาชิกเข้าร่วมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันพร้อมเพรียงกันแบบยกสมาคม เพื่อให้เกิดการทำธุรกิจที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งสมาคม เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การทำธุรกิจสะอาด (Clean Business) และปลอดคอร์รัปชัน นำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรม และความน่าเชื่อถือต่อธุรกิจของสมาคม
ในลักษณะนี้สมาคมธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และเพื่อผลดังกล่าว สมาคมธุรกิจทุกสมาคมควรต้องทำอย่างน้อยสามเรื่อง เพื่อให้พฤติกรรมการทำธุรกิจของสมาชิกของสมาคมเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และเอื้อต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
หนึ่ง สมาคมต้องกำหนดให้สมาชิกทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม อันนี้สำคัญที่สุด คือทำธุรกิจโดยมีความซื่อตรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น (Business Integrity) ความซื่อตรงเป็นสิ่งที่ต้องมี ถ้าธุรกิจไม่มีสิ่งนี้ ไม่มีความซื่อตรง ไม่มีจริยธรรม ธุรกิจก็คงไปแบบไม่มีอนาคต เพราะจะไม่ได้รับความไว้วางใจ หรือ Trust จากลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสมาคมที่ต้องผลักดันให้สมาชิกทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เพื่อสร้าง Trust ให้เกิดขึ้นในการทำธุรกิจ
สอง สนับสนุนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยสมาชิก ร่วมกันปฏิเสธการใช้วิธีทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ หรือระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง เพื่อสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนในการทำธุรกิจของสมาชิกสมาคม และ
สาม ต้องร่วมกันเป็นพลัง (Advocacy) ที่นำไปสู่การปฏิรูป ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน และกระบวนการให้บริการของภาครัฐโดยร่วมมือกับภาครัฐที่จะมีผลไปสู่การสร้างประสิทธิภาพ สร้างความสามารถในการแข่งขัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตคอร์รัปชัน
ทั้งสามด้านนี้ เป็นหน้าที่ของสมาคมธุรกิจที่ต้องผลักดัน ให้สมาชิกของสมาคมมีพฤติกรรมธุรกิจที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกิจ และช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ที่ผ่านมาแม้เราจะเห็นภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ ผ่านการทำหน้าที่ขององค์กรอย่างองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ ไอโอดี สมาคมบริษัทจดทะเบียน และสมาคมนักลงทุนไทย แต่โมเมนตัมที่สำคัญจริงๆ ที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของภาคเอกชน จะต้องมาจากบริษัทธุรกิจเอง ขับเคลื่อนโดยบทบาทของสมาคมธุรกิจในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น ด้านการค้า อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว การเงิน เกษตร ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และบริการ สมาคมเหล่านี้จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้สมาชิกของสมาคมทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ปลอดคอร์รัปชัน เพื่อให้บทบาทของภาคเอกชนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่จริงจัง
แต่น่าเสียดายบทบาทของสมาคมธุรกิจในเรื่องนี้ขณะนี้ยังมีน้อยมาก การเข้าร่วมโครงการ CAC ส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจของบริษัทเอกชนแต่ละบริษัทมากกว่าที่จะเป็นการขับเคลื่อนผ่านสมาคมธุรกิจ
ตัวอย่างเช่น โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตที่ ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน 332 บริษัทเข้าร่วม เป็นการเข้ามาร่วมที่เกิดจากการผลักดันของสมาคมธุรกิจ คือ ยกสมาคมเข้าร่วมเพียงแค่ห้าสมาคมหรือ 134 บริษัท คือ สมาคมธนาคารไทย 15 บริษัท สมาคมบริษัทจัดการลงทุน 22 บริษัท สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย 21 บริษัท สมาคมประกันชีวิตไทย 25 บริษัท และสมาคมประกันวินาศภัย 51 บริษัท ขณะที่จำนวนสมาคมธุรกิจในประเทศมีเป็นพันๆ สมาคม ดังนั้น ถ้าจะให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการแก้คอร์รัปชันที่พูดได้ว่าจริงจัง สมาคมธุรกิจทุกสมาคมจะต้องทำหน้าที่มากกว่านี้ ที่จะต้องเข้าร่วมแก้ไขปัญหา
จากที่ประเมินคิดว่าขณะนี้ผู้ประกอบการตื่นตัว และต้องการมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แต่บริษัทเดียวหรือสองสามบริษัททำไม่ได้ ต้องมาจากพลังการรวมตัวของนักธุรกิจที่อยู่ในสาขาธุรกิจเดียวกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของสมาคมธุรกิจที่ต้องผลักดันการเข้าร่วมให้เกิดขึ้น โดยผู้นำสมาคมจะต้องริเริ่มและผลักดัน อันนี้คือหน้าที่ของผู้นำสมาคมที่คนไทยทั้งประเทศต้องการ ต้องการเห็นการขับเคลื่อนสมาชิกสมาคมให้เข้าร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อให้สมาคมธุรกิจไม่ถูกวิจารณ์ว่ามุ่งแต่จะหาประโยชน์ให้กับสมาชิกโดยไม่สนใจปัญหาสำคัญของประเทศที่ภาคธุรกิจมีส่วนร่วม และต้องแก้ไข