การศึกษาสำคัญเกินกว่า จะให้เป็นเรื่องของนักการศึกษา
ใคร ๆ ก็พูดถึงการปฏิรูปการศึกษา และใคร ๆ ก็ยืนยันว่าหัวข้อสำคัญที่สุด ของการปฏิรูปประเทศคือการศึกษา
แต่เราจะก้าวไปถึงการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมหรือ
ผมเชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาเกิดอย่างจริงจังไม่ได้ หากเรายังหวังพึ่งนักการเมืองหรือข้าราชการประจำ หรือแม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้จะมีความหวังดีและเจตนาที่ชัดเจนเพียงใดก็ตาม
เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ทุกครอบครัว และทุกสมาชิกของสังคม
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกย่างก้าวของการฟื้นฟูประเทศ จะต้องมีประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้อง
ในทุก 11 กลุ่มที่ คสช. ตั้งขึ้นในสภาปฏิรูปไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้เลย หากไม่มีส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและเสรีภาพของสื่อสารมวลชน เพราะสองปัจจัยนี้คือหนทางแห่งการเจาะทะลุปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน, เศรษฐกิจ, สังคม, ต่อต้านคอร์รัปชัน, การลดความเหลื่อมล้ำ, การสร้างความสำนึกแห่งคนในชาติ
นักการเมือง, ข้าราชการ, นักวิชาการ ไม่อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ หากประชาสังคมไทยไม่ตื่นตัวในการสร้างการมีส่วนร่วม ผลักดันให้เกิดปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และจริงจัง
การศึกษาคือการสร้างคนที่จรรโลงสังคม ไม่ใช่วิธีกำหนดให้เข้าออกห้องเรียนกี่ปีเพื่อได้รับปริญญาที่บอกเพียงว่าได้ผ่านหลักสูตรอะไรบ้างเท่านั้น
ดังนั้นข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาจึงต้องแทรกอยู่ในทุกอณูของการปฏิรูปโครงใหญ่
ผมเห็นข้อเสนอของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นข่าวล่าสุดแล้ว ก็พอจะเห็นภาพว่าเป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจ แม้ว่าอาจไม่เพียงพอที่จะ “เขย่า” ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างมีนัยสำคัญก็ตาม
เช่นการปรับหลักสูตร ปรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ลดเวลาเรียนที่ซ้ำซ้อน ลดปัญหากวดวิชา และให้เด็กมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น
หรือการปรับหลักสูตรอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศ จูงใจสร้างค่านิยมภาพลักษณ์ให้กับคนเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น พัฒนาระบบตอบแทน สมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา และผลิตและพัฒนาอาจารย์ระดับปริญญาเอก
หรือการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจ ให้ส่วนกลางดูแลนโยบาย มาตรฐานและติดตามประเมินผล กระจายอำนาจให้สถานศึกษาบริหารแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้มากขึ้น
หรือเสนอให้แยกสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารมากขึ้น
อีกทั้งยังมีข้อเสนอให้พัฒนาครูดีครูเก่ง
พัฒนาระบบและกระบวนการได้มาของผู้แทนและองค์กรครูต่าง ๆ
หรือการปรับระบบการเข้าศึกษาต่อที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย
กับการส่งเสริมการเรียนการสอนทางไกล
และปรับระบบอุดหนุนรายหัวทุกระดับ ทุกประเภทให้เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาสให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง
อีกทั้งยังต้องทำแผนแม่บทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พัฒนากองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าหัวข้อต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญในอันที่จะเป็นจุดริเริ่ม ของการปรับแก้ซ่อมแซมสิ่งชำรุดในระบบการศึกษาไทย แต่ก็ยังตีเส้นอยู่เฉพาะคนในวงการราชการเป็นหลัก
หัวข้อใหญ่กว่านั้นที่จะตัดสินว่า เราจะก้าวเข้าสู่การปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงหรือไม่ อยู่ที่เราจะให้ระบบการเมืองของไทยก้าวพ้นภาวะเก่า เข้าสู่ยุคที่นักการเมืองจะวางลำดับของการศึกษาอยู่ระดับต้น ๆ ของนโยบายหลัก และมีวิสัยทัศน์กับแผนปฏิบัติการที่เด่นชัด ทำได้จริงได้อย่างไร
สำคัญกว่านั้นคือจะทำอย่างไรให้ “การศึกษา” เป็นเรื่องของ “ภาคประชาชน” เป็นหลักและกำหนดให้นักการเมืองและข้าราชการต้องทำตาม “วาระประเทศชาติของประชาชน” อย่างเคร่งครัด?
การศึกษาของชาติมีความสำคัญเกินกว่าที่เราจะมอบให้กระทรวงศึกษาทำเท่านั้น