ธนาคารคนยาก (Micro Finance)
ได้ข่าวธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดให้ทำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ (Micro Finance) หรือดิฉันตั้งชื่อให้ว่า ธนาคารคนยาก
จึงคิดว่าน่าจะนำเรื่องนี้มาเล่า เพื่อปูพื้นให้กับท่านที่สนใจค่ะ
ไมโครไฟแนนซ์ เป็นการให้บริการทางการเงินที่มุ่งเน้นกลุ่มผู้ใช้บริการกู้ยืมที่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่เดิมจะมีการให้บริการรูปแบบเดียว คือ จัดตั้งสถาบันการเงินขึ้นมา โดยอาจระดมทุนจากผู้ถือหุ้น หรือขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อนำมาให้ผู้มีรายได้น้อย หรือมีความมั่งคั่งต่ำกู้ยืม แต่ปัจจุบันสามารถให้บริการได้หลายรูปแบบมากขึ้น
ลักษณะเด่นของการให้กู้ของธนาคารคนยากคือ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนใหญ่เป็นเงินที่ใช้ในครัวเรือน หรือเพื่อประกอบอาชีพ เช่น เกษตรกรรม ค้าขาย หรือเนื่องจากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝัน เช่น การเสียชีวิตของคนในครอบครัว การเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัว ผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ฯลฯ และจำนวนเงินที่กู้ไม่สูง
ธนาคารคนยากถือกำเนิดในบังคลาเทศ โดยสถาบันการเงินที่โด่งดังที่สุดคือ ธนาคารกรามีน หรือ Grameen Bank ซึ่งก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ชื่อ โมฮัมมัด ยูนุส ซึ่ง เป็นรูปแบบการให้บริการไมโครไฟแนนซ์แบบดั้งเดิม คือใช้ พนักงานของธนาคารไปเก็บเงินผ่อนชำระตามหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ โดยให้ชาวบ้านผู้ต้องการกู้ยืมเงิน จับกันเป็นกลุ่มย่อย คนในกลุ่มจะค้ำประกันซึ่งกันและกันค่ะ และมีหัวหน้ากลุ่มคอยดูแล
ดิฉันเคยไปเยี่ยมและสัมภาษณ์ผู้บริหารธนาคารกรามีน และสัมภาษณ์ผู้กู้มาแล้ว ปรากฏว่าจำนวนเงินที่กู้ไม่ได้สูงอย่างที่เคยคิดไว้ ยกตัวอย่าง ในหมู่บ้านที่ไปเยี่ยม ครอบครัวหนึ่งจะกู้เพียงประมาณ 5,000 บาท ผ่อนชำระสัปดาห์ละ 100 บาท เป็นเวลา 60 สัปดาห์ เป็นต้น
แม้อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคนยากคิดกับผู้กู้จะสูง แต่ก็ยังต่ำกว่าการไปกู้จากนอกระบบ เงินกู้นอกระบบไม่ว่าจะเป็นของประเทศไทยก็คิดอัตราดอกเบี้ยสูงๆ ทั้งนั้นค่ะ
การเกิดขึ้นของธนาคารคนยาก ช่วยให้คนที่เข้าไม่ถึงระบบสถาบันการเงิน สามารถเข้าถึงระบบได้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในอาชีพ ในการศึกษา และในการยกระดับฐานะของคนจน
ธนาคารกรามีนก็เข้าไปดำเนินธุรกิจในอินเดียค่ะ แต่ไปในลักษณะผสมผสาน คือ มีธุรกิจบริษัทที่ปรึกษา ลงทุนและให้กู้กับผู้ประกอบการธนาคารคนยาก
ประมาณการว่าในอินเดียมี 145 ล้านครัวเรือนที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน และมีประชากรประมาณ 50% ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร โดยมีประชาชนเพียง 17% เท่านั้นที่มีประสบการณ์ในการกู้ยืมเงินกับสถาบันการเงิน
แต่การดำเนินการก็ไม่ง่าย ท่านอาจจะพอได้ยินข่าวการตามเก็บหนี้กันอย่าง ”มหาโหด” ในอินเดียเมื่อปี 2553-2554 ทำให้จำนวนสินเชื่อของธนาคารคนยากแทบไม่เติบโตเลยในช่วงนั้น แต่หลังจากรัฐบาลออกกฎหมายมาห้ามการพาพักพวกเป็นกลุ่มไปทวงหนี้หน้าบ้านหรือหน้าสถานที่ทำงานจนลูกหนี้ไม่เป็นอันทำมาหากิน สถานการณ์ก็ดีขึ้นค่ะ
ธนาคารคนยากในอินเดียมีสาขาประมาณ 9,080 สาขา ได้ช่วยให้ประชากร 2.4 ล้านครัวเรือนในอินเดีย เข้าถึงแหล่งเงินกู้ จำนวน 4,650 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 148,800 ล้านบาท เฉลี่ยมีหนี้กันรายละประมาณ 62,000 บาท
ปัจจุบันธนาคารคนยากสามารถให้บริการได้หลายรูปแบบ มีทั้งที่คิดดอกเบี้ยและไม่คิดดอกเบี้ย ที่ไม่คิดดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ หรือมูลนิธิของธนาคารต่างๆ และมีธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตร ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของธนาคารคนยากค่ะ เพียงแต่วงเงินอาจจะสูงกว่าธนาคารคนยากแบบดั้งเดิม
ในเมืองไทยตอนนี้น่าจะมีธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวที่มีโครงการให้กู้ในลักษณะเหมือน ”ธนาคารคนยาก” โดยให้เจ้าหน้าที่ไปเก็บเงินค่าผ่อนชำระเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือนแล้วแต่กรณี
ที่น่าสนใจคือรูปแบบหนึ่งของการให้บริการที่เรียกว่า P2P คือ Peer to Peer ลักษณะจะเป็นการรวมกลุ่มของ “ผู้ให้กู้” และให้กู้แก่ผู้มีความต้องการใช้เงิน โดยมีบริษัทตัวกลางคอยแนะนำผู้ต้องการกู้ให้ ช่วยตัดสินใจ ช่วยเก็บหนี้ และช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ให้
แน่นอนว่ากลุ่มผู้ให้กู้ต้องเป็นผู้มีฐานะดีอย่างน้อยก็ฐานะปานกลางขึ้นไป ที่มีเงินเหลือ และมีใจอยากช่วยคนอื่นๆ ที่เดือดร้อน โดยการดำเนินการในรูปที่เป็นทางการก็จะมีข้อดีคือมีเอกสารสัญญาที่เป็นมาตรฐาน และมีระบบบริหารจัดการเรื่องการจ่ายชำระคืน และในบางครั้งก็สามารถดำเนินการให้มีการเพิ่มความน่าเชื่อถือทางเครดิต (credit enhancement) เช่น อาจจะหาหน่วยงานมาค้ำประกันสินเชื่อให้ ผู้ให้กู้แต่ละคนก็ไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินการ และยังลดความเสี่ยงจากการให้กู้ลง
ลักษณะนี้อาจเทียบได้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ของบ้านเรา แต่สหกรณ์ออมทรัพย์ของเราจะดำเนินการคล้ายสถาบันการเงิน ผู้ออมเงินไม่ได้เป็นผู้คิดเลือกผู้กู้โดยตรง แต่กรรมการของสหกรณ์จะดำเนินการปล่อยกู้ให้
จำนวนของธนาคารคนยากแบบ P2P ในประเทศจีน มีถึง 1,000 แห่ง และคาดว่าจะเติบโตในอัตราสูงต่อไป เพราะคนจีนที่ยังเข้าไม่ถึงระบบสถาบันการเงินยังมีจำนวนมาก และกลุ่มคนที่ร่ำรวย สามารถให้กู้ได้ก็มีจำนวนมากด้วยเช่นกัน
รูปแบบที่รู้จักกันมากที่สุด คือการให้กู้ยืมแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งทุกประเทศมีอยู่แล้ว เช่น การให้กู้ยืมแก่ญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนรู้จัก ทั้งนี้ อาจจะมีเอกสารประกอบการกู้ยืมหรือไม่ หรือจะมีการคิดดอกเบี้ยหรือไม่ ก็แล้วแต่สถานการณ์
ต้องยอมรับว่า การ “ออมก่อนใช้” จะได้ผลก็ต่อเมื่อมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สำหรับผู้ประกอบอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน บางครั้งเงินจะใช้ยังไม่ค่อยพอ การมีธนาคารคนยาก ก็จะช่วยให้เขาสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ไม่ยากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานอาชีพ เพื่อเป็นทุนหารายได้มาเลี้ยงตัว หรือเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน
ผู้มีฐานะยากจนส่วนใหญ่ เสี่ยงต่อการ ”เป็นหนี้แบบถาวร” คือ มีหนี้ในจำนวนที่ผู้กู้สามารถชำระคืนได้เพียงดอกเบี้ย เช่น กู้ 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 10% ต่อเดือน ผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท เงินที่ผ่อนชำระจะเป็นเพียงดอกเบี้ย เงินต้นจะไม่มีทางลดลงไปเลย ดังนั้นจึงต้องแบกหนี้ไปตลอดชีวิต
การมีธนาคารคนยากจะช่วยให้คนมี “หนี้แบบถาวร” สามารถปลดแอกหนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะอย่างน้อยอัตราดอกเบี้ยก็ไม่สูงเท่าเงินกู้นอกระบบค่ะ
อยากเห็น ”ธนาคารคนยาก”เกิดขึ้นในเมืองไทยเร็วๆ