พัฒนาการ "ทุนศักดินาสยาม" สู่ "ทุนไทยโลกาภิวัตน์" ภายใต้ประชาคมอาเซียน (1)
หน่ออ่อนของระบบทุนนิยมได้เริ่มปรากฏเค้าลางก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว แต่เริ่มมีการเคลื่อนตัวมากขึ้น
ภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ระบบการผลิตแบบกึ่งศักดินากึ่งทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจของสยามก่อนอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 แม้นหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ เศรษฐกิจไทยจึงเรียกได้ว่าเป็นทุนนิยมอย่างเต็มตัว และ เวลานี้ ทุนไทยก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญแปรสภาพเป็นทุนโลกาภิวัตน์มากยิ่งขึ้น ดูได้จากข้อมูลสถิติล่าสุด กลุ่มบริษัทข้ามชาติสัญชาติไทยได้ขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะวัดในเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพล้วนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่งทั้งสิ้น
สายธารพัฒนาการ “ทุนศักดินาสยาม” สู่ “ทุนไทยโลกาภิวัตน์” ใช้เวลานับกว่าร้อยปีและเส้นทางสายนี้ไม่มีทางไหลย้อนกลับ แม้นการเมืองจะย้อนยุคกลับไปเป็นระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่าไม่อาจดำรงอยู่ได้นานภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์เช่นนี้ เนื่องเพราะระบอบกึ่งเผด็จการเป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ในระยะยาวแล้วระบบทุนนิยมเสรีจะเป็นของแปลกปลอมสำหรับระบอบเผด็จการ แม้นทั้งสองสิ่งนี้อาจยังดำรงอยู่ได้ร่วมกันระยะหนึ่ง เสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ระบบทุนนิยมจึงไปได้ดีกับระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม การอุบัติขึ้นของทุนนิยมโลกาภิวัตน์และการแพร่ขยายของลัทธิประชาธิปไตยทั่วโลก เป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างมาก
ขอให้ท่านอ่านพิจารณาสิ่งที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟัง ย้อนกลับไปเราจะเห็นพัฒนาการ การดำรงอยู่และเสื่อมสลายของระบอบเก่าและระบอบใหม่ที่มาแทนที่ซึ่งเป็นไปตามหลักอนิจจังของพุทธธรรม
เมื่อรัชกาลที่สองสวรรคตในปี ค.ศ. 1824 (พ.ศ. 2367) เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะขึ้นครองราชย์ต่อมากลับต้องทรงผนวช พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎพระชนมายุได้ 20 พรรษา ทรงผนวชอยู่เป็นเวลานานถึง 27 ปี และทรงกลายเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของสยาม และด้วยเหตุที่ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตกมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ จึงทรงคุ้นเคยการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดี เมื่อโลกตะวันตกได้ติดต่อสยามเข้ามาจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ภารกิจในการทำสนธิสัญญาต่างๆ ก็ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเมือง สังคมและวิถีชีวิตของชาวสยามในเวลาต่อมาและผลกระทบในมิติต่างๆ ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในราชอาณาจักรสยาม หลังจากได้มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว ก็ได้มีการจัดทำสนธิสัญญาทางการค้าฉบับอื่นๆ กับประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก รัฐบาลสมัย ร. 4 ตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกและพยายามแสวงหากุศโลบายอันเหมาะสมในการรับมือกับลัทธิล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก การเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาเบอร์นีโดยเซอร์ เจมส์ บรุ๊ก ไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาในปลายปี พ.ศ. 2393 และรัฐบาลราชสำนักอังกฤษได้แสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมารัฐบาลราชสำนักอังกฤษได้พิจารณาส่งคณะทูตชุดใหม่เข้ามายังสยามเมื่อต้น พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตอังกฤษเข้ามาเจรจา
ทูตท่านนี้ถือเป็นขุนนางคนสำคัญของราชสำนักจักรวรรดินิยมอังกฤษผู้ดูแลกิจการและผลประโยชน์ของราชสำนักในแถบเอเชียตะวันออก มีบทบาทสำคัญในการเจรจาเปิดประตูการค้ากับราชสำนักชิง เซอร์ จอห์น เบาว์ริงได้รับมอบหมายให้เข้ามาเจรจาทางการค้ากับพระเจ้ากรุงสยาม สนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษที่ลงนามกัน เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) โดยกลุ่มผู้แทนในการเจรจาฝ่ายอังกฤษมี เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Siพ John Bowring) ข้าหลวงใหญ่ของฮ่องกง ผู้มีสิทธิ์ขาดทางการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษ แฮรี่ เอส ปาร์ก (Harry S. Parker) ที่ปรึกษาสถานกงสุลประจำเมืองเอ้หมึก (Amoy) ประเทศจีน และ เจ ซี เบาว์ริง (J.c.Bowring) บุตรชายคนโตของเซอร์ จอห์น เบาว์ริง ฝ่ายไทยมีพระเจ้าประยูรวงศ์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยารวิวงศ์ เป็นผู้แทนในการเจรจา โดยมีผู้ตัดสินชี้ขาดคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สนธิสัญญาฉบับนี้มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นทางด้านการเมืองการปกครอง ระบบยุติธรรม การนับถือศาสนา และ เนื้อหาทางด้านเศรษฐกิจการค้า เนื้อหาในสนธิสัญญานี้กลายเป็นต้นแบบให้กับสนธิสัญญาอื่นๆ ของชาติตะวันตกที่ได้ทำกับสยามในเวลาต่อมา ไล่เรียงไปตามลำดับเวลา ดังนี้
เริ่มจากสนธิสัญญา แฮริส กับสหรัฐอเมริกา เมื่อเมษายน พ.ศ. 2399 ตามด้วยสนธิสัญญา มองติญญี กับฝรั่งเศส เมื่อตุลาคม พ.ศ. 2399 หลังจากนั้นสองปี ราชสำนักสยามได้มีการทำสนธิสัญญากับเดนมาร์ก เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2401 ต่อมาได้มีการทำสนธิสัญญากับโปรตุเกส พ.ศ. 2403 กับเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2405 กับปรัสเซียหรือเยอรมัน สวีเดนและเบลเยียมรวมทั้งอิตาลีในปี พ.ศ. 2411 หลังจากนั้น สยามก็ทำสนธิสัญญากับ ออสเตรีย พ.ศ. 2412 กับ สเปน พ.ศ. 2413 และกับ ญี่ปุ่น พ.ศ. 2440 สุดท้ายได้ทำสนธิสัญญากับ รัสเซีย พ.ศ. 2442 ก่อนที่จักรวรรดิรัสเซียจะล่มสลายจากการปฏิวัติเดือนตุลาคมโดยพรรคบอลเชวิกหรือสมาชิกข้างมากของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) หรือ ที่รู้จักกันโดยทั่วไป พรรคคอมมิวนิสต์แห่งโซเวียตนั่นเอง
กล่าวได้ว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง แฮริส และมองติญญีที่ลงนามกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เป็นสนธิสัญญากลุ่มแรกที่ผู้นำไทยทำกับผู้นำกลุ่มประเทศตะวันตก ผู้คนในสมัยนั้นจึงมักกล่าวถึงสนธิสัญญาทั้งสามฉบับแบบรวมๆ ว่า “สัญญาฝรั่ง” สนธิสัญญาทั้งสามฉบับมีความสำคัญและผลกระทบต่อสยามอย่างมาก โดยสรุปแล้ว สนธิสัญญาเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การเปิดประเทศและการพัฒนาของระบบการค้าเสรี ด้วยเหตุที่ผลการปฏิบัติตามสาระของสนธิสัญญากลุ่มนี้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในหมู่ราษฎรประชาชน ฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงมีประกาศพระบรมราชโองการหลายฉบับเพื่อให้ข้าราชการในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นรวมทั้งคนเชื้อชาติต่างๆ ที่อาศัยในสยาม เช่น คนจีน เวียดนาม มอญ ลาว เขมร พม่า มาเลย์ เชื้อสายโปรตุเกส เปอร์เซีย และแขกจาม เป็นต้น ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยทรงมีประกาศชี้แจงให้เห็นว่าการทำสัญญากับฝรั่งครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ดังต่อไปนี้
1.หากชาวตะวันตกเข้ามาอยู่ในไทยก็จะใช้ความรู้ที่ก้าวหน้ามาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงกว่าที่เคยผลิตได้ในประเทศ เมื่อนำออกจำหน่าย ราคาก็จะถูกกว่าสินค้าที่มาจากต่างประเทศ ทั้งยังเป็นโอกาสให้ชาวไทยได้เรียนรู้และเลียนแบบ อุตสาหกรรมในประเทศก็จะเจริญขึ้น
2.ชาวตะวันตกมีความรู้ด้านเกษตรกรรม ถ้าเข้ามาบุกเบิกเพาะปลูกในบริเวณรกร้างว่างเปล่า ก็จะทำให้ได้ภาษีอากรสมพัตสรเพิ่มขึ้น
3.เมื่อชาวตะวันตกเข้ามาลงทุนเช่าซื้อที่และจ้างแรงงาน เงินตราต่างประเทศก็จะตกอยู่ในประเทศ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน คนยากจนก็ได้รับจ้างทำงานไม่ต้องขายตัวเป็นทาสโดย
สรุปแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับจากการลงนามในสนธิ สัญญาครั้งนั้นหมายถึง การที่ประชาชนมีสินค้าบริโภคอุปโภคที่ชาวตะวันตกนำเข้ามากมายขึ้น มีงานทำเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องขายตัวเป็นทาส มีโอกาสได้เรียนรู้วิชาการของชาวตะวันตก และสิ่งสำคัญคือ รัฐได้รับภาษีอากรจากการเข้ามาประกอบอาชีพของชาวตะวันตกอีกด้วย
ผู้เขียนมองว่า การเปิดประเทศและการผลิตเพื่อการค้าตามแบบลัทธิทุนนิยมทำให้ต้องการแรงงานเสรี ทำให้ระบบแรงงานเกณฑ์แบบศักดินาดั้งเดิมไม่เหมาะกับระบบการผลิตแบบใหม่ ภาวะดังกล่าวกลายเป็นแรงกดดันสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสยามและพัฒนาสู่ระบอบทุนศักดินาสยาม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวต่างจากหลายประเทศ ครับ