การเคลื่อนไหวทางสังคม 2.0 ในไทย : แคมเปญปลานกแก้วกับ BIG Trees
ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงข้อคิดจาก แพททริค ชมิท (Patrick Schmitt) ผู้อำนวยการฝ่าย นวัตกรรมแคมเปญ
(Campaign Innovation) ของ Change.org เกี่ยวกับปัจจัยแห่งความสำเร็จของแคมเปญเคลื่อนไหวทางสังคมสมัยใหม่ที่อาศัยการรวมพลังผ่านโลกออนไลน์
เขาสรุปให้ฟังสั้นๆ ว่า แคมเปญที่มีโอกาสสำเร็จน่าจะต้องเป็นเรื่องส่วนตัวที่คนอื่น “เข้าถึง” และเข้าใจได้ง่ายว่าส่งผลกระทบอย่างไร และพุ่งเป้าการรณรงค์ไปยังองค์กรซึ่งไม่เคยชินกับการตกเป็นเป้าหมายการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ผู้ดำเนินนโยบายหรือนักการเมืองที่ชินชากับเสียงบ่นของประชาชน
Change.org ในไทยได้รับความนิยมไม่แพ้ในต่างประเทศ ข้อมูลจากเว็บไทยของ Change.org (https://www.change.org/th/เกี่ยวกับเรา) ระบุว่า “ตอนนี้ Change.org ประเทศไทยมียอดผู้ใช้ทะลุเกิน 350,000 คนแล้ว และมีผู้สร้างเรื่องรณรงค์ 80 เรื่องต่อสัปดาห์ หลังจากที่เปิดตัวได้เพียง 1 ปี”
แคมเปญรณรงค์เรื่องหนึ่งบน Change.org ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว คือแคมเปญ “หยุดขายปลานกแก้ว” (www.change.org/saveparrotfish) เรียกร้องให้ห้างดังห้าแห่ง ได้แก่ เทสโก้ โลตัส แมคโคร ซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ และ วิลล่า มาร์เก็ต เลิกขายปลานกแก้ว
ภายในช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์หลังจากที่แคมเปญนี้เปิดตัว ก็มีผู้ร่วมลงนามถึง 23,000 กว่าคน มีการ “แชร์” ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากเฟซบุ๊คหลายหมื่นแชร์และเข้าถึงคนมากกว่าหนึ่งล้านคน ห้างดังทั้งห้าแห่งร่อนจดหมายแจ้งการเปลี่ยนนโยบาย ยืนยันว่าบริษัทจะไม่รับซื้อปลานกแก้วมาขายในร้านอีกต่อไป
นอกจากนี้ หนึ่งในผู้จัดส่งอาหารทะเลรายใหญ่ ธรรมชาติซีฟู้ด ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้จัดส่งปลานกแก้วให้กับร้านค้าปลีกกว่า 123 แห่งทั่วประเทศ ก็ได้ประกาศยุติการรับซื้อและจัดส่งปลานกแก้วเช่นกัน หลังจากที่รูปถ่ายปลานกแก้วในห้างซึ่งมีตราของบริษัทแปะอยู่ได้ถูกแชร์ว่อนไปทั่วเน็ตหลังจากที่แคมเปญเปิดตัว
ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ เพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และที่ปรึกษากลุ่ม Reef Guardian Thailand ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ปะการังและทรัพยากรทางทะเลในท้องถิ่น ฝั่งทะเลอันดามัน ในฐานะผู้ริเริ่มแคมเปญรณรงค์ “หยุดขายปลานกแก้ว” จากเพจส่วนตัวบนเฟซบุ๊คคือ Sunshine Sketcher (https://www.facebook.com/sunshine.sketcher) ก่อน
เพชรมองว่าเรื่องปลานกแก้ว “พร้อม” ที่จะทำเป็นแคมเปญทางสังคม เพราะวันนี้มีข้อมูลทางวิชาการที่หนักแน่นไร้ข้อโต้แย้งใดๆ แล้วว่า ปลานกแก้วมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง นอกจากนี้ยังเป็นปลาที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้ นการจับปลานกแก้วจึงชัดเจนว่าต้องเป็นการจับมาจากแนวปะการังทั้งหมด แต่กฎหมายไทยยังมีช่องว่างเพราะคุ้มครองปลาในแนวปะการัง แต่ถ้าจับมาได้แล้วก็ยังนำมาขายได้อย่างเสรี
ฉะนั้น ถ้าหากผู้บริโภคงดซื้อและเรียกร้องให้ห้างร้านทั้งหลายไม่รับซื้อมาขาย ก็จะไม่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจใดๆ ให้คนมุ่งจับปลานกแก้วมากขึ้น ปลานกแก้วมีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น ระบบนิเวศทางทะเลก็จะไม่ย่ำแย่ไปยิ่งกว่าเดิม
เพชรมองว่าปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งคือ ปลานกแก้วยังไม่ใช่สินค้าที่ “ติดตลาด” ไม่ใช่อาหารยอดฮิตอย่างหูฉลามซึ่งคนนิยมบริโภคมานาน ยังไม่น่าจะเป็นรายได้สำคัญของร้านค้า ทำให้ห้างดังทั้งหลายตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายได้ไม่ยาก
แรงกดดันจากคู่แข่งหรือ peer pressure ก็สำคัญ เพชรเล่าว่าเขาได้รับคำแนะนำให้ตั้งเป้าการเรียกร้องไปยังห้างเดียวก่อน เพื่อความชัดเจนของแคมเปญ แต่เขาตัดสินใจเรียกร้องไปยังห้างทั้งห้าแห่ง เพราะเชื่อว่าถ้าบริษัทใดบริษัทหนึ่งเลิกขาย บริษัทอื่นๆ ก็จะรู้สึกถึง peer pressure ว่าควรต้องทำตาม
ความเชื่อนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง เมื่อห้างดังทั้งห้าแห่งทยอยประกาศหยุดขายปลานกแก้วไล่เลี่ยกันภายในระยะเวลาสิบวัน หลังจากที่ เทสโก้ โลตัส ประกาศหยุดขายก่อนห้างอื่น
ในทัศนะของผู้เขียน ทักษะหาตัวจับยากของเพชรในการย่อยข้อมูลทางวิชาการให้เข้าใจง่าย และเขียนในภาษาที่เรียบง่ายสไตล์เป็นกันเอง อย่างเช่นโพสต์เรื่อง “อย่ากินผมเลยได้ไหม” บนเฟซบุ๊ค สมมติเป็นปลานกแก้วที่มาวิงวอนกับคน (https://www.facebook.com/sunshine.sketcher/photos/a.121194994596727.13457.119055914810635/678096988906522/) รวมถึงการทำซับไตเติลสารคดีสั้นเกี่ยวกับความสำคัญของปลานกแก้ว ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แคมเปญนี้ “เข้าถึง” และ “จับใจ” คนทั่วไปอย่างแพร่หลาย แถมยังกระตุกต่อมสามัญสำนึกให้คนเกิดอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก (“ทำไมเราต้องกินปลานกแก้ว ในเมื่อปกติเราไม่กินปลาสวยงาม?”)
เพชรยืนยันว่า วันนี้ทั้งเฟซบุ๊ค และ Change.org เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน และเขาจะหาวิธีสื่อสารและทำแคมเปญโดยตรงกับผู้บริโภคและองค์กรต่างๆ ในประเด็นอื่นๆ ต่อไป
จากทะเลอันดามัน วกกลับเข้าฝั่งมาดูเมืองหลวงของเรากันบ้าง
วันนี้เรามีเครือข่ายภาคประชาชนมากมายหลายกลุ่มที่พยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพฯ “น่าอยู่” มากขึ้น ในจำนวนนี้ กลุ่ม BIG Trees (https://www.facebook.com/BIGTreesProject) แข็งขันและเข้มแข็งเป็นอันดับต้นๆ หลังจากที่ทำงานเรื่องการรักษาและเพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” ในเมืองหลวงมานานกว่า 5 ปี
อรยา สูตะบุตร ผู้ประสานงานกลุ่ม BIG Trees ซึ่งวันนี้มี “แฟนเพจ” กว่า 75,000 คน ยืนยันกับผู้เขียนว่า “เฟซบุ๊คเป็นส่วนสำคัญที่สุด” ของ BIG Trees ตั้งแต่แรก เพราะถ้ากลุ่มไม่ได้คนที่เห็นประเด็นที่รณรงค์ครั้งแรก คือคัดค้านการตัดต้นไม้ใหญ่ เห็นเป็น “ประเด็นร่วม” ว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเจ้าของพื้นที่ แต่เป็นเรื่องความน่าอยู่ของเมือง ก็จะไม่มี BIG Trees ในวันนี้
อรยาบอกว่าคนเมืองที่ติดตาม BIG Trees คือคนที่ไม่ได้คิดแต่เรื่องปากท้อง แต่เห็นความสำคัญของคุณภาพชีวิต คร่าวๆ อาจแบ่งคนได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกชอบเรื่องความสวยงาม ร่มรื่นของต้นไม้ สังเกตจากเวลาที่กลุ่มโพสต์รูปต้นไม้ใหญ่ที่สวยงาม คนก็จะเข้ามาคลิกไลค์กันอย่างถล่มทลาย บางทีถึงสามพันไลค์ “อีกกลุ่มคือคนที่รักความถูกต้องที่เกี่ยวกับการดูแลเมืองให้มันดี แต่เขาไม่รู้จะไปออกตรงไหน ไม่รู้จะไปรวมกลุ่มกับใคร”
“ถ้าคนคนหนึ่งแคร์เรื่องสิ่งแวดล้อม แคร์เรื่องพื้นที่สาธารณะ แต่ไม่รู้จะ take action อย่างไร เขาก็จะรู้สึกว่า ถ้ามาตามเพจ หรือมาร่วมกับกิจกรรมออฟไลน์ที่เรามี อย่างน้อยเขาจะรู้สึกว่าได้มีส่วนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง”
อรยาบอกว่า สิ่งที่เธอพบก็คือ เฟซบุ๊คช่วยเชื่อมคนท้องถิ่นเข้าหากันอีกด้วย ไม่ใช่ว่าเชื่อมแต่คนเมืองด้วยกันเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นบางกระเจ้า ซึ่งวันนี้ BIG Trees กำลังร่วมผลักดันให้รักษาเป็น “ปอด” ของกรุงเทพฯ คนต่างตำบลในบางกระเจ้าที่ใส่ใจกับอนาคตของชุมชน ได้มารู้จักกันเป็นครั้งแรกผ่านกิจกรรมของ BIG Trees
ในยุคที่โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มที่มีโซเชียลมีเดียเป็นหัวใจ กำลังกลายเป็นเครื่องมือหลักของประชาชนในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างเปี่ยมพลวัต คำถามคือเมื่อไรรัฐจะเปลี่ยนวิธีคิด หันมายอมรับนับถือและสนับสนุนประชาชน 2.0 เสียที ?