โรคฟันผุ ภาระทางสาธารณสุข
"ฟันผุ" โรคท็อปฮิตอันดับหนึ่งของโรคในช่องปาก มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย
ไม่ว่าจะเป็นประชากรในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพปากและฟันของตัวเองหรือดูแลอย่างผิดวิธี
>>> "โรคฟันผุ" ยังเป็นภาระทางการสาธารณสุขที่สำคัญของโลก ในประเทศไทย จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากเมื่อปี 2555 พบว่า โรคฟันผุพบได้ทุกเพศทุกวัย สาเหตุสำคัญมาจากความถี่ในการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการกินขนม อาหารหวานและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล แต่ยังไม่สามารถแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึง และขาดความสม่ำเสมอในการแปรงฟัน
>>> ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการประสานความร่วมมือเพื่อสังคมไทยไร้ฟันผุ เปิดเผยว่า "โรคฟันผุเป็นโรคที่ถูกละเลย ทำให้เกิดความทุกข์และสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกจึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งองค์กร Global Alliance for a Cavity-Free Future ขึ้น เพื่อพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเกิดโรคฟันผุและการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลกที่จะแก้ปัญหาโรคฟันผุ โดยมีเป้าหมายให้เด็กที่เกิดในปี 2026 ปราศจากฟันผุตลอดช่วงชีวิต
>>> สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประสานการจัดตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือเพื่อสังคมไทยไร้ฟันผุ (The Alliance for a Cavity-Free Future) ขึ้น เพื่อประสานงานการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน อาทิ กรมอนามัย ผู้แทนทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ทั้งคณะทันตแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อกำหนดขอบเขตวัตถุประสงค์ และหาแนวทางร่วมกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาโรคฟันผุที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทในประเทศไทย
>>>งานประชุมเชิงปฏิบัติการวินิจฉัยโรคฟันผุด้วยระบบ ICDAS/ICMMS (ไอซีดาส) เป็นระบบการตรวจระยะแรกเริ่มของโรคฟันผุที่ไม่ยุ่งยากและเป็นลำดับตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ในการขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมเพื่อลดอัตราการเกิดโรคฟันผุในประเทศไทย โดยได้เชิญคณาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์จาก 9 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะที่เป็นต้นน้ำในการผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ออกมาให้บริการตามสภาพปัญหาของประชาชนโดย การตรวจวินิจฉัย และการบริหารจัดการโรคฟันผุ ได้มาร่วมกันวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาโรคฟันผุให้เกิดการบูรณาการระหว่างกระทรวง เพื่อสนับสนุนคนไทยสุขภาพฟันดีทุกช่วงวัยของชีวิต
>>> คณะกรรมการประสานความร่วมมือเพื่อสังคมไทยไร้ฟันผุ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 12 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2557-2569 โดยจะดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากและป้องกันโรคทางทันตกรรม การสนับสนุนการทำงานวิจัยและพัฒนาการจัดการปัญหาทันตสาธารณสุขในทุกระดับ การแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานด้านทันตสาธารณสุขทั้งในประเทศและระดับสากลให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคฟันผุ ยับยั้งการเกิดโรคฟันผุ และการป้องกันไม่ให้มีการเกิดรอยโรคฟันผุเพิ่มขึ้นอีก