PulseX กับภารกิจเข็น “โดรนโดยสาร” แบรนด์ไทย เทียบรถไฟฟ้าแบรนด์จีน
ประกาศความมุ่งมั่นชัดเจนที่จะเป็นโต้โผขับเคลื่อนโปรเจกต์ใหญ่ “โดรนโดยสาร” (Passenger Drone) ฝีมือคนไทย 100% ให้สำเร็จและใช้งานได้จริงในอนาคตอันใกล้นี้
KEY
POINTS
- PulseX จะเป็นโต้โผขับเคลื่อนโปรเจกต์ใหญ่อุตสาหกรรม “โดรนโดยสาร” (Passenger Drone) นวัตกรรมไทยส่งขายทั่วโลก
- ภาคเอกชนรายแรกที่สร้าง passenger drone ลำแรกสำเร็จเมื่อปี 2563 ในรูปแบบโดรนโดยสาร 1 ที่นั่ง
- โดรนโดยสาร แต่ละประเทศมีโนว์ฮาวใกล้เคียงกันถือว่าอยู่บนเส้นสตาร์ตเดียวกัน จึงมีโอกาสเสมอกัน
- เส้นทางการพัฒนาของ PulseX จะโฟกัสไปที่เทคโนโลยี Heavy Lift Drone ตอบโจทย์การใช้งานด้านความมั่นคง
นัทธี อินต๊ะเสน ประธานบริษัท พัลซ ไซเอนซ์ จำกัด มองเห็นโอกาสและศักยภาพของคนไทยในการพัฒนานวัตกรรมโดรนโดยสาร ด้วยความที่เป็นนวัตกรรมใหม่ แต่ละประเทศจึงมีโนว์ฮาวใกล้เคียงกันหรืออยู่บนเส้นสตาร์ตเดียวกัน มีโอกาสเสมอกัน
ผมมองเห็นโอกาสที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมโดรนโดยสารที่เป็นแบรนด์ไทย เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนจากไทย เหมือนกับแบรนด์ EV จากจีนที่มีหลากหลายยี่ห้อส่งไปขายทั่วโลก
“ไทยเรามีบทเรียนมาแล้วทั้งในเรื่องการผลิตเครื่องบิน จากที่เคยเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องบินรบสูสีกับญี่ปุ่น แต่ก็มีเหตุให้ต้องหยุดชะงักไป หรืออุตสาหกรรมรถยนต์จากผู้ผลิตก็กลายมาเป็นผู้เล่น/ผู้ใช้ ทั้งๆที่เรามีศักยภาพอยู่แล้ว”
นัทธีวางแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแวดวงอากาศยานไร้คนขับ โดยดึงศักยภาพของตนเองในการสร้างคอนเนคชั่น ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการภาคเอกชนในกลุ่มของสมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนภาคเอกชนที่ออกบูธในงาน “ไทยแลนด์ โดรน เอกซ์โป 2024” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
นัทธี ได้ก่อตั้งบริษัท พัลซ เอ็กซ์ จำกัด (PulseX) ดำเนินธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ที่ครอบคลุมทั้งอวกาศและการบิน (UAV) ภาคพื้นดิน (UGV) และการป้องกันทางทะเล (USV) สำหรับภารกิจทั่วโลก ด้วยความหลงใหลในเทคโนโลยีและศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัดของระบบยานยนต์ไร้คนขับ
แรงบันดาลใจของโปรเจกต์ passenger drone มาจากนักร้องในฟิลิปปินส์และนักเรียนระดับอาชีวศึกษาในกัมพูชาที่สร้างโดรนโดยสารด้วยเทคนิคง่ายๆ ได้สำเร็จ
เมื่อหันมามองตัวเองซึ่งเป็นทั้งนักบินและมีความรู้ในเรื่องศาสตร์ทางการบิน จึงตัดสินใจออกแบบและสร้างต้นแบบโดรนโดยสารขึ้นจนสำเร็จ ต่อมาก็ตามมาด้วยโดรนรูปแบบอื่นๆ
passenger drone ลำแรก
passenger drone ลำแรกสร้างสำเร็จเมื่อปี 2563 ในรูปแบบโดรนโดยสาร 1 ที่นั่ง ใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion polymer “Li-Poly” ที่มีความจุไฟฟ้ามากกว่า Li-ion ถึง 20% ในขนาดแบตเตอรี่ที่เท่ากัน มีความแข็งแรงสูง เกิดประกายไฟน้อย และทนต่อการกระชาก
โครงสร้างเป็นวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรงคงทน ส่วนของปีกมีความยาว 42 นิ้ว ระยะเวลาบิน 30 นาทีต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
จากต้นแบบลำแรกได้พัฒนาเป็นโดรนโดยสารลำใหญ่ขึ้น มีจำนวนใบพัดมากขึ้นและใหญ่ขึ้นเป็นขนาด 62 นิ้ว มอเตอร์ขนาด 60 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 80 แรงม้า ระยะเวลาการบิน 30 นาทีเท่ากับลำแรก แต่บินได้เร็วกว่า โดยบินได้สูงไม่เกิน 500 เมตรจากพื้นดิน
โดรนรุ่นใหม่มีน้ำหนักเครื่อง 150 กิโลกรัม น้ำหนักโหลด 100 กิโลกรัม รวมน้ำหนักสูงสุดอยู่ที่ 250 กิโลกรัม
ปัจจุบันโดรนโดยสารทั้ง 2 ลำยังไม่ได้พัฒนาในเชิงพาณิชย์ ด้วยข้อกฎหมายของไทยยังไม่อนุญาต ประกอบกับทางบริษัทกำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ต้องรอให้กฎหมายอนุญาตให้ประกอบการเชิงพาณิชย์ได้จึงจะสามารถทำการตลาด
โดรนเพื่อความมั่นคง
สถาบันการบินพลเรือนยกเว้นการขึ้นทะเบียนโดรนน้ำหนัก 25 กิโลกรัม แต่โดรนที่ PulseX พัฒนาจะเป็นโดรนใหญ่ที่น้ำหนักสูงเกิน 100 กิโลกรัมจึงต้องพัฒนาร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงอย่าง กองทัพ ตำรวจ หน่วยงานด้านกู้ภัย ป่าไม้ ที่จะมีกฎหมายอีกฉบับใช้บังคับ
ขณะที่กฎหมายที่ใช้บังคับโดรนพลเรือนนั้นจะมีกฎระเบียบเข้มงวด เน้นปลอดภัยสูงเพราะใช้ท้องฟ้าร่วมกับสายการบิน และบินผ่านชุมชน แต่โดรนด้านยุทธการมีพื้นที่ปฏิบัติการห่างไกลชุมชน
นัทธี กล่าวว่า หลังจากพิจารณาความต้องการในตลาดแล้ว เส้นทางการพัฒนาของ PulseX จะโฟกัสไปที่เทคโนโลยีโดรนขนาดใหญ่ที่มีแรงยกสูง (Heavy Lift Drone)
โดรนแรงยกสูงนี้ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานด้านความมั่นคง โดรนช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น ขนย้ายผู้ป่วย ลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ โดรนลาดตระเวน เป็นต้น โดยทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานทางทหาร
“โดรนแรงยกสูงมีโอกาสการใช้งานสูง เช่น สามารถใช้ทดแทนภารกิจขนส่งเสบียงของเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีค่าชั่วโมงบินสูงอาจจะไม่คุ้มค่าในการทำภารกิจระยะ 50-100 กิโลเมตรจากฐาน เมื่อเทียบกับการใช้โดรนที่ต้นทุนการบินต่ำกว่า”
ยกตัวอย่างเช่น Heavy lift D-MERT โดรนลำเลียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ สามารถบรรทุกน้ำหนักได้สูงถึง 100 กิโลกรัม ผลงานร่วมวิจัยกับกรมแพทย์ทหารบก ได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางทหารของกระทรวงกลาโหม ประจำปี 2566
นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพในการดำรงสภาพหรือพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ให้สูงขึ้นแล้ว ยังสามารถผลักดันนำไปสู่การผลิตเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทดแทนยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศได้ด้วย.