อีก 3 ปี "โดรน" จะอยู่ในทุกบ้าน กพท.หนุนไทย "ผู้ใช้เทคโนโลยีสูงสุด"

อีก 3 ปี "โดรน" จะอยู่ในทุกบ้าน กพท.หนุนไทย "ผู้ใช้เทคโนโลยีสูงสุด"

กพท.วางโรดแมปพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับในประเทศไทย ก้าวสู่ "ผู้ใช้เทคโนโลยีสูงสุด" ยกระดับนวัตกรรมใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เตรียมจัด Thailand Drone Exhibition and Symposium 2024 วันที่ 7-9 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์ฯสิริกิติ์

KEY

POINTS

  • สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. ระบุตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 คาดการณ์ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 จะมีถึง 130,000 ราย และคาดว่าในระยะ 10 ปีข้างหน้าจะมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลำ
  • “นักบินโดรน" เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้หลายภาคส่วนต้องการแรงงานทางด้านนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องจัดฝึกอบรมให้เป็นไปตามมาตรฐาน
  • Thailand Drone Exhibition and Symposium 2024 วันที่ 7-9 พ.ย.นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานแสดงเทคโนโลยีและสัมมนาเพื่อวงการ “โดรน” โดยเฉพาะ ครั้งแรกในประเทศไทย

 

 

 

 

“ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์เทคโนโลยีโดรนได้สูงสุด” และ “ไม่เกิน 3 ปีทุกคนจะพกโดรนคล้ายกับที่ปัจจุบันเราทุกคนพกโทรศัพท์มือถือ"

วิสัยทัศน์จาก "สุทธิพงษ์ คงพูล" ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งจำนวนการขึ้นทะเบียนผู้บังคับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยมีโดรนที่ขึ้นทะเบียนในระบบของ กพท. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 คาดการณ์ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 จะมีถึง 130,000 ราย และคาดว่าในระยะ 10 ปีข้างหน้าจะมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลำ

ขณะที่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรมมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการใช้โดรนในทางวิศวกรรม เพื่อการสำรวจและการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ การใช้โดรนในทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ การถ่ายภาพมุมสูง การใช้โดรนในการเกษตรกรรม การกู้ภัยและรักษาความปลอดภัย 

และล่าสุดกับ “โดรนขนส่ง” ที่เริ่มมีให้เห็นในหลายประเทศและไทยเราตอนนี้ หน่วยงานภาครัฐได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.การใช้งานโดรนเพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว และเตรียมเสนอร่างให้พิจารณาต่อไป

อีก 3 ปี \"โดรน\" จะอยู่ในทุกบ้าน กพท.หนุนไทย \"ผู้ใช้เทคโนโลยีสูงสุด\"

แนวทางกำกับดูแลยึดความปลอดภัย

จากความสำคัญดังกล่าว กพท. จึงเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแล และส่งเสริมให้การใช้โดรนดำเนินการไปทิศทางที่ถูกต้อง ให้คำแนะนำและชี้แนะผู้ที่สนใจขึ้นทะเบียน ล่าสุดยังได้จับมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดทำแผนแม่บท หรือ Drone Master Plan ให้ออกมาเป็น Roadmap สำหรับประเทศไทย ที่มีรายละเอียดครบทุกมิติ 

ทั้งในด้านนโยบาย กฎหมาย การพัฒนาบุคลากร การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความปลอดภัย ความมั่นคง และการป้องกันสิทธิส่วนบุคคล เป็นต้น

ยกตัวอย่างการพัฒนาบุคลากรซึ่ง “นักบินโดรน" เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้หลายภาคส่วนต้องการแรงงานทางด้านนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องจัดฝึกอบรมให้เป็นไปตามมาตรฐาน

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลการใช้งานโดรนนั้น เนื่องจากการใช้โดรนต้องอยู่ร่วมกับอากาศยานที่มีคนขับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ทั้งผลกระทบตัวกฎหมายในปัจจุบัน มาตรฐานอากาศยานจริงในห้วงอากาศ เรื่องความปลอดภัยหากมีการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลายทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางเสียงและเทคโนโลยีที่นำมาใช้มีความปลอดภัยขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลโดรนใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก คือ พิจารณาจาก 3 ประเภทหลักคือ 1. ความเสี่ยงต่ำ กลุ่มบันเทิง 2. เสี่ยงปานกลาง กลุ่มธุรกิจและ 3. ความเสี่ยงสูง เป็นโดรนที่มีขนาดเท่าเครื่องบินจริงและมีการขนผู้โดยสาร

ดังนั้น การกำกับดูแลจึงไม่สามารถใช้วิธีการกำกับดูแลแบบเดียวได้ ต้องขึ้นอยู่ประเภทความเสี่ยงส่วนความรับผิดชอบ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อีก 3 ปี \"โดรน\" จะอยู่ในทุกบ้าน กพท.หนุนไทย \"ผู้ใช้เทคโนโลยีสูงสุด\"

สำหรับ กพท.ได้เตรียมการปรับปรุงการกำกับดูแลโดรนที่จะเริ่มดำเนินการเร็วๆ นี้ ได้แก่ 1. ด้านรับรองการบินโดรนแบบต่างๆ เช่น BVLOS, โดรนขนาดกลาง 2. การจดทะเบียนอากาศยาน 3. การรับรองศูนย์ฝึกอบรมนักบินโดรนประเภทต่างๆ และ 4. การออกใบอนุญาตนักบินโดรนในแต่ละประเภท (พื้นฐาน, ขั้นสูง)

“กพท.พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดรน ที่จะพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในอนาคต ให้ทุกคนและทุกภาคส่วน ได้นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การบูรณาการแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติ

ทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น ศูนย์กลางด้านการบินและการขนส่งทางอากาศ ในระดับภูมิภาคและระดับโลกในอนาคต”

อีก 3 ปี \"โดรน\" จะอยู่ในทุกบ้าน กพท.หนุนไทย \"ผู้ใช้เทคโนโลยีสูงสุด\"

ปลดล็อกการขออนุญาตโดรน 25 กก.

จากจำนวนขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานฯ ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ประกอบกับกฎหมายใหม่ที่มีการประกาศบังคับใช้ล่าสุด ได้แก่

ประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานซึ่งควบคุมการบินจากภายนอกที่มีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม พ.ศ. 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2567

ส่งผลให้การอนุญาตและการทำการบินโดรนในประเทศไทยครอบคลุมวัตถุประสงค์และตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น โดรนทางการเกษตร ซึ่งมีความต้องการใช้อย่างมากในปัจจุบัน และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้อากาศยานประเภทใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

อีเวนต์ “โดรน” ครั้งแรกในไทย

บทบาทของ กพท. นอกจากการกำกับดูแล และผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนโดรนอย่างถูกกฎหมายแล้ว การรณรงค์หรือสร้างแรงบันดาลใจก็เป็นภารกิจสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จึงเตรียมจัด “งานสัมมนาและการแสดงอากาศยานไร้คนขับ Thailand Drone Exhibition and Symposium 2024

งานแสดงเทคโนโลยีและสัมมนาเพื่อวงการ “โดรน” โดยเฉพาะและจัดเป็นครั้งแรกในประเทศ ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยกระดับการใช้งานโดรนในกิจกรรมด้านต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน สนับสนุนให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย และถูกต้องปลอดภัย 

อีก 3 ปี \"โดรน\" จะอยู่ในทุกบ้าน กพท.หนุนไทย \"ผู้ใช้เทคโนโลยีสูงสุด\"

เป้าหมายการจัดงาน

1.เพื่อเผยแพร่ข้อมูล เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ รวมถึงกฎหมาย กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ

2.เพื่อนำเสนอการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ และการนำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่แนวโน้มและทิศทางในการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3.เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ โดยการจัดแสดงนวัตกรรมและสาธิตการใช้งานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ ในสภาวะจริง

ภายในงานยังมีงานสัมมนาร่วมแชร์ประสบการณ์ระเบียบการบิน เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ โดรนในหลากหลายอุตสาหกรรม จากผู้กำหนดนโยบายการบิน ทั้งในและต่างประเทศ และปาฐกถาพิเศษจากประธานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO)

พบนวัตกรรมโดรนร่วมจัดแสดงกว่า 100 คูหา ทั้งในเชิงพาณิชย์ การท่องเที่ยวและความบันเทิง การตรวจติดตามด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณะภัย การเกษตร และ การขนส่ง อาทิ โดรนสำหรับขนส่งยาและเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน / โดรนที่ช่วยในการปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยสามารถใช้ในสถานการณ์ที่เกิด ภัยพิบัติ / 

โดรนขนาดเล็กเพื่อการสำรวจ ตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์ การตรวจสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และ การประยุกต์ใช้โดรนในสถานการณ์ต่าง ๆ การตรวจสอบรอยร้าวของเขื่อนและอาคาร กิจกรรมสาธิตการบิน Passenger Drone โดรนโดยสารหรือ Taxi Drone การแสดงการบินโดรนเหนือทะเลสาบสวนเบญจกิติ เป็นต้น

หากซื้อโดรนภายในงานนี้ สามารถจดทะเบียนขึ้นระบบภายในงานได้เลย ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้ที่ www.thailanddroneexpo.com.