หัวหน้ายุคใหม่ ต้องให้ Feedback (1)
พี่หัวหน้างานยุคใหม่ท่านใดไม่ใช้ Feedback เปรียบเสมือนพี่ต้องสื่อสารในโลกปัจจุบัน โดยไม่มีอุปกรณ์และแอพฯไอทีพื้นฐาน ถือว่าขาดเครื่องมือทำงาน
ที่สำคัญยิ่ง
เหมือนพี่ไม่มี line.. ใช้ Facebook ไม่เป็น.. เห็น social media เป็นเรื่องเพลียใจ
พี่คงอยู่ได้...แต่จะสื่อสารกับใคร โดยเฉพาะลูกน้องยุคใหม่ มักต่อไม่ค่อยติด เพราะพี่คิด คุ้น และคุยแบบอนาล็อก
น้องเลยได้แต่กลอกตา
พจนานุกรมอังกฤษ-ไทยทั่วไป ให้ความหมาย Feedback ว่า “ให้ข้อมูลย้อนกลับ”
บางที่ ตีความง่ายๆ ว่าคล้ายๆ “ให้คำติชม”
ก่อนอื่นใด เรามาทำความเข้าใจว่าทำไม Feedback จึงสำคัญ
ทำไมนักกีฬาเหรียญทองจึงกระหายอยากได้ Feedback จากโค้ช
ทั้งนี้เป็นเพราะท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน การได้รับ Feedback ที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นโอกาสในการเรียนลัดเพื่อพัฒนาอย่างรวดเร็วขึ้น เหมือนมีกระจกส่องให้เห็นประเด็นที่เรามองไม่ชัด
คนที่โชคดี คือ ผู้ที่มีคนข้างกาย คอยทั้งให้กำลังใจชื่นชมเมื่อทำดี และคอยเป็นพี่ที่กล้าบอกว่าน้องต้องปรับ ยามที่ทำพลาดไป ด้วยสายตาที่ทั้งปราณี และมีประสบการณ์
คนที่โชคร้าย คือ คนที่ไม่มีใครห่วงใย ปล่อยให้หลงบ้าง ล้มบ้าง ให้คลำทางเอง วังเวงว้าเหว่
กว่าจะเรียนรู้อะไรสักอย่าง ช่างชักช้า และได้มาด้วยความยากเย็น
ผู้ให้ Feedback จึงถือว่า เป็นผู้ให้คุณ
คอยลุ้น คอยเกื้อหนุนให้ไปถึงเส้นชัย
กระนั้นก็ตาม หากผู้ให้ Feedback ขาดทักษะที่ดี อาจมีงง..
พี่คิดว่าพี่นี้แสนหวังดีเมื่อให้ Feedback แต่น้องกลับมองว่าพี่ประสงค์ร้าย คล้ายๆ “ด่า” บอกอะไรจึงเข้าหูขวาทะลุหูซ้าย ทำท่าละม้ายฟัง แต่ในใจตั้งแง่ว่า..พี่หาเรื่อง !
การให้ Feedback จึงเป็นทักษะหนึ่งซึ่งพี่ต้องฝึกฝน เปรียบเสมือนการเรียนภาษาใหม่ ไม่ใช้ ไม่ฝึก ก็ไม่รู้ลึก ไม่ชำนาญ
พูดอย่าง คนฟังเข้าใจไปอีกอย่าง ไม่ต่างกัน
ข้อแนะนำในการ Feedback พื้นฐาน 10 ประการ มีดังนี้ค่ะ
1.เตรียมตัวทำการบ้าน
เพราะ Feedback ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ถือเป็นงานของมืออาชีพ จึงต้องทำอย่างใส่ใจ ประณีต บรรจง
จะ Feedback ให้ดี พี่ต้องมีข้อมูล ต้องศึกษาปัญหา รู้ที่มาที่ไป เห็นพฤติกรรมของลูกน้องด้วยตาตนเองยิ่งดี มิใช่เอาแค่เขาบอกมา
ยิ่งใครใส่ความน้องเรา ยิ่งต้องเอาใจใส่ทำการบ้าน คอยติดตามงาน หมั่นสังเกตุ เก็บข้อมูล โดยไม่หุนหันพลันแล่น รีบเรียกมาต่อว่า (มิน่า..น้องถึงแปล Feedback ว่า “ด่า” เต็มๆ)
2.เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ให้ Feedback ด้วยความเมตตา และเข้าใจ
เหมือนนั่งในใจน้อง
ยิ่งใหม่ๆ ตระหนักว่าน้องอาจสองจิตสองใจ ไม่รู้ว่าพี่จะมาไม้ไหนยามเรียกหนูไปให้ Feedback
พี่จึงต้องตั้งใจทำทุกวิถีทางให้การสื่อสารระหว่าง Feedback เป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าสยดสยอง ค่อยๆประคับประคองให้น้องมองเห็นประโยชน์ มิใช่ฟังแล้วโกรธ หรือดื้อเงียบ
วิธีหนึ่งที่ดี คือ ตั้งหลักตั้งสติที่พี่ก่อน
อาทิ หากพูดเดี๋ยวนี้ พี่รู้ตนดีว่าจะออกอารมณ์เกรี้ยวกราด สาดวาจาใส่ เป็นใครๆ แม้พี่เองก็เอือม อยากสมองเสื่อมชั่วคราว
ดังนั้น กรุณาระงับจับวาจาไว้ก่อน หรือรอหารือตอนอารมณ์เย็น เป็นประโยชน์กว่ามาก
3.ชมติอย่างสมดุล
Feedback มิได้เน้นเฉพาะประเด็นที่ต้องติ ต้องพัฒนา
หน้าที่พี่ต้องหาข้อดี ข้อที่น้องทำถูก เพื่อปลูกฝังให้เขาทำดีเช่นนั้นต่อไป
การชม จึงถือเป็นหัวใจของการ Feedback เช่นกัน
เมื่อทำดีมีชม ยามต้องติเพื่อให้พัฒนา น้องจึงน่าจะรับฟังแบบเปิดใจได้กว้างขึ้น
นอกจากนั้น ขั้นตอนของการทั้งชมและติ ก็สำคัญ
ติชม ติก่อนแล้วจึงชมชื่น ฟังอย่างไรก็ไม่สู้รื่นหู
ชมติ ชมก่อนแล้วจึงติงให้ปรับ น่ารับน่าฟังกว่ามาก
4.ชมติทันทีที่ทำได้
การ Feedback เป็นภารกิจที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละครั้ง อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
มิใช่ใช้เฉพาะคราวเจอกันตอนประเมินผลปลายปี
เพราะเวลาก่อนหน้านั้น ถือว่าเสียเปล่า
แทนที่จะให้เขารับรู้ว่าอะไรที่ทำดี กรุณาทำถี่ ทำซ้ำ
อะไรที่ทำพลาด ก็ต้องใช้เวลาระหว่างนั้นปรับปรุง
มาเฉลยให้รู้เอาปลายปี พี่จะให้หนูย้อนเวลากลับมาแก้ใหม่..หรือไงคะ
ดังนั้น ยิ่งเห็นเขาทำอะไรดี พี่รีบจับถูกได้ทันที ไม่ต้องรีรอ
แต่ยามต้องติ แม้ไม่ควรทิ้งเวลาให้เนิ่นนาน แต่ต้องขอรอให้ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งสติ และต้องเลือกสถานที่ให้เหมาะสม
เพราะชมต่อหน้าใครๆได้
แต่เมื่อติ ต้องห้ามให้ใครต่อใครได้ยิน !
5.ห้ามกระหน่ำ
หลักข้างต้นที่ให้พี่ Feedback ทันที และสม่ำเสมอ จะช่วยให้ทะยอย Feedback ได้ ไม่ต้องกระหน่ำย่ำยี รวบบอกทีเดียวว่า พี่มี 10 เรื่องให้น้องต้องปรับปรุง!
คนธรรมดายังพอรับพิจารณา 1-2 เรื่อง
หากเริ่มนับ 3 ชักตามไม่ไหว.. หนักใจ ถอดใจ เลิกฟัง
พูดแล้วไม่มีใครฟัง พี่ต้องนั่งพิจารณาหาวิธีพูดใหม่ จะได้ไม่เสียลมหายใจฟรีๆ
สัปดาห์นี้ ทดลองหลัก 5 ข้อ รอสัปดาห์หน้า มาเก็บตกอีก 5 ประเด็นสำคัญของไวยากรณ์ภาษาที่ชื่อว่า Feedback ซึ่งหัวหน้าต้องฝึกใช้ให้เป็นค่ะ