มอง “สหกิจศึกษา” ในมุม PR
หากเหลียวดูแวดวงมหาวิทยาลัย ล้วนมีนโยบายเน้นสร้างคุณภาพนักศึกษาในหลากหลายมิติ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่
และภาคการจ้างงาน หนึ่งในนั้น คือ “สหกิจศึกษา” หวังผลพัฒนามาตรฐานการฝึกงานที่สูงขึ้น
ขณะที่นักศึกษาอาจต้องมานั่งคิดเช่นกันว่า จะใช้โอกาสตรงนี้อย่างไร เนื่องจากเป็นการฝึกงานเสมือนหนึ่งเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราวในองค์กรสถานประกอบการ หลายๆ แห่งจัดสวัสดิการ ผลตอบแทนให้ด้วย
อยู่ที่จะวางตัวปฏิบัติตน เรียนรู้ร่วมมืออะไร take action อย่างไร ให้เหมาะสมกับบริบท ขึ้นกับแต่ละมุมมอง อาจมองได้หลายมุม หนึ่งในนั้น จะดีหรือไม่ หากใช้มุมมองการประชาสัมพันธ์ (PR)
PR เป็นอะไรที่มีความเกี่ยวข้อง สัมผัสสัมพันธ์ เชื่อมโยงองค์กรไม่มากก็น้อย ไม่ว่าเรื่องการบริหาร การดำเนินงาน ผลงาน ความก้าวหน้า รวมถึงเรื่องชื่อเสียง ภาพลักษณ์องค์กร
มองในมุม PR นอกจากไปฝึกทักษะประสบการณ์ในงานแล้ว อาจหาโอกาสมีส่วนร่วมปฏิบัติ หรือเรียนรู้ด้านอื่นๆ ด้วย 1) ด้านการบริหาร เช่น เรียนรู้ผู้นำ นโยบาย โครงสร้างองค์กร 2) ด้านการปฏิบัติ เช่น เรียนรู้พนักงานสัมพันธ์ ความร่วมมือร่วมใจ การประสานงาน 3) ด้านการประชาสัมพันธ์ เช่น เรียนรู้การประชาสัมพันธ์ผลงาน การสร้างความรู้ความเข้าใจ และรับฟังปัญหา ใส่ใจองค์กร ห่วงใยสังคม
ใคร่ขอนำ 3 ด้าน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ภาพรวมๆ พอสังเขปบางประการ เผื่อเป็นแง่คิดนักศึกษา ผู้อ่าน ผู้สนใจ อาจเห็นด้วย เห็นต่าง เห็นเพิ่มจากผู้เขียน ล้วนเป็นผลดีต่อการพัฒนามาตรฐานการฝึกงาน ดังนี้
1. สร้างพนักงานสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่วันแรก แต่งกายเหมาะสม เสื้อผ้าหน้าผม ไปถึงหน่วยงานก่อนเวลา นั่งรอหัวหน้างานที่ฝ่ายงานแผนก แรกพบสื่อสารสวัสดีแนะนำตัว สร้างความรู้จักทักทาย บอกกล่าวเราเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไรที่นี่ มีสัมมาคารวะผู้อาวุโส พี่ๆ ในแผนกทุกๆ คน อ่อนน้อมถ่อมตน เพียงเท่านี้ก็เป็นความรู้สึกดี ประทับใจ ได้ใจ
ถ้าจะให้ดี ควรมีแฟ้มสะสมงานระหว่างเรียนไปด้วย (ถ้ามี) โดยเฉพาะประวัติผลงานโดดเด่นอะไรบ้าง เช่น ชนะการประกวดแข่งขันวิชาการ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมอะไร ผ่านหลักสูตรการอบรม สัมมนาใด แนบประกาศนียบัตรรับรอง เกียรติบัตรยกย่อง ร่วมโครงงานกิจกรรม ชมรม สโมสรนักศึกษา บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ออกค่ายอาสาพัฒนาที่ไหน อย่างไร หรืออื่นๆ
นำเสนอผลงาน สื่อสารให้เข้าใจ ย้ำให้เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจมา หัวหน้างานผู้บริหารมองเห็น รับรู้อย่างนี้ มีอะไรก็อยากให้รู้ เอ็นดูชื่นชม จัดให้จัดเต็ม เพื่อสนับสนุนการฝึกงาน เพิ่มประสบการณ์ทักษะ ถ่ายทอดศิลปวิทยาให้ ไม่หวงวิชา อย่าลืมว่าองค์กรเขาก็สังเกตนะ ใคร ยังไง เพียงแต่เขาไม่บอกเรา
2. เมื่อรู้จักรู้ใจ เข้าใจที่ดี มีมิตรไมตรี จากนี้ไปให้ลงมือทำ ทำจริง ศึกษางานอย่างเข้าถึง รู้แจ้ง เห็นจริง มีความเพียรพยายาม ใช้ความรู้ความสามารถ หัวหน้างานมอบหมายงานใด ตั้งใจทำให้แล้วเสร็จ ส่งตรงเวลา
ควรฟังคำสั่งงานให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ เพื่อจะได้ปฏิบัติถูกต้อง ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน หากสงสัย หรือมีอะไรไม่แน่ใจ ใช้การสื่อสารสองทาง ถาม-ตอบ ซักซ้อมความเข้าใจ
3. ถ้าจำเป็น หรือมีปัญหาอุปสรรคอะไร ขาดเหลืออย่างไร ขอรับการสนับสนุน นำเรียนหัวหน้างาน ผู้บริหารช่วยเหลือแก้ไข ตรงไหนยากเกินความสามารถ อาจขอคำปรึกษา แนะนำ เพื่อให้ผลของงานออกมาดี มีคุณภาพ
4. เมื่อมีการสอนงานใดๆ หรือมอบหมายงานสำคัญๆ ให้ทำ นั่นแปลว่าเขาให้ความไว้วางใจ อยากให้เรียนรู้ที่สูงขึ้น ต้องสนใจจดจ่อ เรียนรู้จดจำที่ดี ทุ่มเททำงานนั้นให้สำเร็จ อาจแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะที่สร้างสรรค์ ในขอบเขตที่พอเหมาะ พอควร มองในมุม PR พูดดีมีแต่ได้
5. วางตัว take action สร้างและรักษาสัมพันธ์ที่ดี เสมอต้นเสมอปลาย อะไรที่ยาก ก็ง่าย อะไรที่ง่าย ก็ง่ายขึ้น มีภาพลักษณ์นักศึกษาฝึกงานที่ดีทั้งด้านบุคคลและด้านงาน
6. เข้าถึงสื่อประชาสัมพันธ์ภายในองค์กร เช่น จดหมายข่าว วารสาร เอกสารเผยแพร่ รวมทั้งติดตามกฎระเบียบ นโยบาย บันทึกเวียนแจ้งเรื่องต่างๆ ถือเป็นสื่อสัมพันธ์ผู้บริหารและพนักงาน ควรให้ความสำคัญ เพื่อจะได้ทราบสถานการณ์ ข่าวสารความเคลื่อนไหว เป็นการสื่อสารในองค์กรอย่างหนึ่ง บางเรื่องไม่เพียงทราบ อาจต้องให้ความร่วมมือ
7. เรียนรู้เข้าถึงผู้นำองค์กร เป็นใคร ชื่อ-สกุล วงการธุรกิจใด วิสัยทัศน์อย่างไร อาจค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต อ่านเอกสารเผยแพร่ขององค์กร บทสัมภาษณ์ ฟังผู้นำพูดในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ฯลฯ
วิสัยทัศน์ผู้นำเปรียบดั่งขั้วที่อยู่ข้างบน สูงสุดขององค์กร วิสัยทัศน์ผู้นำเป็นจุดกำเนิดนำไปสู่พันธกิจ กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงานโครงการ/กิจกรรมต่างๆ สร้างความสำเร็จก้าวหน้าให้องค์กร จะอยู่รอดหรือเติบโต สำเร็จก้าวหน้าเพียงใดอยู่ที่นี่ เช่น ใครฝึกงานธุรกิจค่ายสหพัฒน์ฯ ควรต้องเรียนรู้ รู้จักคุณบุญชัย โชควัฒนา คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ใครฝึกงานปูนซิเมนต์ไทย ควรต้องเรียนรู้ รู้จักคุณกานต์ ตระกูลฮุน เป็นต้น
กระทั่งฟังการประชุมสำคัญๆ เช่น การประชุมกลยุทธ์การแข่งขันทางธุรกิจ ลู่ทางการลงทุนพัฒนาขยายกิจการ การปรับแผนส่งออก แผนการผลิต การตลาด ฯลฯ จะได้วิธีคิด หลักคิด หลักการ เหตุผลในการพิจารณาและตัดสินใจเรื่องนั้นๆ อ่านขาด เหนือชั้น ข้ามช็อตอย่างไร ถือเป็นมันสมองขององค์กร เป็นสุดยอดบันไดประสบการณ์ อาจนำไปเป็นแง่คิด แนวคิดการทำงานในปัจจุบันและอนาคต
ยิ่งฟัง ยิ่งได้
ถ้าหัวหน้างานให้เราเข้าประชุม รีบตอบรับ เป็นโอกาสทอง ถ้าไม่เชิญ อาจต้องคิดหาวิธี กระซิบขอเข้าร่วมดีมั๊ย โอกาสบางครั้งต้องสร้างเอง ไม่งั๊นไม่มีโอกาสฟัง บางทีหัวหน้างานไม่รู้ว่าเราสนใจ อยากเข้าร่วมประชุมหรือไม่ มองในมุม PR นักศึกษาต้องสื่อสารความต้องการ รู้จักพูดรู้จักคุย (บ้าง) ให้เขารู้ ถ้ารู้ ก็ไม่ขัดข้อง
มีไม่น้อยฝึกงานเสร็จกลับมา ยังไม่รู้ผู้นำชื่ออะไร อาจไม่ได้สนใจ เห็นว่าห่าง แปลว่า ไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้เข้าถึงผู้นำ คิดว่าเป็นการประชุมระดับผู้บริหาร ไม่เกี่ยวกับเรา ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เสียดายโอกาสเรียนรู้ขั้วความคิดข้างบน อันที่จริงนักศึกษาฝึกงาน และผู้บริหาร ย่อมสัมพันธ์เกี่ยวข้องเมื่อต้องอยู่ในองค์กร อย่างน้อยในฐานะสมาชิกคนหนึ่งที่ต้องพึงปฏิบัตินโยบายวิสัยทัศน์
การเรียนรู้ผู้นำ จึงสำคัญ
8. เรียนรู้นโยบาย ต้องรู้ว่า องค์กรมีนโยบายทำอะไร ก้าวไปทางไหน ทิศทางใด จะได้ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติถูกต้อง ช่วยกันขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ตรงเป้าหมายที่วางไว้ ที่เรียกว่า “นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ”
แต่ละนโยบายมีหลักการ เหตุผล ที่มาที่ไป ออกมาเพื่ออะไร หวังผลใด ผู้นำเป็นคนคิด พนักงานเป็นคนปฏิบัติ ต้องสื่อให้รู้ทั่วถึง เข้าใจถูกต้องตรงกัน การสื่อสารนโยบายที่ดี ย่อมส่งผลนโยบายไหลลื่น ปฏิบัติลื่นไหล
งานที่นักศึกษากำลังฝึกปฏิบัติอยู่นี้ ว่าไปแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย นั่นเอง การฝึกงานยุคใหม่เรียนรู้ “การปฏิบัติ” อาจไม่พอ อาจต้องเรียนรู้ “นโยบาย” ด้วย ไม่เช่นนั้น ได้ปลายทาง (ผลงาน) ไม่ได้ต้นทาง (นโยบาย) รู้ที่ไป ไม่รู้ที่มา
การเรียนรู้นโยบาย จึงพลาดไม่ได้
9. เรียนรู้โครงสร้างองค์กร โครงสร้างการบริหารงานอย่างไร คณะกรรมการบริหารเป็นใคร จัดสายงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ แบ่งฝ่ายงานแผนกต่างๆ อะไรบ้าง มีสายการบังคับบัญชา สายการประสานงานอย่างไร เราอยู่ตรงไหน สายงานใด ขึ้นกับใคร
อาจต้องเรียนรู้ รู้จักผู้บริหารรองๆ ลดหลั่นลงมาด้วย เพราะเป็นผู้กำกับดูแล ขับเคลื่อนนโยบายที่ผู้นำสื่อสารส่งผ่านโครงสร้างฯไปสู่พนักงานผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้บริหารที่ควบคุมสายงานเราโดยตรง จะได้ปฏิสัมพันธ์ด้านบุคคลและด้านงานได้ถูกต้อง เหมาะสม
“ปฏิบัติ” ขาด “บริหาร” ไม่ได้ ใครจะคิด (นโยบาย)
“บริหาร” ขาด “ปฏิบัติ” ไม่ได้ ใครจะทำ (ผลงาน)
“บริหาร” และ “ปฏิบัติ” ขาด “โครงสร้างองค์กร” ไม่ได้ ไม่มีช่องทางสื่อสารนโยบาย สั่งงานและรับมอบงาน
การเรียนรู้โครงสร้างองค์กร จะทำให้เรามองเห็นกลไกภาพรวมองค์กร ทุกสายฝ่ายงานแผนก ทำงานประสานสอดคล้องกัน ไม่ต่างคนต่างทำ ดุจฟันเฟืองนาฬิกาที่หมุนสอดรับไปด้วยกัน ไม่ปีนเกลียว ส่งผลนาฬิกาเดินตรงเวลาฉันใด ส่งผลองค์กรเดินตรงเป้าหมายฉันนั้น
ผู้นำผู้บริหาร พนักงานผู้ปฏิบัติ โครงสร้างองค์กร ที่มีความเป็นเนื้อเดียวกัน ผสานลงตัว ที่เรียกว่า จัดทัพ จัดทีม ย่อมส่งผลกลไกการบริหาร เกื้อกูลหนุนนำ หนุนส่งให้บรรลุเป้าหมาย อาจเป็นผลงาน ผลประกอบการ ยอดขาย กำไร ความสำเร็จก้าวหน้า ความร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับภาครัฐ ฯลฯ
การเรียนรู้โครงสร้างองค์กร จึงจำเป็น
10. เรียนรู้ PR ในฐานะที่เป็นเครื่องมือขององค์กร นำ “ผลงาน” สู่ “ผล PR” หลายๆ แห่งจัดโครงสร้างองค์กรให้ฝ่ายงาน PR ขึ้นตรงกับผู้นำ ถือเป็นงานเชิงนโยบาย การประชาสัมพันธ์กับการบริหารคู่ขนานไปด้วยกัน อาจประสานงาน ขอเข้าพบปะพูดคุยกับนักประชาสัมพันธ์ เพื่อเรียนรู้ว่า มีวิธีการทำงานอย่างไร PR ภายใน-ภายนอก สร้างการรับรู้ เข้าใจเข้าถึง สุดท้ายนำมาซึ่งชื่อเสียง ภาพลักษณ์องค์กรที่ดี เป็นผล PR ไม่ว่าใคร ล้วนต้องการบรรลุถึง ซึ่งจุดนั้น
ขึ้นชื่อว่าองค์กร ต้องมีภารกิจ ตราบที่มีภารกิจ ย่อมต้องประชาสัมพันธ์ จะประชาสัมพันธ์ได้ ผลงานต้องเด่นก่อน ผลงานจะเด่นได้ นโยบายต้องดีก่อน อาจเรียนรู้สเป็คผลงาน ต้องเด่นขนาดไหน ถึงจะเข้าข่าย PR ได้ เผื่อจะเป็นแนวทางในการนำมาใช้ในงานที่ฝึก อาจเป็นมุมมองใหม่ใช้ PR เป็นโจทย์ เพื่อสร้างผลงานให้ได้ตามสเป็ค
การเรียนรู้ PR จึงมองข้ามไม่ได้
11. จะดีหรือไม่ หากนักศึกษาจะใช้โอกาสสหกิจศึกษา ฝึกงาน ฝึกสร้าง “ผลงาน” สู่ “ผล PR” น่าสนใจไม่น้อย
11.1 ขณะฝึกงาน ฝึกปิ๊งไอเดียใหม่ๆ ใส่ เสริม เพิ่ม เติมเต็มในงานที่ฝึก ส่งผลสำเร็จที่ดี หัวหน้างานผู้บริหารแฮ็ปปี้ ชื่นชม เช่น ใครฝึกงานวิศวะ อาจปิ๊งไอเดียใหม่ๆในการประหยัดพลังงาน ใครฝึกงานบัญชี อาจปิ๊งไอเดียนำตัวเลขทางบัญชีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สร้างสรรค์ในเชิงบริหาร ใครฝึกงานเกษตร อาจปิ๊งไอเดียใหม่ๆ ในการถนอมอาหาร แพ็คเกจบรรจุหีบห่อ ใครฝึกงาน PR อาจปิ๊งไอเดียกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ใหม่ๆ ฯลฯ
11.2 ฝึกคิดสร้างอะไรใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องในงานที่ฝึก และตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร อาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ แนวคิดใหม่ วิธีการปฏิบัติใหม่ๆ เช่น ใครฝึกงานคอมพิวเตอร์ อาจคิดโปรแกรมใหม่ๆ ใช้แล้วสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ สร้างลิขสิทธิ์ให้องค์กร
11.3 หากได้รับมอบหมายงาน “โครงการพิเศษ” ใดๆ ทำแล้วส่งผลเป็นประโยชน์สร้างสรรค์องค์กร ชุมชน สังคม เช่น มีส่วนร่วมรับผิดชอบ เอาใจใส่ ห่วงใยสังคม อาจหารือหัวหน้างาน ผู้บริหาร นักประชาสัมพันธ์ขององค์กร เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานโครงการพิเศษนั้นสู่สังคม
11.4 อาจขอคำปรึกษาแนะนำ รับฟังความคิดเห็น ประสบการณ์พี่ๆ ฝ่ายงาน PR ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้มุมมอง PR ที่น่าสนใจ เพราะตรงนั้นเป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ความต้องการ สถานการณ์ต่างๆ อาจนำข้อมูลข่าวสารนั้นมาใช้ประโยชน์ในงานที่ฝึก เป็นอีกผลงานที่ตอบโจทย์องค์กร
11.5 นอกจากเรื่องทางบวกแล้ว เรื่องทางลบ (ถ้ามี) ก็ควรให้ความสำคัญ ใส่ใจ ไม่มองข้าม เช่น โรงงาน สถานประกอบการมีปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสียควันพิษ ปัญหาการปฏิบัตินโยบาย ปัญหาการทำงานอื่นๆ เกี่ยวข้องในงานที่ฝึก
ใครฝึกงานวิศวะ รู้ว่าโรงงานเริ่มมีปัญหาน้ำเสีย ควรสนใจนำพา เสนอหัวหน้า รายงานขึ้นไป เพื่อแก้ไขทันที อาจร่วมมือหาทางเร่งรัด บำบัดน้ำเสีย ก่อนที่ชาวบ้านจะชุมนุมประท้วง และสื่อมาทำข่าว ทำให้ภาพลักษณ์ธุรกิจเสียหาย เป็นการฝึกงาน ฝึกใส่ใจองค์กร ห่วงใยสังคม เป็นมุมมอง PR รับรู้ความเดือดร้อน สารทุกข์สุกดิบ เอาใจเขา (ชาวบ้าน) มาใส่ใจเรา (นักศึกษา/องค์กร)
11.6 เสนอแนะแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง มองเห็นจากการฝึกงาน เช่น ใครฝึกงานบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ อาจเป็นการเสนอแนะที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดค่าครองชีพประชาชน เสนอแนะที่เกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ ลูกค้าสัมพันธ์ เป็นบริษัทธุรกิจธรรมาภิบาล ฯลฯ การมองอะไรใหม่ๆ อาจได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ ดีไม่ดี หัวหน้างานผู้บริหารถูกใจ นำไปสู่การกำหนดนโยบาย ก็เป็นไปได้
เป็นบางมุม PR ในงานสหกิจศึกษา ถ้าทำได้ (หลายคนอาจทำอยู่แล้ว) ไม่เพียงนักศึกษาได้ประโยชน์ ยังให้ประโยชน์องค์กร ยิ่งให้ ยิ่งได้ อยู่ที่นักศึกษาฝึกงาน จะพิจารณาตามที่เห็นสมควร