“มนุษยธรรม” ฤา “ค้ามนุษย์”
เพียง 2-3 เดือนหลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว ขณะนี้ในกรุงกาฐมาณฑุเมืองหลวงของเนปาล มีสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้ามากกว่าที่มีในยุโรปเสียอีก
หน่วยงานของประเทศพัฒนาได้แห่กันไป ‘ช่วยเหลือ’ ตั้งสถานสงเคราะห์เด็กขึ้นมากมายยิ่งกว่าดอกเห็ดในฤดูฝน
ปรากฏการณ์นี้ ไม่ใช่ของใหม่ เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หลังภัยพิบัติ เกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา แผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ สึนามิที่เกาะสุมาตรา หลังสงครามเกาหลี เป็นต้น ที่ได้มีกลุ่มบุคคลและหน่วยงานจากประเทศพัฒนาแล้ว พากันยกโขยงไปช่วยเหลือเด็กอย่างรีบด่วน จนบางทีลุกลี้ลุกลนผิดสังเกต
เช่น ในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา พ.ศ.2533 เครื่องบินลำพิเศษที่มีกลุ่มบุคคลในฝรั่งเศสรีบร้อนจะส่งไปรับเด็กจำนวนสามสี่ร้อยคนมาจากรวันดาในเที่ยวบินเดียว ได้ถูกวิพากษ์สนั่นว่า ทำไมต้องรีบด่วนปานนั้น เสี่ยงต่อการผิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) จนมีอันต้องชะลอไปและไม่ได้เกิดขึ้นในที่สุด
หลังสงครามเกาหลี มีการสงเคราะห์ส่งเด็กเกาหลีจำนวนมากออกไปเป็นบุตรบุญธรรมในต่างประเทศจนทุกวันนี้เกาหลีกลายเป็นประเทศที่มีเด็กเกิดบนแผ่นดิน ตกเป็นบุตรบุญธรรมนอกประเทศมากที่สุดในโลก ครอบครัวเกษตรกร อเมริกันชื่อสกุลว่า โฮลท์ ซึ่งได้รับเด็กเกาหลีเป็นบุตรบุญธรรมในช่วงนั้น ได้ตั้งหน่วยงานประสานการรับบุตรบุญธรรม รู้จักกันทั่วโลกต่อมาในชื่อมูลนิธิโฮลท์
ตาม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มี 54 ข้อ หมายถึงบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ในอารัมภบท ให้ระลึกว่า ต้องคุ้มครองและสวัสดิภาพเด็ก “...โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอุปการะและการรับเป็นบุตรบุญธรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ...” มีกฎระเบียบมาตรฐานขั้นต่ำสุดของสหประชาชาติสำหรับการบริหารงานยุติธรรมแก่ผู้เยาว์ (กฎปักกิ่ง) และปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองสตรีและเด็กในภาวะฉุกเฉิน และกรณีพิพาทกันด้วยอาวุธ
ข้อ 7 เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิดและสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จักและได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน...
การส่งเด็กในภาวะใดก็ตามออกนอกประเทศ โดยเฉพาะเพื่อการรับเป็นบุตรบุญธรรมต้องปฏิบัติตามสิทธิพื้นฐานของเด็ก 4 ประการ คือ สิทธิที่จะมีชีวิต (Right to life) สิทธิที่จะได้รับการปกป้อง (Right to be protected) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right to be developed) และสิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right to participate) ซึ่งมี 40 ข้อ ครอบคลุมทั้งการรับบุตรบุญธรรมในและนอกประเทศ ที่เหลืออีก 14 ข้อ เกี่ยวกับกระบวนการที่จะดำเนินการตามพันธกรณีที่ระบุไว้ในอนุสัญญา ตลอดจนสิทธิและหน้าที่ของรัฐภาคี
โดยเฉพาะข้อ 9.1 “รัฐภาคีจะประกันว่า เด็กจะไม่ถูกแยกจากบิดามารดาโดยขัดกับความประสงค์ของบิดามารดา ...” ซึ่งในกรณีที่หน่วยงานมีอำนาจได้แยกเด็กจากบิดามารดา อาจถูก“...ทบทวนโดยทางศาลที่จะกำหนดตามกฎหมายและวิธีพิจารณา...”
จะเห็นว่าโลกเราโดยกฎบัตรสหประชาชาติ มีข้อตกลงที่ยอมรับและรักษาศักดิ์ศรีแต่กำเนิด และสิทธิที่เท่าเทียมกัน เป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติภาพในโลก แต่ในความเป็นจริงกฎเกณฑ์เหล่านี้ถูกละเมิดอยู่ทุกวัน ยิ่งในประเทศยากจน ยิ่งง่ายที่จะละเมิดหลบหลีกหาช่องโหว่ต่างๆ จากกฎหมายเกี่ยวกับเด็กผู้ซึ่งดูแลปกป้องตนเองไม่ได้โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน
ดูจากกรณีอุ้มบุญในบ้านเราเอง ขนาดภาวะปกติชายญี่ปุ่นมาจ้างหญิงไทยอุ้มบุญจำนวนเป็นสิบ แล้วก็อุ้มทารกตัวเป็นๆ อย่างมีเอกสาร ‘ถูกกฎหมาย’ บินออกนอกประเทศไปได้ง่ายๆ
แต่ในทางกลับกัน ในญี่ปุ่นไม่ว่าจะเกิดสึนามิร้ายแรง โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วสักแค่ไหน ภูเขาไฟระเบิดเสียหายหนักเพียงใด นานาชาติจะหลั่งไหลเข้าไปช่วยเหลือเท่าไร กี่ทาง ก็หาได้มีใครหรือประเทศใดกล้าแหย็มไปตั้งสถานสงเคราะห์เด็ก
จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในประเทศยากจนกำลังพัฒนาเท่านั้น สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าที่ตั้งขึ้นมากมายหลังภัยพิบัติอย่างที่กำลังเกิดอยู่ในกรุงกาฐมาณฑุขณะนี้
การที่เด็กจะถูกผู้ใหญ่คนอื่นซึ่งไม่ใช่พ่อแม่มา “จัดการชีวิต” ของตนจะตกไปอยู่สภาพใด ไม่มีใครติดตาม ไม่มีใครรู้
ถูกละเมิดสิทธิถิ่นที่เกิดในเรื่องของสัญชาติ ถูกพรากจากพ่อแม่ฯ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนแล้วยังไม่พอ เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ขายเป็นแรงงานเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่างๆ เก็บผลไม้ พับกระดาษฯ ขายเป็นแรงงานทางเพศ หรือที่ห่วงใยในปัจจุบันมากที่สุดก็คือขายอวัยวะ
แม้ในการท่องเที่ยว ก็เป็นอีกหน้าฉากหนึ่งที่อำนวยให้ตั้งสถานสงเคราะห์เด็กได้ง่ายๆ ในประเทศกำลังพัฒนา
มีบริษัททัวร์ เช่น Projects Abroad ในอังกฤษ STA Travel ในสวิตเซอร์แลนด์ จัดการท่องเที่ยวแบบไปทำงานอาสาสมัครเรียกว่า voluntourism ผสมจากคำว่า voluntary กับ tourism เก็บค่าทัวร์แพงลิบ เพื่อให้นักท่องเที่ยวผู้ประสงค์ดี มีมนุษยธรรม ได้ท่องเที่ยวแบบ “มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ” คือ เที่ยวด้วย ทำงานช่วยปลูกสร้างอาคาร สถานที่ ช่วยเพื่อนมนุษย์ไปด้วย โดยเฉพาะในแอฟริกา โดยหารู้ไม่ว่าทัวร์แบบนี้บางครั้งคือแย่งงานชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านขาดรายได้สิ่งปลูกสร้างอาจไม่เป็นที่ต้องการ ไม่สามารถใช้สอย ก็รกร้างว่างเปล่า บริษัททัวร์ก็จ้างให้รื้อทิ้ง เพื่อรับลูกทัวร์ชุดใหม่ หรือหากไปทำงานในสถานเด็กกำพร้า นั่นก็อาจเป็นหน้าฉากให้เกิด“การค้ามนุษย์ ” ได้ง่ายๆ เพราะว่าการจัดการรับบุตรบุญธรรมอย่างผิดๆ ก็คือ “การค้ามนุษย์” ดีๆ นี่อง
ทัวร์ “มนุษยธรรม” กำลังทำเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ให้กับบริษัททัวร์ ไม่นานเกินรอเดี๋ยวก็มาเมืองไทย