ใช้ AI ทำงานคือขี้เกียจ? คนสิงคโปร์ใช้ AI ฉ่ำแต่ไม่กล้าบอก กลัวถูกมองว่าโกง
ใช้ AI เท่ากับขี้เกียจ?! พนักงานบริษัทในสิงคโปร์ใช้ AI ทำงานกันฉ่ำ แต่ไม่กล้ายอมรับกับหัวหน้างานว่าตนเองใช้ AI ทำงาน กลัวถูกมองไร้ความสามารถ ขี้โกง ขี้เกียจ
KEY
POINTS
- พนักงานออฟฟิศในสิงคโปร์ 52% ใช้ AI ทำงานกันฉ่ำ แต่ไม่กล้าบอกใคร (โดยเฉพาะหัวหน้า) เพราะกลัวโดนมองไร้ความสามารถหรือขี้โกง
- การใช้ AI ทำงานกำลังเพิ่มขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก แต่พนักงานในสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยยังคงสับสนอยู่ว่า จะใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเหมาะสมในการทำงานได้อย่างไร
- ผู้เชี่ยวชาญ แนะ ผู้นำองค์กรจะต้องไม่ใช่แค่ฝึกอบรมพนักงานใช้ AI ให้เป็นเท่านั้น แต่ต้องสนับสนุนให้สามารถพูดคุยและทดลองใช้ AI ได้อย่างเปิดเผยด้วย
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI กำลังเติบโตขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก แต่สำหรับกลุ่มพนักงานยังคงมีความสับสนอยู่ว่าจะใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเหมาะสมในการทำงานได้อย่างไร โดยเฉพาะในสิงคโปร์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มุ่งเน้นการนำเอไอมาใช้ทำงานอย่างมาก
จากข้อมูลการศึกษา “Slack Workforce Index” ของบริษัท Slack (แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับสื่อสารทางธุรกิจ) ซึ่งได้สำรวจพนักงานกว่า 17,000 คนจาก 15 ประเทศทั่วโลกในเดือนสิงหาคม 2024 รวมถึงพนักงานจำนวน 1,008 คนในสิงคโปร์ด้วย ผลการสำรวจพบว่า พนักงานบริษัทในสิงคโปร์ 52% นิยมใช้ AI ในการทำงานของตน
ขณะเดียวกัน ตามข้อมูลวิจัยของ Hiring Lab จาก Indeed ก็แสดงผลในทิศทางเดียวกันว่า ความต้องการบุคลากรด้าน AI ในประเทศสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับ AI เชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นถึง 4.6 เท่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเดือนกันยายน 2023 และเดือนกันยายน 2024
ชาวสิงคโปร์ไม่กล้าเปิดเผยว่าใช้ AI ทำงาน กลัวโดนมองขี้เกียจ
แต่แม้ว่าความต้องการบุคลากรด้าน AI ในสิงคโปร์จะเพิ่มมากขึ้น แต่พนักงาน 45% ในประเทศกลับรายงานว่า พวกเขารู้สึกไม่สบายใจที่จะบอกกับหัวหน้างานว่าตนเองใช้ AI ในการทำงาน ซึ่งเหตุผลหลักๆ เป็นเพราะพวกเขากลัวที่จะถูกมองว่า “ไร้ความสามารถ” “ขี้เกียจ” หรือ “ขี้โกง” ตามรายงานของ Slack
คริสตินา จานเซอร์ (Christina Janzer) รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ของบริษัท Slack กล่าวกับ CNBC Make It ว่า วัยทำงานทั่วไปส่วนใหญ่รู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับการนำ AI มาช่วยในการทำงาน แต่พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะนำมันมาใช้ในสถานที่ทำงานอย่างไร ซึ่งความไม่แน่นอนและความสับสนนี้ กำลังขัดขวางการนำ AI มาใช้งานอย่างแพร่หลายในองค์กร
“ปัจจุบัน ภาระหน้าที่ในการคิดค้น AI ตกอยู่ที่พนักงานมากเกินไป สิ่งสำคัญคือ ผู้นำจะต้องไม่เพียงแค่ฝึกอบรมพนักงานในบริษัทใช้ AI ให้เป็นเท่านั้น แต่ต้องสนับสนุนให้พวกเขาสามารถพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้และทดลองใช้ AI ได้อย่างเปิดเผยด้วย” รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัย อธิบาย
องค์กรธุรกิจต่างๆ ควรจัดสรรเวลาและพื้นที่การทำงานที่จำเป็นสำหรับการทดลองใช้ AI ในการทำงาน และสนับสนุนให้พนักงานแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้กับเพื่อนร่วมงานเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ อีกทั้งสำหรับพนักงานที่ใช้ AI ทำงานได้คล่องแล้ว พวกเขายังสามารถเป็นผู้นำในการสาธิตให้เพื่อนๆ เห็นว่าพวกเขาใช้เทคโนโลยีในงานของตนเองอย่างไร เพื่อถ่ายทอดวิธีการใช้งานให้ขยายวงกว้างออกไปในองค์กร
ผู้นำ-หัวหน้างาน ต้องกำหนดอย่างชัดเจนว่าให้พนักงานใช้ AI กับงานใดได้บ้าง
นอกจากนี้จานเซอร์ยังแนะนำอีกว่า นายจ้างควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับเครื่องมือ AI ที่ได้รับการ “อนุมัติและเชื่อถือได้” ให้ใช้งานภายในองค์กรธุรกิจของตน และต้องกำหนดให้พนักงานทราบอย่างชัดเจนว่า เครื่องมือเอไอเหล่านี้สามารถใช้สำหรับงานใดได้บ้าง และงานใดใช้ไม่ได้บ้าง
ตามรายงานของ Slack มีบางช่วงบางตอนระบุไว้ด้วยว่า “หากผู้นำองค์กรไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ AI พนักงานก็จะเกิดความสับสนว่า เมื่อไหร่บริษัทจะยอมรับการใช้ AI ในที่ทำงานในเชิงสังคมและวิชาชีพได้ หรือจะให้ใช้งานโดยไม่เปิดเผยให้ผู้อื่นทราบ”
แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอน แต่พนักงานในสิงคโปร์ยังคงพยายามพัฒนาทักษะด้าน AI ของตน ตามรายงานระบุว่า พนักงานส่วนใหญ่ถึง 88% “รู้สึกว่าต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI อย่างเร่งด่วน” อย่างไรก็ตาม พนักงานในสิงคโปร์จำนวนไม่น้อย (63%) ใช้เวลาเรียนรู้วิธีใช้ปัญญาประดิษฐ์ไม่ถึง 5 ชั่วโมงก็ใช้งานเป็นแล้ว
ท้ายที่สุด ตามการวิจัยของ Slack ชี้ว่า นายจ้างจะต้องแก้ไขช่องโหว่เรื่องนี้ โดยต้องมีการฝึกอบรมการใช้ AI ให้พนักงาน ไปพร้อมกับการชี้แจงให้ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการใช้ AI ในการทำงานของแต่ละแผนก เพราะในอนาคตพนักงานรุ่นใหม่ๆ จะเพิ่มมากขึ้นในตลาดแรงงาน และพวกเขาพร้อมจะมุ่งไปสู่สถานที่ทำงานที่ให้การสนับสนุนการใช้ AI อย่างเปิดเผยมากขึ้น