เศรษฐกิจจีนชะลอ-นโยบายทรัมป์ ประเด็นร้อนกระทบราคาน้ำมันโลก
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มีหลายประเด็นที่ต้องจับตา โดยเฉพาะการชนะเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว
สถานการณ์ ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 รับแรงหนุนความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน และการเลื่อนแผนปรับเพิ่มกำลังการผลิตของโอเปกเป็นเดือนมกราคม 2568 แต่ราคาเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังการชนะเลือกตั้งของ "โดนัลด์ ทรัมป์" รวมถึงอุปสงค์ที่ซบเซาลงของ จีน ที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบใหญ่ที่สุด กดดันราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับต่ำ โดยการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนเดือนตุลาคม 2567 ลดลง 4.9% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 10.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอสร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่ยังอ่อนแอ
ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐ และยูโรโซนมีสัญญาณฟื้นตัว โดย GDP ยูโรโซน ไตรมาส 3 ขยายตัว 0.4% สูงกว่าคาดการณ์ และยอดค้าปลีกสหรัฐ เดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 0.4% สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และยูโรโซน ส่วนการผลิตของกลุ่มโอเปกได้เลื่อนแผนการเริ่มทยอยเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ออกไปเป็นเดือนมกราคม 2568 และโอเปกลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2567 เหลือ 1.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2025 ลดลงสู่ระดับ 1.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน สะท้อนว่าโอเปกยังไม่เชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
สำหรับปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ และการเมือง ที่ต้องจับตาสถานการณ์ตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลต่อผลกระทบอุปทานน้ำมัน และมีความเป็นไปได้ที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" จะเข้มงวดต่อมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งอาจทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดลดลงและกระทบราคาน้ำมันระยะถัดไป
ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าวจึงคาดการณ์ ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาส 4 ปี 2567 ซึ่งทั้งปัจจัยเศรษฐกิจจีน ปัจจัยการผลิตของโอเปก และปัจจัยทรัมป์ ล้วนมีผลต่อราคาน้ำมัน โดยเฉพาะปัจจัยนโยบายทรัมป์ ที่สหรัฐอาจเพิ่มการขุดเจาะน้ำมัน