'สภา' ค้าน กมธ.เรียกเอกชนสอบ ก่อนเห็นชอบ 'ร่างกม.อำนาจเรียก'ฉบับใหม่
"สภาฯ" รุมค้าน เพิ่มอำนาจ "กมธ." เรียกเอกชนสอบ หวั่นเปิดช่องให้เรียกผลประโยชน์มิชอบ ก่อนจะลงมติเห็นชอบทั้งฉบับ ส่งวุฒิสภาดำเนินการต่อ
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ วาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ... ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธานกมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ในสาระสำคัญเพื่อให้กรรมาธิการสามัญ กรรมาธิการวิสามัญของ สภาฯ หรือ วุฒิสภา มีอำนาจเรียกบุคคลเข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการ รวมถึงเรียกเอกสาร ข้อมูลให้ตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการพิจารณาในวาระสอง เรียงตามลำดับมาตรานั้น มีการถกเถียงกันอย่างหนักในส่วนของมาตรา 4 ว่าด้วยคำนิยาม ที่ กมธ.แก้ไข ให้คำว่าคณะกรรมาธิการ หมายรวมถึง กรรมาธิการสามัญ กรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา ที่อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย รวมถึง สส.ของพรรคเพื่อไทยบางส่วนโต้แย้งว่าการแก้ไขของกรรมาธิการนั้นสุ่มเสี่ยงที่ถูกยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐสภาไม่เคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ อย่างไรก็ดีกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ได้ชี้แจงรายละเอียดว่าไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่รัฐสภาจะตั้งกรรมาธิการสามัญได้ แต่ได้เขียนเพื่อรองรับไว้เท่านั้น ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการ
นอกจากนั้นแล้ว ในการพิจารณามาตรา 13 ว่าด้วยข้อกำหนดหน้าที่ให้ นายกฯ หรือรัฐมนตรี รับผิดชอบต่อกรณีที่ที่ไม่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในกำกับ ส่งเอกสารหรือแถลงข้อเท็จจริงตามหนังสือเรียยกของต่อคณะกรรมาธิการ ซึ่งกำหนดให้นายกฯหรือรัฐมนตรีต้องมาแถลงหรือชี้แจงให้เหตุผลต่อที่ประชุมสภาฯ วุฒิสภา หรือรัฐสภา ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นบทบังคับได้จริงหรือไม่ เนื่องจากไม่พบการกำหนดโทษหากไม่ปฏิบัติตามไว้ พร้อมเปรียบเทียบกับการตอบกระทู้ถามสดหรือกระทู้ถามทั่วไปที่นายกฯหรือรัฐมนตรีส่งตัวแทนได้ โดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงว่าการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายกฯและรัฐมนตรี กรณีที่ไม่สั่งการ สามารถลงโทษตามกฎหมายอื่นได้ เช่น การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นต้น ทั้งนี้มติของที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นด้วยกับกรรมาธิการ
ผู้สื่อข่าวรายว่า เมื่อที่ประชุมอภิปรายถึงมาตรา 14 ว่าด้วยบทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสงดความเห็นตามที่กรรมาธิการเรียก ถือว่ามีความผิดทางวินัย ฐานไม่รักษาประโยชน์ของราชการ และให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้อำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัย โดยผู้บังคับบัญชาต้องแจ้งผลการดำเนินการต่อคณะกรรมาธิการภายใน 30 วัน ขณะเดียวกันหากผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนไม่ดำเนินการทางวินัย ตามกรอบเวลา ถือว่าผู้บังคับบัญชานั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือกระทำผิดตามวินัย
พบว่ามีการอภิปรายโต้แย้งการแก้ไขของกรรมาธิการ โดยนพ.ชลน่าน ที่ระบุว่าการกำหนดบทบัญญัติดังกล่าวมีการย้อนแย้งและส่อที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะในมาตราก่อนหน้านี้ที่กำหนดให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีสั่งการเจ้าหน้าที่รัฐในกำกับ กลับพบว่า กรรมาธิการตัดบทบัญญัติที่เอาผิดนายกฯ และรัฐมนตรีในแง่จริยธรรมออก จึงทำให้ร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกมีลักษณะหัวมังกุ ท้ายมังกร และอาจมีปัญหาในอีกหลายมาตรา เพราะการแก้ไขของกรรมาธิการนั้น บางประเด็นได้ขัดกับความเห็นของกรรมการกฤษฎีกาที่ทำหน้าที่ในกรรมาธิการฯ ทั้งที่ควรรับฟัง ดังนั้นขอให้กรรมาธิการพิจารณา
ทั้งนี้ในกรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจงว่าเนื้อหาดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในพ.ร.บ.คำสั่งเรียก เพราะบทลงโทษไม่ได้สัดส่วนเท่านั้น ดังนั้นการกำหนดบทลงโทษทางวินัยจึงสามารถทำได้ ทั้งนี้มติของที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นด้วยกับกรรมาธิการ
นอกจากนั้นแล้วในร่างพ.ร.บ. มีมาตราที่กรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ เพื่อให้มีผลบังคับไปยังบุคคลที่ประกอบอาชีพหรือกิจการในภาคเอกชน ทั้งนี้ มีสส.ที่เห็นโต้แย้ง โดย นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่าการเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมถึงบุคคลนั้นถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกรรมาธิการ หากจะเขียนให้ครอบคลุมธุรกิจขนาดใหญ่ที่รัฐควบคุม ควรเขียยนให้ชัดเจน เช่น ธุรกิจที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ แต่หากเขียนถึงบุคคล ถือว่าทำเกินกว่าเป็นกรรมาธิการ
ขณะที่นพ.ชลน่าน อภิปรายโต้แย้งด้วยว่า หากไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ดังนั้นกฎหมายทั่วไปจึงเขียนไม่ให้กรรมาธิการยุ่งกับเอกชน ระวังสภาฯ จะถูกตำหนิและเป็นช่องโหว่เรียกรับประโยชน์โดยใช้มาตราดังกล่าว
“ขนาดเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เว้น หลายคนโดยขูดรีด ผมรู้แต่ไม่อยากพูด ฐานะเป็นสมาชิก หมดสมัยแล้วที่กรรมาธิการอย่าเอาอำนาจตัวเองมาเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ สุ่มเสี่ยงว่าจะมีใครจะตรวจสอบ ทั้งนี้ประชาชนให้อำนาจเพื่อตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน กำกับดูแล แต่หากเรียกเอกชน ประชาชนตรวจสอบ เขาบริหารราชการแผ่นดินหรือ ขอกรรมาธิการตอบให้ได้” นพ.ชลน่าน อภิปราย
ทั้งนี้กรรมาธิการชี้แจงว่าคำว่าบุคคลคือ นิติบุคคล ทั้งนี้การเขียนมาตราดังกล่าวถือเป็นความคับข้องใจที่ไม่สามารถเรียกเอกชนมาได้ แม้ว่าขาทำผิดต่อประชาชนหมู่มาก อย่างไรก็ดีมาตราที่กรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่นั้น ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ ด้วยมติไม่เห็นด้วย 248 เสียง ต่อ 156 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจากเสร็จการพิจารณาเรียงลำดับมาตราแล้วเสร็จ ได้ลงมติวาระสามว่าจะเห็นชอบกับทั้งฉบับหรือไม่ ผลการลงมติปรากฎว่า มติสภาฯ เห็นชอบ 398 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง ในขั้นตอนต่อไปคือส่งให้วุฒิสภาพิจารณา.