ผ่าแผน 'DKSH' สร้างการเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ผ่าแผน 'DKSH' สร้างการเปลี่ยนแปลงธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย

เปิดกลยุทธ์ธุรกิจ "มาเธียส เกรเกอร์" แห่ง "DKSH" ธุรกิจกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย

นายมาเธียส เกรเกอร์ กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจวัตถุดิบอุตสาหกรรม บริษัท DKSH (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราเห็นความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ผ่านนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และภายปี 2568 ประเทศไทยยังมีแผนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำภาษีคาร์บอนมาใช้ต่อจากประเทศสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงยังส่งผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ดัชนีความร้อนพุ่งสูงถึง 52 องศาเซลเซียส และระดับฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนับล้านคน สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในการประชุม COP29 ประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ดำเนินงานภายในประเทศ

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างหนึ่ง ผลการวิจัยของ Morgan Stanley ระบุว่า 92% ของบริษัทเอกชนคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจภายในปี 2593 ความเสี่ยงนี้ได้เข้ามาซ้ำเติมความท้าทายเดิมที่ธุรกิจเผชิญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขัน และหากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ธนาคารโลกประเมินว่าประเทศไทยอาจสูญเสียผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงถึง 553 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 19.2 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2593

ทั้งนี้ ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติขององค์กร การผนวกความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์องค์กร จะช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยง และเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว เมื่อนำแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนมาใช้ ธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้ทันต่อกฎระเบียบใหม่ๆ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

การขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในองค์กร เพื่อสร้างความรับผิดชอบ พัฒนาการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร โดยเฉพาะธุรกิจที่ดำเนินงานในหลายตลาด การเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับยุทธศาสตร์ โซลูชัน และแผนงานให้ตอบโจทย์กับความต้องการในแต่ละตลาดได้ดียิ่งขึ้น
 
การให้ความสำคัญกับบุคลากรควรเป็นองค์ประกอบหลักของความยั่งยืน บทความล่าสุดของ Deloitte ชี้ให้เห็นว่า จุดแข็งขององค์กรในปัจจุบันอยู่ที่กลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้รับเหมา ลูกค้าองค์กร ลูกค้าทั่วไป หรือชุมชน เมื่อผู้คนเหล่านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จะเกิดเป็นพลังขับเคลื่อนให้องค์กรประสบความสำเร็จในทุกด้าน ทั้งด้านนวัตกรรม การเพิ่มรายได้ การพัฒนาประสิทธิภาพ การสร้างคุณค่าให้แบรนด์ การเพิ่มผลิตผล การรักษาบุคลากร และความสามารถในการปรับตัวขององค์กร
 
การให้ความสำคัญกับบุคลากรในยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ครอบคลุมหลายด้านด้วยกัน ทั้งการดูแลสุขภาพกายใจของพนักงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและเคารพความแตกต่าง การสนับสนุนให้พนักงานได้เติบโตในสายอาชีพ การปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเป็นธรรมตามหลักจริยธรรมด้านแรงงาน ตลอดจนการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่องค์กรนั้นตั้งอยู่
 
การสร้างวัฒนธรรมความยั่งยืนที่เข้มแข็งภายในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญ และต้องควบคู่ไปกับการลงมือทำอย่างจริงจังและมุ่งมั่น เมื่อทั้งผู้นำและพนักงาน 'ทำตามสิ่งที่พูด' อย่างจริงจัง จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ กระตุ้นการมีส่วนร่วม และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบให้กับองค์กรในทุกระดับ ท้ายที่สุดแล้ว ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อนำไปปฏิบัติจริงและสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้

ทั้งนี้ ความยั่งยืนถือเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจของ DKSH เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หลักองค์กร ควบคู่ไปกับพันธกิจในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยมีเป้าหมายสำคัญทั้ง 4 ด้าน คือ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร (Flourishing people) การสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Making value chain more sustainable) การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ (Achieving climate neutrality) และการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน (Creating positive local impact)ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ทั้ง 4 หน่วยธุรกิจของ DKSH เติบโตอย่างยั่งยืนและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม
 
เราตระหนักดีว่าการดำเนินงานทางธุรกิจของเรามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ DKSH จึงตั้งเป้าที่จะทำให้การดำเนินงานทั่วโลกเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ (climate-neutral) ภายในปี 2573 สำหรับประเทศไทย DKSH ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ศูนย์กระจายสินค้าหลักทั้ง 4 แห่ง พร้อมทั้งนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในการขนส่งสินค้า ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 45,000 ตันต่อปี และประหยัดค่าพลังงานได้ 5.4 ล้านบาทต่อปี
 
การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศของประเทศไทย เราหวังว่าจะได้เห็นองค์กรภาคธุรกิจอื่น ๆ ในไทยนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ เพื่อร่วมสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไปด้วยกัน
 
นอกเหนือจากเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ภาคธุรกิจต้องจัดการกับความท้าทายทางสังคมด้วยการสนับสนุนชุมชนที่ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง ผ่านการมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ อย่างเช่นความร่วมมือระหว่าง DKSH กับ Right to Play ในการช่วยเหลือเด็กกว่า 35,000 คน ด้วยการให้ความรู้ พัฒนาทักษะชีวิต รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวหลายพันคนที่อาศัยในแคมป์ก่อสร้างผ่านมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก โครงการช่วยเหลือทางสังคมเหล่านี้ทำให้ DKSH ได้สัมผัสถึงพลังการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงบวกที่โครงการเหล่านี้มอบให้แก่ทั้งองค์กรและสังคม
 
ท้ายที่สุดแล้ว การมีความรับผิดชอบและระบบกำกับดูแลที่เข้มแข็ง คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม การติดตามความคืบหน้าและประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราปรับการดำเนินงานได้ตรงจุดตามข้อมูลที่มี นำไปสู่การพัฒนาที่ต่อเนื่องและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น
 
ที่ DKSH เราได้นำเครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัยในการติดตามตัวชี้วัดสำคัญต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปีที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ เรายังได้จัดตั้งคณะกรรมการความยั่งยืนขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลให้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์องค์กร
 
DKSH มุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าระยะยาวด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่เราได้รับรางวัล EcoVadis Gold Medal สองปีซ้อน และการเข้าร่วมเป็นสมาชิก UN Global Compact และถึงแม้ว่าการดำเนินพันธกิจด้านความยั่งยืนของ DKSH จะก้าวหน้าไปได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ การสร้างความยั่งยืนเป็นหนทางอันยาวไกลที่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ชุมชน และพันธมิตรในอุตสาหกรรม ความร่วมมือเหล่านี้ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้ในวงกว้าง
 
การตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน และการเร่งสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการผนวกความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร ไม่เพียงสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่องค์กรเท่านั้น แต่ยังมอบแรงผลักดันที่ช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาสู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น