มาตรฐานของพี่ใหญ่กับอุดมศึกษา

 มาตรฐานของพี่ใหญ่กับอุดมศึกษา

มาตรฐานในโลกนี้มีอยู่มาตรฐานเดียวคือ มาตรฐานที่พี่ใหญ่กำหนดขึ้นมา

พี่ใหญ่หมายถึง คนที่เราต้องพึ่งพาในการทำมาหากิน แม้แต่ในองค์กรระดับโลก ก็ยังปรากฏว่ามีพี่ใหญ่ที่มีสิทธิวีโต้มติใดๆ ที่คนเล็กคนน้อยเห็นดีเห็นงาม สมัยก่อนบ้านเราเองมีการปรับปรุงสารพัดอย่างตามมาตรฐานของพี่ใหญ่ จนพี่ใหญ่ยึดบ้านเมืองเราไปเป็นอาณานิคมไม่ได้ เริ่มมีกองทัพที่มีวิธีการทำงานเหมือนพี่ใหญ่ เราเคยเรียนหนังสือกันตามวัด ก็ต้องเปลี่ยนมามีโรงเรียนอยู่ใกล้วัด เราเริ่มมีมหาวิทยาลัยที่สอนสาขาวิชาต่างๆ เหมือนพี่ใหญ่ แรกๆ ยังมีคนของพี่ใหญ่มาเป็นหัวหน้าภาคเป็นคณบดี เราเริ่มใช้ตำราของพี่ใหญ่ เราต้องอ่านเขียนภาษาของพี่ใหญ่ได้

วันนี้อุดมศึกษาของเราก็ยังอยู่กับมาตรฐานของพี่ใหญ่ แต่อยู่นานจนคุ้นเคยว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราคิดขึ้นมาเอง อธิการบดีในบ้านเราเพิ่งย้ายเวลาเปิดภาคเรียนของลูกหลานเราที่เรียนในมหาวิทยาลัย มาเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเปิดภาคเรียนของพี่ใหญ่ พี่ใหญ่ไม่เรียนในช่วงฤดูร้อน ช่วงหนาวมากๆ พี่ใหญ่ก็ไม่เรียน แต่ลูกหลานเราต้องเรียนช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นหน้าร้อนเต็มๆ ลูกหลานเราปิดภาคเรียนตอนที่อากาศเหมาะสมกับการเรียนที่สุด คือช่วงอากาศเย็นๆตอนปลายปี เพื่อให้ภาคเรียนสอดคล้องกับประเทศในกลุ่มเออีซี ซึ่งทราบกันดีอยู่แล้วว่า เพื่อนบ้านรอบตัวล้วนแต่อยู่กับมาตรฐานของพี่ใหญ่ทั้งสิ้น หลังจากที่เราเคยเปิดภาคเรียนตามหลักคิดที่พี่ใหญ่ใช้ แต่ประยุกต์เข้ากับบริบทของบ้านเรามายาวนานหลายสิบปี สุดท้ายวันนี้ก็ต้องยอมทำตามมาตรฐานของพี่ใหญ่ ไม่ใช่แค่ใช้หลักคิดของพี่ใหญ่ ในหลายปีที่ผ่านมานี้ เริ่มมีสัญญาณที่บ่งบอกว่า พี่ใหญ่เริ่มใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการไล่ล่าอาณานิคมกันอีกแล้ว แต่เป็นอาณานิคมในรูปแบบใหม่คือ อาณานิคมตามสมัครใจ ใครไม่ยอมก็ได้ แต่ทำมาหากินกับฉันไม่ได้ ใครจะส่งปลามาขายบ้านฉันก็ต้องประมงตามมาตรฐานของฉัน บ้านอื่นน้ำอุ่น น้ำตื้น ก็ต้องทำตามมาตรน้ำลึก น้ำเย็นของบ้านฉัน  โรงงานไหนจะผลิตสินค้ามาขายที่บ้านฉัน ก็ต้องได้มาตรฐานที่คนของฉันไปตรวจให้ก่อน

การใช้มาตรฐานพี่ใหญ่กับวงการอุดมศึกษา ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมา  เราทราบกันดีว่า คณะแพทยศาสตร์ในบ้านเราเป็นคณะวิชาที่เก่งในระดับโลก หมอที่สำเร็จจากโรงเรียนแพทย์ในบ้านเรามีฝีมือไม่แพ้ใครในโลกนี้ แต่ถึงกระนั้น วันนี้อาจารย์หมอในบ้านเรากำลังต้องเตรียมปรับตัวเข้ากับมาตรฐานของพี่ใหญ่ กสพท.หรือสภาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ ให้มีการรับรองมาตรฐานการเรียนการสอน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานของ WFME หรือ World Federation of Medical Education ภายในสามปีข้างหน้า ซึ่งถ้าไปถามอาจารย์หมอท่านว่า ทำไมต้องไปทำตามมาตรฐานของพี่ใหญ่ให้เหนื่อยกันอีก โรงเรียนแพทย์ของเราได้มาตรฐานการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ หรือ EdPEx ของบ้านเราอยู่แล้ว โรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ก็ได้มาตรฐาน HA ของบ้านเราอยู่แล้ว คำตอบจะได้ว่า ไม่ทำก็ได้ แต่ลูกศิษย์ไปเรียนต่อ ไปแลกเปลี่ยนในบ้านอื่นเมืองอื่นที่ได้รับการรับรองโดย WFME ไม่ได้

อาจเป็นไปได้ในอนาคตที่ไม่ไกลนัก ที่วิชาชีพอื่นจะเจอแบบเดียวกัน ซึ่งเพื่อนบ้านในเออีซีดูเหมือนจะไวต่อการใช้อิทธิพลนี้มากกว่าบ้านเรา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดวันนี้คือ เวียดนาม ที่กระทรวงการศึกษาของบ้านเขา กำหนดเป็นนโยบายสั่งการลงมาที่มหาวิทยาลัยว่า ให้ทำให้หลักสูตรที่สอนได้รับการรับรองตามมาตรฐานของพี่ใหญ่ ในทุกสาขาในมหาวิทยาลัย ที่มีความพร้อม เวียดนามซึ่งเคยรบกับอเมริกา ฆ่ากันตายมาเป็นหมื่นเป็นแสน และเพิ่งกลับมาคบค้ากันใหม่มาไม่เกินยี่สิบปี กระทรวงการศึกษาของเวียดนาม ทุ่มเทเงินทองผลักดันให้หลักสูตรด้านวิศวกรรม และหลักสูตรคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของอเมริกาที่ชื่อว่า ABET เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

บัณฑิตวิศวกรรม บัณฑิตคอมพิวเตอร์บ้านเขา ที่เก่งเท่ากับบัณฑิตของบ้านเรา จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ในลำดับก่อนหน้าลูกหลานเรา เพราะจบมาจากหลักสูตรที่ได้มาตรฐานของพี่ใหญ่ แต่ที่น่าแปลกใจคือบ้านเราก็สอนวิศวกรรม สอนคอมพิวเตอร์ตามแบบพี่ใหญ่มานานกว่าเวียดนามมากๆ เราอยู่กับการศึกษาตามแบบพี่ใหญ่มาเกือบร้อยปี แต่วันนี้ไม่มีแม้แต่หลักสูตรเดียวในประเทศไทย ทางด้านวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับการรับรองโดย ABET แม้ว่าเราจะมั่นใจว่า การศึกษาของบ้านเรามีคุณภาพในระดับสากล เวียดนามใช้เวลาแค่ยี่สิบปีในการแสดงให้โลกนี้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุดเขามีหลักสูตรวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตรฐานของพี่ใหญ่ ขอเน้นอีกครั้งว่า การศึกษาด้านวิศวกรรม และคอมพิวเตอร์ในบ้านเราไม่แพ้ใครในโลกนี้ เพียงแต่เรายังไม่มีใบรับรองตามมาตรฐานของพี่ใหญ่ไว้โชว์คนอื่น แต่เวียดนามมีใบรับรองแล้ว

ในสาขาบริหารธุรกิจ มีเพียง 2-3 มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ได้รับการรับรองโดย AACSB ซึ่งพี่ใหญ่บอกว่า นายจ้างจะได้ประโยชน์มากกว่า ถ้าจ้างผู้สำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากสถาบันที่ได้รับการรับรองโดย AACSB คำถามคือ วันหน้าอุดมศึกษาของบ้านเราจะเจอแบบเดียวกับกิจการบินพาณิชย์ กิจการประมงหรือไม่ วันนี้อุดมศึกษาบ้านเรามีความพร้อมเท่ากับเพื่อนบ้านในด้านมาตรฐานพี่ใหญ่จริงหรือไม่ และอุดมศึกษาสาขาอื่นๆ มีการเตรียมตัวที่ดีเพียงพอเหมือนโรงเรียนแพทย์บ้านเราแล้วหรือยัง

แค่มาตรฐานพี่ใหญ่กับการบิน การประมง และการใช้แรงงานก็เหนื่อยแล้ว ขออย่าเพิ่มอุดมศึกษาไปด้วยเลย