CCTV แดนใต้
ความหวังของครู และนักเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด จะมีกล้อง CCTV ที่ได้คุณภาพ มีมาตรฐาน ไว้ดูแลความปลอดภัย
ในชีวิตและทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติงบ 577 ล้านบาท สำหรับติดตั้งกล้อง 5,000 ตัวในจุดล่อแหลมหรือจุดอับของโรงเรียน 1,092 โรง โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง 443 โรง
ภายใต้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คณะครูใต้มอบเรื่องความผิดปกติของโครงการจัดซื้อกล้อง CCTV ผ่านกลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายต่อต้านการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.เพื่อขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ตรวจสอบว่ามีการล็อกสเปค หรือไม่ และล่าสุด 20 ก.ค.ยื่นให้ รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ตรวจสอบเรื่องเดียวกันนี้อีกครั้ง
ต่อมา สพฐ.ให้ยกเลิกร่างคุณสมบัติ สเปค กล้อง CCTV อันเดิม พร้อมจัดทำร่างใหม่เพื่อเดินหน้าโครงการ ครั้งหลังนี้ให้ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมเป็นกรรมการจัดซื้อ ตามข้อเสนอ ของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ทั้ง 12 เขตการศึกษา จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ เริ่มกระบวนการมาตั้งแต่เดือน เมษายน 2558 และกระบวนการจัดซื้อเสร็จสิ้นแล้ว ได้คัดเลือกผู้ประกอบการ 3 ราย จากที่เชิญมาประกวดราคา 15 ราย
บริษัทที่ผ่านการคัดเลือก ต้องทำสัญญา ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 แต่ปัจจุบันมีลงนามเพียง 3 ใน 12 เขต เหตุเพราะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษา อึดอัดใจ กับการทำงานแบบชี้นำของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งแอบอ้างว่ามีบริษัทที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ ฝากมา
ความอึดอัดใจของครู ที่อยู่ในกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เกรงว่าจะมีความผิดตามมา หากตรวจสอบจากหน่วยงานป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะพบว่า พฤติกรรมหน่วยความมั่นคง เข้าไปแทรกแซง ชี้นำ คณะกรรมการที่มาจากคณะครู
พิรุธการจัดทำราคากลาง เกิดขึ้นวันที่ 24 เม.ย.2558 ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ปัตตานี เขต 2 คณะกรรมการจัดทำราคากลาง ได้กำหนดที่มาของราคากลางเพื่อใช้อ้างอิง จาก 4 แหล่งข้อมูล และปรากฏว่า บริษัทไทย ทรานสมิชชั่น ดินดัสทรี่ จำกัด ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้รับงาน 7 เขต จาก 12 เขต
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ บริษัทที่ผ่านการคัดเลือก จะเป็นบริษัทเดียวกันกับที่ใช้อ้างอิงราคากลาง โดยได้งานเกินกว่าครึ่งของโครงการทั้งหมด
เจ้าหน้าที่พัสดุและคณะกรรมการจัดซื้อ ทั้ง 12 เขต ตกอยู่ในภาวะจำยอมที่อ้างผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฝ่ายครูไม่กล้าทักท้วงในทันทีเพราะเกรงอิทธิพล และความไม่ปลอดภัย อีกทั้งกรรมการฝ่ายความมั่นคง พูดจาข่มขู่ ว่า “หน่วยงานความมั่นคง ไม่การันตีบริษัทอื่น / เขตนี้เป็นเขตพื้นที่พิเศษ บริษัทที่ไม่เคยติดตั้ง บางที พนักงานที่มาติดตั้ง 2-3 คน อาจจะได้กลับไปแค่ 1 คน”
17 มิ.ย.2558 กลุ่มธรรมาภิบาล ได้เข้ายื่นหนังสือรายงานพฤติกรรมฝ่ายความมั่นคง ต่อ ผู้บัญชาการทหารบก
สิ่งที่ยืนยันว่าโครงการนี้ล็อกสเปคจัดซื้อจัดจ้าง คือ บริษัท ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 4 บริษัท เสนอราคาสินค้ายี่ห้อ DOWSE เหมือนกันทั้งหมด และเมื่อตรวจสอบจากร้านจำหน่ายอุปกรณ์กล้องวงจรปิดแล้ว ไม่มีอยู่ในสาระบบกล้องวงจรปิดที่ยอมรับในระดับสากล แต่เป็นสินค้าที่ผลิตจากจีนซึ่งมีคุณภาพต่ำ
ขณะนี้มีความพยายามวิ่งเต้นของเปลี่ยนตัวสินค้า แต่กรรมการจัดซื้อจัดจ้างฝ่ายครู ขอให้เปลี่ยนตัวกรรมการ ที่มาจากฝ่ายความมั่นคง ด้วย เพราะเข้าข่ายความผิดพ.ร.บ.ฮั้วประมูล และความผิดตามกฎหมายอาญา ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และอีกหลายมาตรา
31 ก.ค. กลุ่มธรรมภิบาล ยื่นหนังสือถึง ประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ศอชต. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา โดยมี พล.ท.อภิชัย หงษ์ทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับเรื่องไว้
19 มิ.ย.2558 เลขาธิการ สพฐ. กมล รอดคล้าย ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมอบผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านกิจกรรมนักเรียน โจรจนะ กฤษเจริญ เป็นประธาน พร้อมกรรมการอื่นอีก 3 คน ให้รายงานผลการสอบสวนโดยเร็ว
21 ก.ค. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ มีคำสั่งด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค4 ส่วนหน้า ให้นายทหาร “ยศพันเอก” สังกัดกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ “เสธ.จ.” ทำหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียน กลับมายังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
พล.อ.สุรเชษฐ์ ย้ำในตอนท้ายหนังสือว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะติดตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง ตามหลักธรรมาภิบาล
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกวาดล้างคอร์รัปชันโดยตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริต บูรณาการทำงานปราบปรามทุจริตในทุกรูปแบบ รวมถึงใช้มาตรา 44 จัดการข้าราชการ นักการเมือง ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายโกงชาติไปแล้วนับร้อยราย จะกล้าปล่อยเรื่องนี้ ให้เกิดเป็นรอยด่างในกองทัพหรือไม่