นวัตกรรมการเงินเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี

นวัตกรรมการเงินเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 ที่ผ่านมาองค์กร ACCA ได้เผยแพร่เอกสารข้อมูลที่เกี่ยวกับนวัตกรรมการเงินที่สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกิดขึ้นทั่วโลก

องค์กร ACCA ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักบัญชีรับอนุญาตกว่า 162,000 คน และสมาชิกประเภทนักศึกษาอีกกว่า 428,000 คน ใน 170 ประเทศ ได้เผยแพร่เอกสารข้อมูลจากเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ที่เรียกว่า ACCA Global Forum ภายใต้หัวข้อเกี่ยวกับนวัตกรรมการเงินที่สนับสนุนธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน

ประเด็นในรายงานดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดใหญ่ และสถาบันการเงินของไทยที่จะได้เห็น กลไกสนับสนุนทางการเงินในช่องทางใหม่ๆ ที่มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นจนประสบความสำเร็จ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดริเริ่มใหม่ๆ เกี่ยวกับการสนับสนุนผ่านช่องทางการให้เงินกู้และการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีมีความแข็งแกร่งขึ้น

เอสเอ็มอี คงทราบกันดีแล้วนะครับว่า “เงินกู้” กับ “เงินทุน” แตกต่างกันอย่างไร

“เงินกู้” คือเงินที่เมื่อได้มาแล้ว เอสเอ็มอี จะต้องชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้แก่เจ้าของเงิน ตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ส่วน “เงินทุน” คือการขายความเป็นเจ้าของธุรกิจบางส่วน ตามจำนวนเงินทุนที่ได้ตกลงกันไว้เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจของ เอสเอ็มอี ไม่มีการเรียกคืน แต่เมื่อธุรกิจมีกำไร เจ้าของ “เงินทุน” ก็จะได้ส่วนแบ่งกลับคืนในรูปของ “เงินปันผล”

ลองมาดูวิธีการต่างๆ ในการสนับสนุนการเงินให้กับ เอสเอ็มอี

ในปี 2010 ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน Alibaba ได้จัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ Alipay ขึ้นมาเพื่อดำเนินการให้ไมโครเครดิต (สินเชื่อรายเล็ก) แก่เอสเอ็มอีที่เป็นผู้ขายหรือเป็นเจ้าของร้านค้าในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ Alibaba เป็นเจ้าของโดยใช้เงินจากกำไรสะสมที่เกิดขึ้น โดยให้บริการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในระยะเวลาตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปในวงเงินไม่เกิน 500,000 หยวน (ประมาณ 2.7 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ขายสินค้าได้ขยายกิจการเข้ามาขายในตลาดออนไลน์ใหม่ คือ Taoboa online

หากต้องการเงินมากกว่านั้น จะสามารถใช้ผู้ขายที่มีเครดิตที่เชื่อถือได้จำนวน 3 คนมาเป็นผู้ค้ำประกัน และสามารถค้ำประกันซึ่งกันและกันได้

จากการติดตามพัฒนาการของ Alipay พบว่า ผู้ขายที่เคยขอรับการสนับสนุน สามารถประสบความสำเร็จในการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น ICBC หรือ ธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน หรือ ธนาคารเพื่อการก่อสร้าง (China Construction Bank) ได้

Amazon ผู้นำร้านขายหนังสือออนไลน์ในระดับโลก ก็สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขายสินค้าผ่านเว็บตนเองในรูปของการให้เงินล่วงหน้า ผ่านโครงการ Amazon Lending Program ในวงเงินไม่เกิน 800,000 เหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราของธนาคารพาณิชย์ โดยทำเป็นการภายใน ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการออกมา

แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจใหญ่ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้คู่ค้าของตนที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่อง สามารถขยายธุรกิจออกไปได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้เอสเอ็มอีต้องอาศัยแหล่งเงินภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว

Kabbage Inc. ในเมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา เป็นธุรกิจที่ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจออนไลน์ขนาดเล็กที่เป็นผู้ค้าใน Amazon หรือ eBay ที่ยินยอมให้ตรวจสอบสถานะของธุรกิจ ผ่านบัญชีการรับชำระเงินของตนจากผู้ให้บริการรับชำระเงิน เช่น Paypal หรือ สถานะการจัดส่งสินค้า ผ่านบริษัทไปรษณีย์หรือบริษัทรับส่งสินค้า หรือแม้กระทั่งให้ตรวจสอบข้อมูลผ่านซอฟแวร์ระบบบัญชีที่สามารถดูข้อมูลทางออนไลน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อซื้อสินค้ามาจำหน่าย ในวงเงินตั้งแต่ 500 ถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราตั้งแต่ 2 – 7% และมีจำนวนผู้ขอใช้บริการแล้วกว่า 80,000 รายต่อปี

การให้บริการทางการเงินผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือด้วยความร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ด้วยการรับจ่ายและชำระเงินคืนผ่านเครือข่ายศูนย์การชำระเงินของผู้ให้บริการโทรศัพท์ ก็เป็นแหล่งการสนับสนุนเงินกู้สำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาในทวีปแอฟริกา

ในแอฟริการตะวันออก ธุรกิจ M-pesa มีผู้ใช้บริการถึงประมาณ 20 ล้านราย ส่วนใน แอฟริกาใต้ ก็มีบริการ Ecocash และ Textacash ซึ่งมีอัตราการใช้บริการที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้บริการให้สินเชื่อควบคู่ไปกับการชำระเงินค่าโทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ โดยสินเชื่อที่ให้จะมีวงเงินตั้งแต่ 1 เหรียญ ถึง 100 เหรียญสหรัฐ

ธนาคารเพื่อการพาณิชย์แห่งแอฟริกา (CBA – Commercial Bank of Africa) รายงานว่า จำนวนบัญชีสินเชื่อที่ธนาคารร่วมมือกับบริษัท Safaricom ที่ให้บริการสินเชื่อผ่านโทรศัพท์มือถือ มีจำนวนบัญชีสินเชื่อถึง 2.15 ล้านบัญชีแล้ว และมีอัตราขยายตัวของจำนวนสินเชื่อประมาณ 11.3% ต่อปี

ในส่วนของประเทศที่พัฒนาแล้ว เอสเอ็มอีจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านระบบ Crowdfunding และกระบวนการ p2p (Peer-to-Peer) ซึ่งอาศัยการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก

Crowdfunding เป็นวิธีการระดมทุนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ Equity Crowdfunding หรือ การระดมเงินทุน และ Debt Crowdfunding หรือ การระดมเงินให้กู้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในวงกว้าง สามารถเข้ามาเป็นผู้ร่วมสนับสนุนเงินให้กับเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินสำหรับการก่อตั้งหรือขยายธุรกิจ

การระดมเงินทุน จะทำได้โดยการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถนำเสนอไอเดียของตนผ่านเว็บหรือแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ ที่มีสมาชิกที่เป็นนักลงทุนเข้ามารับฟัง หากเห็นโอกาสธุรกิจ ก็จะเสนอเงินเข้ามาร่วมลงทุนได้

ผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางในการระดมทุนแบบ Crowdfunding ที่รู้จักกันดี ได้แก่ Kickstarter จากสหรัฐ ที่ในแต่ละปีสามารถระดมทุนได้ถึงกว่า 480 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือในอังกฤษ ก็มี Crowdcube ซึ่งสามารถระดมทุนได้ถึง 12.2 ล้านปอนด์ต่อปี และ Seedr ซึ่งสามารถระดมทุนได้ประมาณ 1.4 ล้านปอนด์ และมีอัตราการเติบโตที่สูง

การระดมเงินกู้ผ่าน Crowdfunding มักจะทำภายใต้ระบบ p2p ซึ่งสถาบันการเงินหรือเอกชนที่สนใจปล่อยเงินกู้สามารถมีช่องทางที่จะพบกับเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินกู้ ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ให้บริการระบบเป็นผู้กำหนดขึ้น

ผู้ให้กู้แต่ละรายอาจร่วมให้วงเงินตามที่ตนเองเห็นสมควรร่วมกับผู้ให้กู้รายอื่นๆ เพื่อให้ได้จำนวนรวมที่เอสเอ็มอีต้องการ ในบางกรณี อาจมีการประมูลเพื่อเสนอข้อเสนอเงินกู้ที่ดีที่สุดให้เอสเอ็มอี โดยข้อมูลและเงื่อนไข หรือแม้กระทั่งข้อซักถามเอสเอ็มอี จะเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่รับทราบกันระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้เท่านั้นที่ใช้กันอยู่แต่เดิม

Crowdfunding ในรูปแบบอื่นๆ ที่ใช้เป็นแหล่งเงินสนับสนุนเอสเอ็มอี อาจได้แก่ การจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อจองซื้อสินค้าที่จะผลิต การบริจาคให้เปล่า หรือการให้ส่วนแบ่งกำไรกลับคือเป็นเงินปันผล เป็นต้น ซึ่งหลายๆ รูปแบบยังไม่ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย