ลงทุนด้าน R & D แล้วประเทศได้อะไร
ท่านผู้อ่านคิดว่า การลงทุนของรัฐจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศได้มากขนาดไหน? เราลองมาดู การลงทุนในการวิจัย
และการพัฒนา (R&D) ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามมา
ในปี 2556 ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนาไม่น้อย ประมาณ 57,038 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.48 ของ GDP ขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) มีค่าใช้จ่ายทางด้านการวิจัยและพัฒนาโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 2.24 ของ GDP จะเห็นได้ว่า ระดับการวิจัยและการพัฒนาของประเทศไทยยังอยู่ในอัตราที่ต่ำโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีเป้าหมายว่า ในปี 2559 จะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1 ของ GDP และเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและการพัฒนา
ผลประโยชน์หลายประการที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัย ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในรูปตัวเงิน ซึ่งอาจทำให้ผู้วางนโยบายและประชาชนผู้เสียภาษี มองไม่เห็นถึงความสำคัญของโครงการวิจัย ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม คำถามที่นักการเมืองมักจะสอบถามก็คือ ลงทุนในการวิจัยพัฒนาแล้วจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่
ดังนั้น การประเมินความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของโครงการวิจัย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อใช้พิจารณาว่า โครงการวิจัยใดมีความเหมาะสมที่จะลงทุนต่อไปมากน้อยเพียงใด ในการตัดสินใจวางแผนการลงทุนสำหรับการวิจัยเพื่อการพัฒนาและให้บริการสังคมในอนาคต
ข้อมูลที่จะเสนอต่อไปนี้มาจากการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเผยแพร่ในรายงานการศึกษาความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของการลงทุนของรัฐ ในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา และพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ผลการศึกษาความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของโครงการวิจัย 8 มหาวิทยาลัย จำนวน 17 โครงการ พบว่า ผลการลงทุนวิจัยและพัฒนาของรัฐในโครงการที่ศึกษา มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ซึ่งหักต้นทุนแล้วอยู่ระหว่าง 14-48,891 ล้านบาท และมีอัตราส่วนของผลได้ต่อต้นทุน (B/C ratio) อยู่ระหว่าง 3.56-139.70 สามารถสรุปโดยรวมได้ว่า โครงการวิจัยทุกโครงการที่ศึกษามีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ โดยมีผลได้ต่อการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 เท่า และสูงสุดถึงประมาณ 140 เท่า
ผลการศึกษาโดยเฉพาะภาคเกษตร พบว่า บางโครงการวิจัยมีผลได้สุทธิสูงมาก(ดูตาราง)โดยเฉพาะโครงการวิจัยกลุ่มการเกษตร ได้แก่ โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดสุวรรณ 1 และโครงการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังเกษตรศาสตร์ 50 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้งสองโครงการวิจัย มีผลได้สูงมากถึงกว่าระดับหมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสัมฤทธิผลมาแล้วเป็นเวลานาน เช่น โครงการมันสำปะหลังลงทุนไป 1 บาท ได้คืนมา 139.7 บาท ส่วนโครงการเนื้อวากิวของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จะทำให้เราสามารถผลิตเนื้อนุ่มชุ่มลิ้น โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ลงทุนวิจัย 1 บาทได้คืน 13.85 บาท ซึ่งราคาต่อตัวของโควากิวขุน สูงถึง 120,000 บาทต่อตัว ส่วนการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำโคแม่ที่แก่แล้วมาพัฒนาเนื้อให้นุ่มน่ารับประทานยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 30 เป็น 50 บาท
การศึกษาความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของโครงการวิจัย ภายใต้โครงการ NRU สามารถให้ข้อบ่งชี้และข้อสรุปที่สำคัญเพิ่มเติมอีก 3 ประการ ดังนี้
หนึ่ง ผลงานวิจัยและพัฒนาจากการลงทุนของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจในระดับสูงถึงสูงมาก โดยไม่มีโครงการวิจัยใดมีมูลค่าผลได้ต่ำกว่า 3 เท่าของเงินลงทุน
สอง การประเมินความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจนี้ เป็นการประเมินค่าขั้นต่ำ เนื่องจากผลลัพธ์จากโครงการวิจัยบางประการไม่สามารถประเมินค่าได้ เช่น ผลทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะมีข้อจำกัดด้านข้อมูลและเวลาสำหรับการวิเคราะห์ผล ดังนั้น ผลได้ของประเทศจะมีค่าสูงกว่าที่ได้ประเมินไว้อีกมาก หากมีการขยายผลงานวิจัยไปสู่สาธารณะและภาคเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
สาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนวิจัยและพัฒนาสะสมอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดผลได้สูงมากในระดับหลายพันล้านถึงหลายหมื่นล้านบาท แม้ว่าในระยะแรกของการลงทุนวิจัยและพัฒนา อาจจะมีต้นทุนและผลตอบแทนต่ำอยู่ในระยะหนึ่ง แต่เมื่อโครงการวิจัยเริ่มสร้างผลผลิตแล้ว ผลได้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแผ่ไพศาล เช่น โครงการปรับปรุงพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการหยุดสนับสนุน หรือการสนับสนุนอย่างไม่เป็นระบบ จะทำให้เกิดความสูญเปล่า และมีต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงมาก
เห็นศักยภาพด้านวิจัยเกษตรกันอย่างนี้แล้ว ก็อยากให้เกษตรกรไปศึกษาหาช่องทางลงทุน คราวหน้าเราลองมาศึกษาโอกาสที่ R & D สร้างขึ้นให้กับประเทศ และโอกาสทางธุรกิจนอกภาคเกษตรบ้าง